ศูนย์ข่าวขอนแก่น-“ประเพณีลงแขก”กำลังจะกลายเป็นตำนาน เมื่อวิถีชีวิตชาวนาอีสานเปลี่ยนไปในอดีตถึงฤดูกาลเก็บ เกี่ยว ชาวนาจะหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนช่วยกันเกี่ยวข้าว โดยไม่มีค่าจ้าง แต่ปัจจุบันลูกหลานหนีเข้าโรงงาน-เป็นลูกจ้างเถ้าแก่ ทำให้แรงงานในนาขาดแคลนอย่างหนัก หลายครอบครัวต้องพึ่งเครื่องจักรช่วยแม้ต้องใช้ทุนสูงก็ต้องยอม .ในขณะที่ภาครัฐหลายหน่วยงานฉวย โอกาสได้เป็นข่าวผ่านสื่อจัดโครงการลงแขกช่วยชาวบ้านเกี่ยวข้าวหวังแค่สร้างภาพตามฤดูกาล
เมื่อถึงช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว หน่วยงานราชการหลายพื้นที่ในหลายจังหวัด แม้แต่ หน่วยงานตำรวจเอง กระพือข่าวจัดกิจกรรมลงแขกเกี่ยวข้าวโดยให้เหตุผลว่าต้องการร่วมสืบประเพณีไทยดั้งเดิมของไทยให้คนรุ่นใหม่ในสังคมได้เห็นภาพวิถีชีวิตชาวนาในอดีตที่มีความรัก ความผูกพันและช่วยเหลือซึ่งกันและกันไม่มีเงินค่าจ้างเข้ามาเกี่ยวข้องจากประเพณีนี้ และยังเป็นการกระตุ้นให้เกษตรกรหันมาร่วมฟื้นฟูประเพณีลงแขกไม่ให้สูญหายไปจากสังคมไทยยุค Digital
นางประยูร ทองจันทร์ เกษตรกรชาวนาบ้านม่วง ตำบลบ้านทุ่ม อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น กล่าวยืนยันว่าปัจจุบันเกษตรกรเจ้าของนาข้าวต้องใช้เงินจำนวนไม่น้อยเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายค่าจ้างแรงงานในการเก็บเกี่ยว หากไม่มีเงินทุนมากพอต้องอาศัยแรงงานในครัวเรือนเท่าที่มีอยู่ลงนาเกี่ยวข้าว ตีข้าวเองและนั่นหมายความว่าต้องใช้เวลานานหลายวันกว่าจะเก็บเกี่ยวเสร็จ หากทำไม่ทันก็เสี่ยงสูงมากที่ต้องสูญเสียข้าวที่แก่งอมจนร่วงจากรวง
นางประยูรเล่าย้อนไปกว่า 20 ปีสมัยรุ่นพ่อรุ่นแม่ เมื่อถึงช่วงฤดูเก็บเกี่ยว เพื่อนบ้านชาวนาด้วยกันจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเกี่ยวข้าวช่วยเหลือเกื้อกูลกันจนแล้วเสร็จทุกครัวเรือน โดยไม่มีค่าจ้าง อย่างมากเจ้าของที่นาก็นึ่งข้าว ทำอาหารมื้อกลางวันเลี้ยงดูเป็นการตอบแทนน้ำใจ การลงแขกเกี่ยวข้าวถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่สะท้อนให้เห็นความมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของสังคมชนบท ทั้งยังเป็นกุศโลบายของบรรพบุรุษเพื่อสร้างความรัก ความสามัคคีในชุมชนอีกด้วย
แต่สภาพสังคมปัจจุบันที่เปลี่ยนไป คนหนุ่มสาววัยแรงงานในหมู่บ้านส่วนใหญ่ไม่อยู่บ้านไปทำงานโรงงานกันเกือบหมด ส่วนลูกหลานที่พอเหลืออยู่ก็เข้าเป็นพนักงานตามบริษัทห้างร้านในเมือง จะลาก็ยาก ลานานหลายวันนายจ้างก็จะไล่ออก จะเหลือแต่พ่อแม่ อายุก็มากแล้วทำนาเกี่ยวข้าวเพียงลำพัง ลูกหลานก็จะส่งเงินให้จ้างแรงงานช่วยเกี่ยวข้าวแทน แต่ก็ไม่ได้หากันง่ายๆ บางปีต้องรอคิวจ้างกันนานเป็นสัปดาห์ ค่าแรงก็สูงไม่ต่ำกว่า 200-250 บาทต่อคนต่อวัน
“ฉันอยากจะให้เป็นสมัยก่อนที่เพื่อนบ้านช่วยกันลงแขกทำนาเกี่ยวข้าว นาคนนั้นเสร็จ คนในบ้านก็ไปช่วยลงแขกของเพื่อนบ้านอีกคนหนึ่ง ผลัดเปลี่ยนช่วยเหลือกันไปโดยไม่ต้องใช้เงินจ้าง ข้าวปลาอาหารเราก็พร้อมจะเลี้ยงสู่กันกินอยู่แล้ว อย่างสมัยนี้ไม่ไหว คนเกี่ยวข้าวก็หายาก ค่าจ้างก็แพง ทุกอย่างเป็นเงินเป็นทองไปหมด บางบ้านแบ่งข้าวขายแล้ว เหลือเงินใช้หรือใช้หนี้ไม่กี่พันบาท”นางประยูรบอก
เช่นเดียวกับบุญเลิศ โสสิงหา เกษตรกรชาวนาบ้านดอนยาง ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น เกษตรกรอีกรายที่ยอมรับว่าทุกวันนี้เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว ชาวนาต้องเตรียมเงินก้อนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายสูงขึ้น เพราะต้องยอมจ่ายทั้งค่ารถเกี่ยวข้าว และจ้างแรงงานคนเพื่อให้เก็บเกี่ยวได้เร็ว แม้จะอยากให้ภาครัฐฟื้นฟูประเพณีลงแขกเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายของชาวนาและสืบทอดประเพณีของรุ่นพ่อรุ่นแม่
อย่างไรก็ตามตนมองว่าเป็นเรื่องยากที่จะทำได้จริง เนื่องจากทุกวันนี้ ชาวนาอีสานไม่ได้ทำนาปีละครั้งเหมือนอดีต การทำนาปลูกข้าว กลายเป็นการค้าไปแล้ว ทำนาเพื่อให้ได้ขายข้าว ทำนาแต่ละครั้งใช้เงินลงทุนไม่น้อย ผิดกับแต่ก่อนแทบไม่มีต้นทุน นอกจากลงแรงกันเองในครอบครัว
อีกทั้งวิถีชีวิตครอบครัวสมัยใหม่ คนหนุ่มคนสาวลูกหลานในบ้านเมื่อเรียนสูงขึ้น จะเลือกทำงานที่ตนชอบ คนที่สนใจทำนาเป็นอาชีพหลักเหมือนพ่อแม่หาได้น้อย แม้จะมีที่นาที่พ่อแม่แบ่งให้เป็นมรดกหวังลูกหลานสืบทอดต่อก็ตาม
ชาวนาหลายครอบครัวได้สะท้อนมุมมองว่า หากหน่วยงานของรัฐ จัดกิจกรรมลงแขกเกี่ยวข้าวเพียงเพื่อให้เป็นข่าวผ่านสื่อ โดยไม่ได้มุ่งปลูกฝังเยาวชนคนรุ่นใหม่และกระตุ้นคนในสังคมให้เห็นความจำเป็นของการลงแขกเกี่ยวข้าวโดยไม่มีค่าตอบแทน ก็คงเป็นแค่การสร้างภาพตามฤดูกาลในแต่ละปี
ในขณะที่อาชีพเกษตรกรรมทำนาอันเป็นรากฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญของชาติได้รับความสนใจ ลดความสำคัญเชิงคุณค่าลงเรื่อยๆ ความหวังที่จะรักษาอาชีพทำนาเป็นมูลมังหรือมรดก ให้ลูกหลานสืบทอดต่อก็ลดน้อยลงเช่นกัน และในอนาคตข้างหน้าอาจจะสูญสิ้นตามไป ไม่ต่างกับคุณค่าและความงดงามของประเพณีลงแขกทำนาเกี่ยวข้าวที่เป็นอยู่ทุกวันนี้