พะเยา - พธม.พะเยา และกลุ่มคนเสื้อแดง จ.พะเยา เปิดเวทีเล็กคุยนอกรอบ หาข้อยุติทิศทางการจัดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางการเมือง ย้ำเพื่อสร้างมิตรภาพ และถวาย “ในหลวง” ด้านสถาบันปวงผญาผยาว ผู้จัดฯ เผยเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ไม่ใช่ดี-เบสสองฝ่าย เนื่องจากบ้านเมืองกำลังแตกแยก ต้องเร่งสร้างสามัคคี คาดเปิดเวทีได้ปลายปีนี้
วันนี้ (23 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศเวทีเล็กของการสนทนาครั้งที่ 2 ของผู้ประสานงาน พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยพะเยา (พธม.พะเยา) กับตัวแทนกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) หรือ กลุ่มคนเสื้อแดง จ.พะเยา
โดยเวทีการสนทนาวงเล็กครั้งนี้เป็นการหารือถึงร่างเวทีท้องถิ่นสนทนา ครั้งที่ 3/2552 หรือเวทีเสวนาประสบการณ์การเมืองของผู้ประสานงานภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ ซึ่งเริ่มต้นเมื่อเวลา 11.00 น. ณ ศาลาพักร้อนข้างหอวัฒนธรรมนิทัศน์ วัดศรีโคมคำ อ.เมือง จ.พะเยา ซึ่งมีผู้ร่วมแลกเปลี่ยนในครั้งนี้จำนวน 8 คน ประกอบด้วย นายชัยวัฒน์ จันธิมา นายมนตรา พงษ์นิล น.ส.สหัทยา วิเศษ ผู้ประสานงานสถาบันปวงผญาผยาว นายชุมพล ลีลานนท์, นายวิทยา พันธ์ปัญญา นายวีระพจน์ ชุ่มมี ตัวแทน พธม.พะเยา นายบุญศักดิ์ ชุมพู เครือข่ายเหล้าพื้นบ้านจังหวัดพะเยา และนายสมาน บัวจ้อย ตัวแทนกลุ่มคนเสื้อแดง อ.เชียงคำ จ.พะเยา
ด้าน นายศิริวัฒน์ จุปะมัดถา ผู้ประสานงานคนเสื้อแดงพะเยา ไม่สามารถมาร่วมเวทีได้เนื่องจากติดภารกิจสำคัญ นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองจังหวัดพะเยา เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย
ผู้ร่วมเวทีทั้งหมดได้ใช้เวลาในการประชุมพิจารณาร่างเวทีฯ ประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นได้ข้อสรุปร่วมกัน คือ ข้อตกลงในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานด้านการเมืองภาคประชาชนของแต่ละคน
โดยไม่มีการพาดพิงหรือกล่าวถึงบุคคลภายนอก บุคคลที่สามนอกเหนือเวที พร้อมทั้งเปิดกว้างให้ประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังได้ประมาณ 50 คน และช่วงเวลาการจัดเวทีทางสถาบันปวงฯ คาดว่าจะดำเนินการประมาณระหว่างเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2552
นายชัยวัฒน์ จันธิมา ผู้ประสานงานสถาบันปวงฯ กล่าวภายหลังการหารือว่า เวทีนี้ที่จะเกิดขึ้นตนขอย้ำว่าเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของการทำงานของภาคประชาชนทุกกลุ่มที่เข้าร่วม โดยการแลกเปลี่ยนนี้จะเป็นเรื่องของส่วนบุคคลไม่ได้ออกความคิดเห็นในนามกลุ่มต่างๆ ซึ่งจะมีตัวแทนผู้ประสานงานการเคลื่อนไหวภาคประชาชนหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มสัญลักษณ์เสื้อสีแดง สัญลักษณ์เสื้อสีเหลือง กลุ่มเหล้าพื้นบ้าน กลุ่มข้าว และกลุ่มข้าวโพด และเปิดกว้างให้ผู้ที่สนใจจากภาคส่วนต่างๆ ในจังหวัดพะเยา เข้าร่วมรับฟังสังเกตการณ์ได้ประมาณ 50 คน กติกาสำคัญ คือ ผู้ที่จะมีสิทธิแลกเปลี่ยนในเวทีได้คือผู้ที่อยู่บนเวทีเท่านั้น ส่วนผู้ฟังด้านนอกเวทีเป็นเพียงผู้ฟังที่ดี เพราะเวทีนี้จะให้สิทธิสำหรับผู้ที่ร่วมแลกเปลี่ยนบนเวที
“ผมคิดว่าวันนี้เราคนไทยทุกคนต้องตระหนัก และหลอมละลายสีต่างๆ ให้มีความเข้าใจกัน และเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน สำคัญที่สุดคนไทยต้องสร้างความสามัคคีเพื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ และต่อจากนี้ผมคิดว่าท้องถิ่นหลายพื้นที่ คนในท้องถิ่นควรมีส่วนร่วมกันจัดกิจกรรมในการจัดการท้องถิ่นเชิงบวกเพื่อถวายให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ผู้ประสานงานสถาบันปวงฯ กล่าว
นายสมาน บัวจ้อย ตัวแทนกลุ่มคนเสื้อแดง กล่าวว่า การคุยกันไม่ใช่การมาบอกว่าใครถูกหรือผิด แต่คือการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของกันและกัน ซึ่งความคิดเห็นที่แตกต่างไม่ใช่เรื่องผิดหรือถูก แต่ต้องเคารพสิทธิของกันและกัน เช่นการหาเสียงของพรรคการเมือง ควรที่จะปล่อยให้เป็นอิสระของแต่ละพรรค ไม่กีดกันหรือทำร้ายกัน
“วันนี้เราคนไทยทุกคนต้องทำเพื่อ “ในหลวง” เพราะท่านคือพระมหากษัตริย์ที่ดีที่สุดแล้ว ไม่ควรเลือกรักเฉพาะบุคคลแต่ต้องรักทุกคน วันนี้เมื่อในหลวงคือสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของคนไทยแล้ว ไม่ควรทะเลาะกันอีก ดังนั้นการมาพูดกันเพื่อให้เข้าใจไม่มีความขัดแย้งมากขึ้นคือเรื่องดี” นายสมาน กล่าว
ด้าน นายชุมพล กล่าวว่า ตนยืนยันตั้งแต่ต้นว่าเวทีเช่นนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี จากการหารือร่วมกันในเนื้อหาที่จะแลกเปลี่ยนกันตนเห็นด้วยและคิดว่าเป็นเนื้อหาเพื่อการสร้างสรรค์และเรียนรู้การทำงานภาคประชาชนของกันและกัน เป็นเนื้อหาที่เหมาะสม คือการทบทวนประสบการณ์ของนักเคลื่อนไหวแต่ละคนพร้อมแผนอนาคตของการทำงาน
“วันนี้บ้านเมืองกำลังแตกแยก ทำไมเราไม่สามัคคีกัน ไม่สมควรที่จะมาทะเลาะกันให้สร้างความแตกแยก ในความเป็นจริงสังคมไทยมีหลายสี ไม่เฉพาะสีเหลือง หรือแดงเท่านั้น ซึ่งควรสลายสีเหล่านี้ออกมาพูดคุยกัน เมื่อเราเห็นจุดร่วมสูงสุดที่เหมือนกัน คือการเทิดทูนในหลวง วันนี้เราต้องมองไปที่ข้างหน้าจุดสูงสุดต้องทำเพื่อในหลวง เพื่อบ้านเมืองที่สงบสุข” นายชุมพลกล่าว
ด้าน นายศิริวัฒน์กล่าวว่า ตนไม่ได้เข้าร่วมเพราะติดภารกิจส่วนตัว แต่ได้ติดตามและรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับร่างเวทีท้องถิ่นสนทนา พร้อมด้วยหลักการ รูปแบบการแลกเปลี่ยน จากผู้ประสานงานของสถาบันปวงฯ ได้ส่งข้อมูลมาให้ ตนเห็นเนื้อหาและกรอบการแลกเปลี่ยนแล้ว คิดว่าเนื้อหาลงตัวไม่มีสิ่งใดที่ต้องเพิ่มเติมอีก