ลำปาง - ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยจัดโครงการบ้านพักช้างชราปางหละ เทิดพระเกียรติเหลืองฟ้ามหามงคล นำช้างแก่ชราเข้าพักเพื่อเป็นบ้านหลังสุดท้ายของช้าง
วันนี้(21 พย.52) นางมณทิพย์ ศรีรัตนา ทาบูกานอน หัวหน้าผู้ตรวจราชการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เป็นประธานในการเปิดงาน “บ้านพักช้างชราปางหละ” เทิดพระเกียรติเหลืองฟ้ามหามงคล เป็นหนึ่งในโครงการเหลืองฟ้ามหามงคล เทิดพระเกียรติจากวันแม่-วันพ่อ เพื่อระลึกในพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตามพระราชดำริในการบริบาลช้างและอนุรักษ์ช้างไทยให้ยั่งยืน ณ ศูนย์บริบาลช้างบ้านปางหละ อ.งาว จ.ลำปาง โดยมีนายศุภกิจ บุญญฤทธิพงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางกล่าวต้อนรับ
สำหรับกิจกรรมในวันนี้ ได้มีการทำพิธีทางศาสนานิมนต์พระสงฆ์ 9 รูป เจริญพระพุทธมนต์ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดพิธีฮ้องขวัญช้างป่วย ช้างชรา พิการ เพื่อความเป็นสิริมงคล และสืบชะตา จำนวน 27 เชือก ตรวจสุขภาพช้าง และรักษาพยาบาลช้างป่วย โดยนายสัตวแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทาง ไม่คิดค่าใช้จ่าย ปลูกพืชอาหารช้างและพัฒนาแหล่งอาหารช้างในพื้นที่ศูนย์บริบาลช้าง บ้านปางหละ อ.งาว จ.ลำปาง รวมถึงการจัดนิทรรศการแนะนำ ศูนย์บริบาลช้างบ้านปางหละ จัดกิจกรรมค่ายเยาวชนเรียนรู้เรื่องราวของช้าง ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ปลูกจิตสำนึกเพื่อร่วมกันในอนุรักษ์ช้างไทยให้ยั่งยืน
และในวันนี้ได้นำช้าง สีดอวาสนา ช้างเพศผู้ อายุ 51 ปี ช้างจากจังหวัดกาญจนบุรี ที่เอกชนได้มอบให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เมื่อประมาณ 20 ปีก่อน นิสัยดี ไม่ดุร้าย ปฏิบัติงานด้านการให้บริการนั่งช้างชมธรรมชาติ ภายในศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย และไปร่วมงานขบวนแห่ต่างๆ
ซึ่งปัจจุบันสีดอวาสนาอายุมากเป็นช้างชรา และตาข้างขวาบอดสนิท องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้จึงปลดชราสีดอวาสนา และนำเข้ามาอยู่ในศูนย์บริบาลแห่งนี้ในวันนี้ด้วย โดยมีควาญช้างผู้ดูแล คือนายโกเมศ ก้อใจ
สำหรับศูนย์บริบาลช้าง บ้านปางหละ อ.งาว จ.ลำปาง แห่งนี้เป็นหน่วยงานในสังกัดของสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ จ.ลำปาง โดยมีฝ่ายโรงพยาบาลช้างศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย อ.อ.ป. เป็นผู้รับผิดชอบดูแลการรักษาพยาบาลช้างป่วย ช้างพิการ ช้างดุร้าย และช้างบริจาค ที่ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติเ ซึ่งถ้าหากไม่เลี้ยงดู หรือรักษา ช้างเหล่านี้ที่มีจำนวนมากทั่วประเทศก็จะล้ม(ตาย)ไป สถานที่แห่งนี้จึงเปรียบเสมือนบ้านหลังสุดท้ายของช้างไทย ปัจจุบันมีช้างที่อยู่ในการดูแลจำนวน 28 เชือก