ตาก - พ่อเมืองตากเร่งให้วิศวกรจังหวัดตากออกแบบสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแม่ตื่น ชาวบ้านยังคงใช้เรือหางยาวไปมา และแพไม้ไผ่ ส่งสินค้าการเกษตร หมู่บ้านหลังน้ำท่วมหนัก ด้านหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 4นำรถตรวจการณ์ แบบ ATV จำนวน 7-8 คัน เข้าไปใช้การใน 13 หมู่บ้านที่ถูกตัดขาด เพื่อไว้สำหรับรับ ส่ง ประชาชน
นายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวถึงความคืบหน้าการดูแลช่วยเหลือราษฎรชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง ปากะญอ 13 หมู่บ้าน ที่ได้รับความเดือดร้อน ที่ตำบลแม่ตื่น อ.แม่ระมาด จ.ตาก ภายหลังถูกกระแสน้ำพัดสะพานข้ามแม่น้ำแม่ตื่นขาดเมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เป็นเหตุให้ 13 หมู่บ้านถูกตัดขาดจาก หมู่บ้าน และตำบลอื่นๆ ว่า การแก้ไขปัญหาเบื้องต้นระยะฉุกเฉิน ได้จัดเรือยนต์หางยาว ข้ามไป-มา
รวมทั้งการสร้างแพชักลอก 3 แพเพื่อข้ามลำเลียงส่งพืชผลิตทางการเกษตรมาส่งจำหน่ายในพื้นที่อื่นๆ และตนเองได้สั่งการให้สำนักงานโยธาธิการจังหวัดตาก เร่งให้วิศวกร ได้ออกแบบในการก่อสร้างสะพานคอนกรีตแห่งใหม่โดยเร็วที่สุด
“ผมได้สั่งการและกำชับให้นายอำเภอแม่ระมาดและกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านและเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับ การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชน ให้เฝ้าดูแลติดตามและแก้ไขคลายความทุกข์ให้ประชาชนอย่างเร่งด่วนฉับไว” ผวจ.ตาก กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า ชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง ปากะญอ 13 หมู่บ้าน ตำบลแม่ตื่น อ.แม่ระมาด ยังคงได้รับความเดือดร้อนและลำบาก ในการสัญจรไปมาและการนำสินค้าการเกษตรที่ผลผลิตกำลังออกมาจำหน่ายในพื้นที่อื่นๆ ซึ่งต้องใช้เรือหางยาวและแพไม้ไผ่ หลังจากที่เกิดน้ำป่าไหลหลาก และกระแสน้ำเชี่ยวกรากทำให้สะพานคอนกรีต ที่ข้ามแม่น้ำแม่ตื่น บริเวณบ้านโปเก่ หมู่ที่ 3 ตำบลแม่ตื่น อำเภอแม่ระมาด ถูกกระแสน้ำอัดจนแยกออกเป็น 2 ส่วน ซึ่งล่าสุดราษฎรชาวกะเหรี่ยงได้ใช้เรือหางยาวไปมา และใช้แพ ข้ามส่งสินค้าการเกษตร
ด้าน พ.อ.ผดุง ยิ่งไพบูลย์สุข ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 4 (แม่สอด) กล่าวว่า ทหาร ยังคงคอยดูแลประชาชนที่เดือดร้อน โดยการช่วยเหลือ ด้านขนส่ง อาหาร-น้ำดื่ม ยาเวชภัณฑ์ ตามที่ได้รับการประสานจากหน่วยงานต่างๆ ในการสนับสนับสนุนช่วยเหลือเพื่อให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว ฉับไว
นอกจากนี้ยังได้นำรถตรวจการณ์แบบ ATV จำนวน 7-8 คัน เข้าไปใช้การใน 13 หมู่บ้านที่ถูกตัดขาด เพื่อไว้สำหรับรับ ส่ง ประชาชน หากต้องการจะเดินทางมายังพื้นที่อื่นๆ นอกจากนี้ ในช่วงที่ประชาชนต้องใช้เรือหางยาวในการข้ามฝั่งชั่วคราวระหว่างรอการทำแพไม้ไผ่หรือสะพานชั่วคราวนั้น ทหารได้จัดหาน้ำมันเข้าไปสนับสนุนเพื่อลดภาระให้ประชาชน
“สำหรับรถตรวจการณ์แบบ ATV มีประสิทธภาพในการใช้งานพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า คุ้มสูงสุด ขับเคลื่อนได้ทั้งระบบ 2 ล้อและ 4 ล้อ สามารถใช้กับสภาพถนนได้ทุกสภาพและทั้งที่ไม่มีสภาพเป็นถนนก็สามารถทะลุทะลวงได้ทุกพื้นที่ โดยขณะนี้ได้นำไปใช้ในพื้นที่ชายแดน อ.แม่สอด-อ.แม่ระมาด และ อ.ท่าสองยาง ซึ่งนอกเหนือจากการใช้ในยุทธศาสตร์ทางทหารแล้ว ยังใช้เพื่อการช่วยเหลือและบรรเทาสาธารณภัยได้ทุกรูปแบบ” ผบ.ฉก.ร.4 กล่าว