มุกดาหาร - กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเตือนระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก จากพายุหมุนเขตร้อน “กิสนา” ซึ่งคาดว่าพายุดังกล่าวจะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณแนวจังหวัดมุกดาหาร ในวันที่ 30 กันยายนนี้
นายสุรศักดิ์ วิสากล ผู้อำนวยการสถานีอุตุนิยมวิทยามุกดาหาร เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศฉบับที่ 4 เมื่อเวลา 04.00 น.วันที่ 29 กันยายน 2552 ว่า พายุไต้ฝุ่น “กิสนา” (KETSANA) บริเวณทะเลจีนใต้ ได้ทวีกำลังแรงขึ้น โดยมีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 220 กิโลเมตร ทางทิศตะวันออกของเมืองดานัง ประเทศเวียดนาม หรือที่ละติจูด 16.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 109.8 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
พายุดังกล่าวกำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกด้วยความเร็ว ประมาณ 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามในวันที่ 29 กันยายน 2552 และจะเคลื่อนตัวผ่านประเทศลาวเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณแนวจังหวัดมุกดาหาร ในวันที่ 30 กันยายน 2552 ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากได้บางพื้นที่โดยเริ่มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ในวันที่ 29 กันยายน 2552 ส่วนภาคอื่นๆ จะได้รับผลกระทบในระยะต่อไป
จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ลุ่มของจังหวัดนครพนม สกลนคร มุกดาหาร อำนาจเจริญ ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ และนครราชสีมา ระมัดระวังสภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากที่จะเกิดขึ้นได้ในระยะนี้
ด้านนายธีรศักดิ์ ดาวมุกดา รองนายกเทศมนตรีเมืองมุกดาหาร กล่าวถึงความพร้อมในการรับมือกับพายุดังกล่าวว่า ขณะนี้ทางเทศบาลเมืองมุกดาหารได้จัดเตรียมเจ้าหน้ารับมือแล้วและได้เตรียมเจ้าหน้าที่ไว้ให้ความช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนตลอด 24 ชั่วโมง หรือแจ้งเหตุได้ที่ศูนย์อำนวยการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุอุทกภัยเทศบาเมืองมุกดาหาร หมายเลข 042-611925-199
ด้าน น.ส.สมหมาย ปรีชาศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า กรณีหากเกิดอุทกภัย หรือวาตภัยในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร ทำให้สิ่งสาธารณประโยชน์ได้รับความเสียหาย ประชาชนได้รับความเดือดร้อน และจังหวัดมุกดาหาร ได้ประกาศให้พื้นที่ของอำเภอต่างๆ เป็น พื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว และอำเภอได้ใช้เงินทดรองราชการในอำนาจของนายอำเภอที่ผู้ว่าราชการจังหวัด จัดสรรให้ จำนวน 1 ล้านบาท ไปแล้วนั้น
หากไม่เพียงพอ แต่ละอำเภอสามารถจัดทำโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณเงินทดรองราชการในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อใช้จ่ายในการฟื้นฟูพื้นที่และช่วยเหลือราษฎรที่ประสบภัยได้