เลย - ผู้ประกอบการค้ารายย่อยจังหวัดเลย โวยสรรพากรโหดเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง บางรายต้องขายที่ดินหาเงินชำระ เดินหน้าเรียกร้องความเป็นธรรม ระดมพลผู้ค้าทั่วทั้งจังหวัดขอให้กรรมสรรพากรชี้แจงข้อเท็จจริง และเห็นใจคนทำมาค้าขาย ด้านสรรพากรพื้นที่ปัดความรับผิดชอบ โยนให้เป็นเรื่องของกรมฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่หอประชุมสมาคมพ่อค้าจังหวัดเลย นายภู่ ธัญญวรรณ นายกสมาคมพ่อค้า เป็นประธานการประชุม และหารือเรื่องด่วน จากสมาชิก ในประเด็นบทบาทของหอการค้า กับ ปัญหาสมาชิกโดนรีดภาษีจากสรรพากร โดยมีสมาชิกทั้งหอการค้า สมาคมพ่อค้าและสมาชิกสภาอุตสาหกรรม เข้าร่วมประชุมประมาณ 30 คน บรรยากาศการหารือค่อนข้างเครียด โดยใช้เวลานานร่วม 2 ชั่วโมง ในที่ประชุมมีมติจะเดินทางไปเจรจากับสรรพากรเลย
นายยุทธพล เจียระพงษ์ ประธานชมรมผู้ประกอบการรายย่อยจังหวัดเลย กล่าวว่า ตนเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการที่สรรพกรพื้นที่เลยเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง ที่ผ่านมาตนเป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่เสียภาษีอย่างถูกต้องมาโดยตลอด แต่ในต้นปี 2552 ห้างหุ้นส่วนจำกัดที่ตนเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการถูกสรรพากรเรียกตรวจภาษีและถูกปรับเป็นเงิน 1.5 ล้านบาท ในขณะนั้นตนไม่สามารถชำระเงินได้ ก็ถูกกระบวนการของสรรพากรยึดและอายัดทรัพย์ที่เป็นชื่อของตนทั้งหมด รวมทั้งอายัดสัญญาที่ได้เซ็นไว้แล้วจนไม่สามารถทำอะไรได้
ตนจึงตัดสินใจขายที่ดินหลายแปลงเพื่อนำเงินมาชำระจนหมด จึงทำให้เข้าใจหัวอกของคนที่ถูกเรียกเก็บภาษีเป็นอย่างดีว่าช้ำใจและเดือดร้อนเพียงใดที่ถูกปฏิบัติเช่นนี้
นายยุทธพลระบุว่า หลังจากที่ตนมีปัญหาเรื่องภาษี ก็บังเอิญไปปรับทุกข์กับพรรคพวกหลายคน ปรากฏว่าแทบทุกคนโดนสรรพากรจังหวัดเลยปรับย้อนหลัง 400,000 บาทบ้าง 200,000 บาทบ้าง โดยสรรพากรใช้วิธีคำนวณยอดภาษีให้สูงกว่าเป้าหมายที่ต้องการจัดเก็บเท่าตัวแล้วให้ต่อรอง เช่น ตั้งเป้าจะเก็บ 400,000 บาท ก็คำนวณยอดภาษีเรียกเก็บ 800,000 บาท เป็นต้น เป็นอย่างนี้แทบทุกคน พฤติกรรมเช่นนี้จะเรียกว่ามี ธรรมาภิบาลตรงไหนอย่างนี้เรียกตามอำเภอใจภิบาลมากกว่า
นายยุทธพลกล่าวอีกว่า จากข้อมูลการเก็บภาษีของจังหวัดเลยย้อนหลัง เมื่อปี 2542-2543 หากทุกคนจำได้ตอนนั้นล้มกันทั้งประเทศ ไฟแนนซ์และธนาคารถูกปิดรวม 56 แห่ง สรรพากรพื้นที่เลยเก็บภาษีติดลบร่วม ร้อยละ 30 จากยอดจัดเก็บ 200 กว่าล้านบาทเหลือประมาณ 180 ล้านบาท จึงสะท้อนภาพของเศรษฐกิจช่วงนั้น หลังปี 2544 ยอดจัดเก็บทยอยเพิ่ม และมาสะดุดหยุดอีกครั้งตอนน้ำท่วมจังหวัดเลยครั้งใหญ่
ตอนนั้นทั่วองค์กรในจังหวัดเลยรวมตัวกันเรียกร้อง ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ตนเป็นเลขาธิการหอการค้าจังหวัดเลยอยู่ในขณะนั้นเรียกว่าอยู่ในเหตุการณ์ด้วย เมื่อขยับเข้ามาหลังปี 2543 ภาษีได้ขยับขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึงปี 2548 ยอดภาษี 200 กว่าล้าน
หลังจากนั้น น.ส.สมโรจน์ สรรพากรจังหวัดเลยคนปัจจุบันเข้ามารับตำแหน่งปี 2547 การจัดเก็บภาษีเริ่มพุ่งขึ้นถ้าเป็นเส้นกราฟเกือบตั้งฉาก เก็บทะลุเป้าจัดเก็บทุกครั้ง ได้รางวัลจัดเก็บภาษีดีเด่นบนความทุกข์ของคนจังหวัดเลย นับจากวันที่ น.ส.สมโรจน์ รับตำแหน่งยอดจัดเก็บภาษีเพิ่มจากปี 2548 จนถึง ปี 2552 เพิ่มถึงร้อยละ 46 เป็นยอดเงินกว่า 500 ล้านบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมองภาพรวมตั้งแต่ปี 2544 ซึ่งจัดเก็บประมาณ 200 ล้านบาท ในปี 2552 เพิ่มเป็นกว่า 500 ล้านบาทเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ100
“คนจังหวัดเลยไม่ได้โง่ เพียงแต่ไม่รู้ ทั้งที่ในปี 2550 เกิดวิกฤตซับไพรม์ล้มทั้งโลกเริ่มจากอเมริกา ยุโรป ลามไปทั่ว เขายกเลิกงดเว้นการจัดเก็บภาษีบางประเภท แถมยังเอาเงินมาช่วยอุดหนุนด้วยแต่คนจังหวัดเลยกลับต้องเสียภาษี”
ดังนั้น ตนจะเชิญชวนผู้ประกอบการค้าทั้ง 14 อำเภอ รวมตัวกันต่อสู้เรียกร้องในนาม “ชมรมผู้ประกอบการค้าจังหวัดเลย” เป็นศูนย์กลางในการต่อสู้กับการจัดเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรมซึ่งจะเป็นภารกิจหลักของชมรม จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางเจรจาและให้ความรู้เรื่องภาษี ตอนนี้ได้เริ่มงานบางส่วนไปแล้ว
ด้านนายสมศักดิ์ ขจรเฉลิมศักดิ์ ประธานหอการค้าจังหวัดเลย มีความเห็นสอดคล้องกับนายยุทธพล และเสนอขอปรับลดยอดจัดเก็บภาษีปี 2553 ให้ลดลงร้อยละ 25
ขณะที่ น.ส.สมโรจน์ ตันตระกูล สรรพากรพื้นที่เลยชี้แจงว่า เหตุที่ต้องเก็บภาษีย้อนหลังเพราะ ได้ตรวจสอบบัญชีพบว่าที่ผ่านมา ผู้ประกอบการธุรกิจที่มีรายได้จากหน่วยงานราชการยังไม่ชำระภาษีตามกฎหมายจำนวนมาก ส่วนการออกมาประท้วงของกลุ่มพ่อค้าจังหวัดเลยนั้น น่าเป็นเรื่องเข้าใจผิดถึงวิธีการเก็บภาษีของสรรพากรพื้นที่เลย ซึ่งตนได้เชิญตัวแทนผู้ประกอบการเข้าชี้แจงทำความเข้าใจแล้ว ผู้ประกอบการจะรวมตัวเรียกร้องขอจ่ายภาษีลดลงร้อยละ 25 ไปยังกรมสรรพากร ก็เป็นสิทธิที่ทำได้ ส่วนผลจะเป็นอย่างไรนั้นอีกเรื่องหนึ่ง
สำหรับกรณีข้อมูลตัวเลขการเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นในช่วง 2 ปีล่าสุด เกิดจากสภาพเศรษฐกิจของจังหวัดเลยเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งจากธุรกิจเหมืองแร่ การส่งออกไป สปป.ลาว หลังจากเปิดสะพานน้ำเหือง และภาคการเกษตรจากยางพารา รายได้จากการภาษีที่เพิ่มจึงเป็นไปตามปกติ