ศูนย์ข่าวศรีราชา - ผู้ประกอบการเลี้ยงหอยแครงและหอยแมลงภู่ ในเขต อ.เมือง ชลบุรี ประสบภาวะสิ้นเนื้อประดาตัว หลังหอยตายเรียบกว่า 4,000 ไร่ สร้างความเสียหายกว่า 1,000 ล้าน พร้อมนำหอยตายมาเทกองบนถนน รอผู้ว่าฯ ช่วยเหลือโดยด่วน
วันนี้ (1 พ.ย.) ที่บริเวณสะพานตัดใหม่ถนนเลียบชายทะเล หน้าปากซอยไกรเกรียงยุค ต.มะขามหย่ง อ.เมือง จ.ชลบุรี นางมะลิ ดวงชื่น แกนนำชาวประมงพื้นบ้านผู้เลี้ยงหอยหอยแครงและหอยแมลงภู่ ในทะเลอำเภอเมืองชลบุรี 8 ตำบล ประกอบด้วย ต.แสนสุข, อ่างศิลา, บ้านสวน, มะขามหย่ง, บ้านโขด, บางทราย, หนองไม้แดง และคลองตำหรุ กว่า 300 ราย ได้ส่งตัวแทน 80 ราย นำหอยแครงและแมลงภู่ ที่ตายแล้ว เหลือแต่เปลือกเก็บมาจากทะเลอ่าวไทยชลบุรี นำมาวางกองบนถนนฝั่งขาเข้า กทม.เพื่อเรียกร้องขอให้ นายเสนีย์ จิตตเกษม ผวจ.ชลบุรี เห็นถึงความเดือดร้อน และเข้าไปตรวจสอบเพื่อแก้ไขโดยด่วน เนื่องจากผู้เลี้ยงหอยสิ้นเนื้อประดาตัวกันทั้งหมด
สาเหตุเนื่องจากในช่วง 5 วันที่ผ่านมา หอยแมลงภู่และหอยแครง ที่เลี้ยงปักไม้ไผ่ ระยะ 3 ไมล์ทะเลจากฝั่ง เพื่อจำหน่ายของชาวประมงพื้นบ้านกว่า 300 ราย ใน 8 ตำบล มีเนื้อที่รวมทั้งสิ้นกว่า 4,000ไร่ทะเล ซึ่งมีอายุ 1 ปี เหลืออีกแค่ 2 เดือนก็จะจับขายกันแล้ว แต่กลับมาตายเรียบ สร้างความเสียหายรวมกันกว่า 1,000 ล้านบาท เนื่องจากในน้ำทะเล อาจมีสารปนเปื้อนที่ถูกกลุ่มผู้ประกอบการโรงงานต่างๆ แอบปล่อยลงสู่ทะเล ทำให้หอยตายเป็นจำนวนมากในครั้งนี้ โดยทุกคนยังปักหลัก รอจนกว่า นายเสนีย์ จิตตเกษม ผวจ.ชลบุรี จะเดินทางมาพบเพื่อรับฟังและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าว จนเป็นที่น่าพอใจซะก่อน จึงจะสลาย
ด้าน นายสำเภา วงศ์บุปผา ผู้นำชุมชนไกรเกรียงยุค ผู้เลี้ยงหอย กล่าวว่า ตนคิดว่าน้ำเสียที่ทำให้หอยตาย ถูกปล่อยมาจากโรงงานในแถบ แสมขาว คลองขุด คลองด่าน บางปู จ.สมุทรปราการ และ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา โดยมีสารปนเปื้อน หรือน้ำเสียลงสู่ทะเลอ่าวไทย ไหลลงมาทะเลชลบุรี จึงอยากจะขอร้องให้กรมโรงงานหรือส่วนที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบ ป้องกันไม่ให้ปล่อยน้ำเสียลงมาอีก นอกจากชาวประมงพื้นบ้านจะได้รับความเดือดร้อนในขณะนี้ และอาจจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างเมืองพัทยา และชายหาดบางแสนในอนาคตอีกด้วย