ศูนย์ข่าวศรีราชา - ปรากฏการณ์ปลาน็อกน้ำที่ทะเลชลบุรี ส่งผลกระทบทำให้ผู้เลี้ยงหอยใน 5 ตำบล ได้รับความเสียหายรวมกว่า 50 ล้านบาท วอนผู้เกี่ยวข้องยื่นมือช่วยเหลือ
หลังจากที่ชายหาดทะเลอ่าวไทย ตั้งแต่ชายหาดบางแสนไปจนถึงชายหาดวอนนภา หาดกัปตันยุทธ แถบทะเลตำบลบางพระ เรื่อยไปจนถึงทะเลศรีราชารวมกว่า 15 กม.สัตว์ทะเลปลาปูได้เกิดอาการน็อกน้ำ ลอยตายเป็นจำนวนมากหลายระลอก จนชาวบ้านแห่มาเก็บไปรับประทานและจำหน่ายกันอย่างคึกคักตามที่ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุด วันนี้ (30 ต.ค.) พบว่า ทะเลในแถบ 5 ตำบลของอำเภอเมืองชลบุรี เกิดผลกระทบอย่างมากมาย เมื่อผู้เลี้ยงและจำหน่ายหอยแมลงภู่ และหอยแครง ที่เลี้ยงหอยตามหลักไม้ไผ่ปลักหอยรวมกว่า 4,000 ไร่ในทะเล กินพื้นที่ตำบลอ่างศิลา, บ้านสวน, มะขามหย่ง, บ้านโขด และบางทรายของอำเภอเมืองชลบุรี ได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมด เบืองต้นประเมินค่าความเสียหายรวมกว่า 50 ล้านบาท โดยชาวบ้านเชื่อว่า เป็นปรากฏการณ์สัตว์ทะเลเมาน้ำจืดอย่างเดียว แต่คาดว่า เป็นน้ำเสียจากแหล่งอุตสาหกรรมที่แอบปล่อยทิ้งมาในช่วงกลางคืนผสมโรงเข้ามา เหตุเพราะน้ำทะเลมีสีแดงไม่ใช่สีของน้ำจืดเพียงอย่างเดียว
นายไพบูลย์ ประหยัด พ่อค้าผู้เลี้ยงหอย ซึ่งกำลังนั่งคัดแยกหอยที่ลงไปเก็บจากหลักปักไม้ไผ่ ที่ตนเลี้ยงไว้ในทะเลห่างจากฝั่ง 3 กม.บอกว่า ขณะนี้ ผู้เลี้ยงหอยแมลงภู่และหอยแครง ไม่อยากจะเลี้ยงกันแล้ว เพราะช่วงนี้น้ำทะเลมีน้ำจืดลงไปมากเกิน ทำให้หอยที่เลี้ยงตายเป็นเบือ ลงไปเก็บก็แทบจะไม่ทัน เก็บมาได้เอามาแยกเพื่อขาย จะพบว่า จาก 100 กก.จะเหลือขายได้เพียง 20 กก.เท่านั้น นอกจากนั้นตายหมด ปีนี้ขาดทุนน้อยหรือมากเท่านั้น เพราะค่าใช้จ่ายในการให้แรงงานลงไปปักไม้ไผ่ ซื้อไม้ไผ่ ตกประมาณปี 5-6 แสนบาท แต่ขายได้แทบจะไม่คุ้มกำไร ตามตายฤดูกาล หรือเมาน้ำจืดก็แทบจะไม่เหลือแล้ว แต่มาตายเพราะผู้เห็นแก่ตัว หรือโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยน้ำเสียลงทะเล จนกุ้งหอยปูปลาตายอย่างนี้
ตนเองยังเชื่ออีกว่าเหตุการณ์กุ้งหอยปูปลาน็อกน้ำตายในครั้งนี้ ไม่ใช่แค่น้ำจืดที่ลงมาเท่านั้น แต่เป็นเพราะมีน้ำเสียที่ถูกปล่อยลงมาจากแถบบางปะกง และสมุทรปราการ เพราะมีโรงงานตั้งอยู่ใกล้ทะเลเป็นจำนวนมาก ที่อาจจะปล่อยน้ำเสียลงมา เพราะตนและลูกน้องลงทะเลไปส่องกุ้ง ช่วงกลางดึก น้ำทะเลที่นี่ น้ำทะเลจะใสเป็นปกติ แต่พอเช้าประมาณสัก 8-9 โมงเช้า น้ำทะเลจะกลายเป็นน้ำเสียที่มีสีแดง
จึงอยากจะขอให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือดูแลตรวจสอบ เพราะตอนนี้ ชาวบ้านและชาวประมงได้รับผลกระทบจากปรากฎการณ์น้ำจืด ทำให้กุ้งหอยปูปลาตายเป็นเบือ แต่ก็ยังมีผู้เห็นแก่ตัว ปล่อยน้ำเสียลงมาเป็นจำนวนมาก ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน และหากไม่ไดรับการแก้ไข คาดว่า ในอนาคตจะทำลายวิถีชีวิตชาวบ้านแล้ว ยังจะทำลายการท่องเที่ยวของชลบุรี อีกด้วย
จากนั้นผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปสังเกตการณ์น้ำทะเลแถบตำบลอ่างศิลาไปจนถึงในตัวเมืองชลบุรี พบว่า น้ำทะเลมีสีแดงเป็นช่วงๆ ซึ่งชาวบ้านในละแวกดังกล่าวเชื่อว่าเป็นน้ำเสียที่ถูกปล่อยมาจากแถบโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ติดกับทะเลทางอำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา หรือทางจังหวัดสมุทรปราการ รวมทั้งน้ำเสียที่ถูกปล่อยลงในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำบางปะกง ไหลลงทะเลอ่าวไทยมาทางจังหวัดชลบุรีในที่สุด
ด้าน ดร.แววดาว ทองระอา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ และหัวหน้าฝ่ายวิจัย สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี ให้ข้อมูลสำทับด้วยว่า หลังจากที่ทางสถาบันทราบเรื่องปลาตาย จึงได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ชุดสำรวจคุณภาพน้ำไปตามจุดต่างๆ ที่มีชาวบ้านแจ้งว่ามีปลาลอยจำนวนมาก จากการสำรวจในเบื้องต้น ทางเจ้าหน้าที่แจ้งว่าระดับความเค็มในทะเลมีส่วนผสมของน้ำจืดมากเกินไป จากการที่น้ำจืดไหลลงมาตามแม่น้ำลำคลอง