ศูนย์ข่าวศรีราชา - กรรมาธิการการปกครอง สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหาที่ดินเกาะล้าน เมืองพัทยา หลังชาวบ้านนับสิบรายร้องเรียนว่า มีการครอบครองที่ดินถูกต้อง แต่ไม่ได้รับความชอบธรรมในการขอออกเอกสารสิทธิ
วันนี้ (6 พ.ย.) ที่ทำการอำเภอบางละมุง จ.ชลบุรี นายภุชงค์ รุ่งโรจน์ ประธานคณะกรรมาธิการการปกครอง สภาผู้แทนราษฎร นำคณะกรรมการธิการ พร้อมด้วยสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่จังหวัดชลบุรี เดินทางเข้าร่วมประชุมเพื่อตรวจสอบปัญหาเกี่ยวกับที่ดินบนพื้นที่เกาะล้าน ม.7 ต.นาเกลือ จ.ชลบุรี หลังได้รับการร้องเรียนจากประชาชน ที่อาศัยอยู่บนพื้นที่ดังกล่าวจำนวนหลายสิบรายว่าไม่ ได้รับความชอบธรรมจากกรณีการขอออกเอกสารสิทธิครอบครองที่ดินบนเกาะ ทั้งๆที่มีการครอบครองทำกินมาอย่างถูกต้อง โดยการประชุมครั้งนี้มีนายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี อำเภอบางละมุง เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด ตัวแทนจากเมืองพัทยา และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นายภุชงค์กล่าวว่า ที่ผ่านมามีประชาชนจำนวน 53 ราย ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการว่าเข้าจับจองพื้นที่ทำกินบนเกาะล้านมานานหลายสิบปี ก่อนประมวลกฎหมายที่ดินบังคับใช้ในปี 2497 แต่ปรากฏว่า ต่อมาเมื่อภายหลังได้มายื่นแจ้งการครอบครอง พร้อมแสดงความจำนงในการขอออกเอกสารสิทธิ น.ส.3 ตามประกาศของกฎหมายในปี 2534 แต่ก็ไม่ได้รับการดำเนินการ
จนกระทั่งปี 2537 จึงมีการออกประกาศกฎกระทรวงห้ามออกเอกสารสิทธิครอบครองบนพื้นที่เกาะ จึงทำให้การดำเนินการดังกล่าวระงับไป นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องของการทับซ้อนที่ดินกับเมืองพัทยา และความไม่แน่ชัดในการครอบครองที่ดิน และการทำกินของชาวบ้านซึ่งยากต่อการตรวจสอบ จึงทำให้ปัญหาบานปลาย ด้วยเหตุนี้ทางคณะกรรมาธิการจึงได้ลงพื้นที่เข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว
นายวิเชียร ตั้งธรรมสถติย์ ตัวแทนกลุ่มผู้ร้อง กล่าวว่า ในส่วนของผู้ร้องนั้นยืนยันว่าเข้ามาจับจองพื้นที่ทำกินก่อนประมวลกฎหมายที่ดินในปี พ.ศ.2497 ซึ่งขณะนั้นได้มีการกำหนดให้ผู้ครอบครองมาแจ้งต่อทางราชการเพื่อขอออกเอกสารสิทธิครอบครอง หรือ สค.1 แต่ปรากฏว่าหลังจากแจ้งให้ทางอำเภอบางละมุงทราบ ก็ได้รับแจ้งว่าไม่สามารถดำเนินการได้โดยแจ้งว่าที่ดินเป็นพื้นที่เกาะ จึงไม่สามารถออกเอกสารได้ ต่อมาในปี 2515 ก็ได้แจ้งให้มายื่นขอเอกสาร น.ส.3
ในปี 2534 แจ้งให้มีการครอบครอง ซึ่งชาวบ้านก็ได้มาดำเนินการตามเพื่อยื่นความจำนงขอออกเอกสาร แต่ปรากฏว่าก็ยังไม่ดำเนินการให้ จนกระทั่งในปี 2537 จึงมีการประกาศกฎกระทรวงมหาดไทย ที่ห้ามออกโฉนดบนเกาะจึงทำให้ชาวบ้านที่ยื่นขอไปถูกระ งับ โดยแจ้งว่าไม่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนด โดยเฉพาะกรณีของเอกสารครอบครอง สค.1 ซึ่งความเป็นจริงแล้วชาวบ้านได้การครอบครองที่ดินมาก่อนประมวลกฎหมายที่ดิน แต่ทางราชการเองไม่ออกเอกสารให้ จึงทำให้ไม่ได้รับสิทธิ์ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง
ที่สำคัญก่อนหน้านี้ศาลปกครองได้เคยมีคำสั่งให้สำนักงานที่ดินออกเอกสารสิทธิครอบครองที่ดินได้แก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ที่ทำกินในที่ดินมาก่อนประมวลกฎหมายที่ดินจะประกาศใช้ในปี 2497 จึงสามารถนำมาใช้ได้ในพื้นที่เกาะล้าน แม้ว่าจะมีประกาศกฎกระทรวงในปี 2537 ก็ตาม
นอกจากนี้ ที่ผ่านมายังมีชาวบ้านที่ได้โฉนดไปแล้ว 3 ราย ก็ยังถูกเมืองพัทยาและคณะกรรมการพิจารณาที่ดินจังหวัดชลบุรี สั่งให้เพิกถอน โดยชี้ว่าไม่มีการครอบครองทำกินต่อเนื่อง และไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้ว่าครอบครองมาก่อน ขณะที่อีก 14 รายใน 53 รายนั้น เมืองพัทยาก็ออกคำ สั่งคัดค้านการขอออกเอกสารสิทธิครอบครอง โดยระบุว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อนกับที่ดินสาธารณะประโยชน์ของเมืองพัทยาด้วย
ขณะที่ตัวแทนจากเมืองพัทยาระบุว่า สำหรับพื้นที่ของเกาะล้านนั้นข้อเท็จจริงแล้ว เมืองพัทยาไม่ ได้คัดค้านในการขอออกเอกสารสิทธิ์ในการครอบครองที่ดินของประชาชนแต่อย่างใด เพราะหากประชาชน มีหลักฐานการครอบครองถูกต้องและครบคุณสมบัติตามกฎหมาย ก็สามารถยืนความจำนงต่อสำนักงานที่ดินและจังหวัดชลบุรี เพื่อขอออกเอกสารสิทธิได้
อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่เกิดปัญหาจำนวน 53 รายนั้น ที่จริงแล้วจะมีปัญหาอยู่เพียง 3 รายคือร้องให้เพิกถอนโฉนด เนื่องจากเหตุผล 3 ประการ คือ 1.เป็นการออกเอกสารทับที่สาธารณะประโยชน์ของเมืองพัทยา 2.เป็นพื้นที่ภูเขาที่ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิได้ และ 3.ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า เข้ามาครอบครองทำกินอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อนประมวลกฎหมายที่ดิน นอกจากนี้ยังมีอีกจำนวน 14 รายที่เมืองพัทยาได้คัดค้านการออกเอกสาร เนื่องจากเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในพื้นที่จัดหาประโยชน์ของเมืองพัทยา ที่ได้รับโอนมาจาก อบจ.ชลบุรี จำนวน 320 ไร่ บริเวณหาดแสม ซึ่งขณะนี้กำลังฟ้องร้องต่อศาล โดยในจำนวนนี้มีอยู่ 7 รายที่ศาลตัดสินไปแล้วให้เมืองพัทยาเป็นผู้ชนะคดี ขณะที่แปลงอื่นๆ นั้นก็สามารถใช้สิทธิ์ในการขอออกโฉนดได้ตามปกติ
ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีการเปิดโอกาสให้คณะกรรมาธิการได้ร่วมซักถาม โดยประเด็นสำคัญอยู่ที่คำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี ที่สั่งการให้สำนักงานที่ดินอำเภอบางละมุง ชะลอการออกเอกสารสิทธิ์ให้กับประชาชนทั้งหมด เนื่องจากให้รอการพิจารณาของศาลเกี่ยวกับข้อพิพาทในที่ดินจำนวน 3 แปลง ที่มีการร้องให้ทำการเพิกถอนซึ่งถือว่าไม่ถูกต้อง จึงเตรียมเสนอให้มีการดำเนินการไปอย่างต่อเนื่องในส่วนของที่ดินที่ไม่ติดปัญหาการทับซ้อน ขณะที่แปลงที่เกิดปัญหานั้นก็ให้เป็นเรื่องของศาลในการพิจารณาตัดสินต่อไป จากนั้นคณะกรรมาธิการจึงลงพื้นที่เกาะล้าน เพื่อสำรวจสภาพที่ดินก่อนจะเดินทางกลับ