xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ นำชาวตากถวายสดุดี“พระบิดาแห่งฝนหลวง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตาก – พ่อเมืองตากนำพ่อค้า ประชาชนร่วมพิธีถวายสดุดีในหลวง เนื่องในวันพระบิดาแห่งฝนหลวง

วันนี้(14 พ.ย.)นายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เป็นประธานจัดงานถวายราชสดุดีเนื่องใน วัน“พระบิดาแห่งฝนหลวง” ที่บริเวณอาคารกิตติคุณ เทศบาลเมืองตาก อ.เมือง จ.ตาก โดยมีข้าราชการ-พนักงานรัฐวิสาหกิจ-พนักงานของรัฐ-นักธุรกิจ พ่อค้าประชาชน ทุกหมู่เหล่าในจังหวัดตาก เข้าร่วมงานหลายร้อยคน และร่วมพิธีอย่างพร้อมเพรียง

นายสามารถ กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2545 เห็นชอบการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะทรงเป็น “พระบิดาแห่งฝนหลวง” และกำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็น “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสแสดงความจงรักภักดีและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงก่อให้เกิด “เทคโนโลยีฝนหลวง” ในการบรรเทาความทุกข์ยากแก่มวลพสกนิกรให้รอดพ้นความเดือดร้อนและความเสียหายเนื่องจากภัยแล้ง

ในปีนี้เป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมพรรษาครบ 82 พรรษา และเพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงก่อให้เกิดโครงการพระราชดำริฝนหลวงขึ้นมาเพื่อบรรเทาความทุกข์ยากแก่มวลพสกนิกร ให้รอดพ้นจากความแห้งแล้งอย่างสัมฤทธิ์ผล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงกำหนดจัดพิธีถวายราชสดุดี เนื่องในวัน “พระบิดาแห่งฝนหลวง” ในวันนี้ โดยมีการจัดพร้อมกับทุกจังหวัดทั่วประเทศ

ทั้งนี้สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดตาก ยังได้ขออัญเชิญกระแสพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ผู้แทนสมาคมอุตสาหกรรมทอกระสอบไทย สมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ สมาคมพ่อค้าข้าวโพดและพืชพันธุ์ไทย รวมทั้งเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ ณ พระตำหนักจิตรดารโหฐาน เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2517 มาตอนหนึ่งว่า “การทำฝนหลวงไม่ใช่สิ่งง่าย จะต้องมีเครื่องอุปกรณ์ วัสดุ และเจ้าหน้าที่ งานที่ทำนี้ก็ต้องสิ้นเปลืองไม่ใช่น้อย แต่ผลที่ได้ก็คือ จะเป็นที่น่าพอใจ การทำฝนหลวงนี้เป็นสิ่งที่ลำบากหลายๆประการ ทางด้านเทคนิค และในด้านจังหวะที่จะทำ เพราะถ้าพูดถึงด้านเทคนิค ฝนที่ทำนี้จะพลิกฤดูกาลไม่ได้ ไม่ใช่เวลาฝนแล้งจะบันดาลอย่างปาฏิหาริย์ ให้มีฝนพอเพียงกับการเพาะปลูกมิได้ หรือจะแทนการชลประทานที่ขุดเรียบร้อยกว้างขวางก็ไม่ได้ แต่เป็นทางหนึ่งที่มีหวังสำหรับฤดูกาลที่ควรจะมีฝน และฝนเทียมจะช่วยให้ประคองพืชผลไม่ให้สิ้นไปพอได้....การที่ทำฝนนี้เป็นสิ่งใหม่ จึงต้องทำโครงการอย่างระมัดระวัง เพราะสิ้นเปลือง ถ้าทำแล้วไม่ได้ผลจะสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ”

ขณะเดียวกันจังหวัดตาก ได้มีการเปิดฐานเติมสารฝนหลวงที่ท่าอากาศตาก โดยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงที่ 1 (ภาคเหนือตอนบน) จังหวัดเชียงใหม่ ได้ปฏิบัติมาตั้งแต่ ปี 2549 เป็นต้นมา

กำลังโหลดความคิดเห็น