xs
xsm
sm
md
lg

สิงห์รถบรรทุกปิดด่านแปดริ้วอ้าง จนท.ปฏิบัติไม่เป็นธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ฉะเชิงเทรา - สิงห์รถบรรทุกปิดด่านแปดริ้ว อ้างเจ้าหน้าที่ปฏิบัติไม่เป็นธรรม ฝ่ายปกครองร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้าเจรจากล่อม ไม่ได้ผล หลังตัวแทนระบุหากต้องบรรทุกตามพิกัดใหม่ ผู้ประกอบการจะขาดทุนย่อยยับ ขณะนายด่านชั่งน้ำหนักยันจะจับปรับรถบรรทุก 24 ล้อ ที่บรรทุกน้ำหนักเกินทุกราย อ้างต้องทำตามกฎหมาย หากยังไม่มีคำสั่งผ่อนผันจากกรมทางหลวงเป็นลายลักษณ์อักษรมาให้ถือปฏิบัติ

วันนี้ (6 ก.ย.) เวลา 02.00 น. ที่บริเวณด่านชั่งน้ำหนักบางไผ่ ริมถนนสาย 304 ฉะเชิงเทรา-กบินทร์บุรี ฝั่งขาเข้า พื้นที่ ม.8 ต.บางไผ่ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ได้มีกลุ่มผู้ประกอบการรถบรรทุกพ่วง 24 ล้อ จำนวนกว่า 20 ราย นำรถยนต์บรรทุกพ่วงกว่า 50 คัน เดินทางเข้ามาจอดเรียงรายเต็มไหล่ทางริมถนน และได้เข้าปิดช่องทางเข้าด่านชั่งน้ำหนักดังกล่าว เพื่อไม่ให้ด่านสามารถดำเนินการชั่งน้ำหนักได้ตามปกติ โดยอ้างว่า เจ้าหน้าที่ปฏิบัติไม่เป็นธรรม

นายสันชาน สกาญจนชัย ปลัดอาวุโส อ.เมืองฉะเชิงเทรา กล่าวว่า หลังจากได้มีการเจรจาเพื่อหาข้อยุติจากหลายฝ่าย ซึ่งประกอบด้วย นายชูศักดิ์ ตรีสาร นายอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา พ.ต.อ.สุเทพ บุญค้ำ ผกก.สภ.เมืองฉะเชิงเทรา นายยงนริศ เลิศศิริจิตร และตัวแทนผู้ประกอบการรถบรรทุก นานกว่า 2 ชม. ภายในสำนักงานชั่วคราวของด่านชั่งน้ำหนัก แต่การเจรจาไม่ได้ผล หรือสามารถหาข้อยุติได้ โดยที่ต่างฝ่ายต่างต้องการที่จะทำตามความต้องการของตน

สำหรับ พ.ร.บ.ทางหลวงฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 122 ตอนพิเศษ 150 ง หน้า 19 ลงวันที่ 28 ธ.ค.48 ได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.52 โดย อธิบดีกรมทางหลวง โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ก.ค.52 ที่ผ่านมา ให้รถบรรทุกขนาด 24 ล้อ สามารถบรรทุกน้ำหนักได้เพียง 53 ตัน จากเดิม 58 ตัน แต่ทางสมาคมผู้ประกอบการรถบรรทุก 24 ล้อ ได้ไปขอผ่อนผันกับกรมทางหลวง เมื่อเดือน ส.ค.52 ที่ผ่านมาเป็นเวลา 1 เดือน ให้รถสามารถบรรทุกได้ 58 ตันตามเดิม ซึ่งหากทางนายด่านปฏิบัติตามการผ่อนผันของกรมทางหลวง ก็คงไม่เกิดปัญหานี้ขึ้นมา นายสันชาน กล่าว

ขณะที่นายสุวัฒน์ สื่อสวัสดิ์วณิชย์ อายุ 34 ปี เจ้าของบริษัท ฮวดล้ง ขนส่ง จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 48/1 ม.9 ต.บางไผ่ อ.เมืองฉะเชิงเทรา กล่าวว่า หากห้ามรถบรรทุก 24 ล้อ บรรทุกน้ำหนักได้ไม่เกิน 53 ตัน ก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการทันที เนื่องจากที่ผ่านมาทางผู้ประกอบการได้พยายามที่จะลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการขนส่งด้วยการไปต่อเติมเพลาเพิ่มขึ้นมา เพื่อให้รถสามารถบรรทุกน้ำหนักได้มากเพิ่มขึ้น ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงถึงคันละ 2 แสนบาท นอกจากนี้ อีกหลายรายยังมีภาระในการผ่านชำระค่างวดรถอีกด้วย

นอกจากผลกระทบดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการโดยตรงแล้ว ยังจะส่งผลกระทบถึงคนจ้างงาน และผู้บริโภคอีกด้วย โดยที่ผ่านมาทางสมาคมผู้ประกอบการได้เคยเข้าไปขอผ่อนผันกับกรมทางหลวง เป็นเวลา 2 เดือน คือช่วงระหว่าง เดือน ส.ค.-ก.ย.52 เพื่อชะลอไม่ให้มีการจับกุม ซึ่งทางกรมทางหลวงได้รับปากที่จะยังไม่ดำเนินการจับกุมในช่วงระยะเวลานี้ แต่ที่ด่านชั่งน้ำหนักบางไผ่ ได้ดำเนินการจับกุมผู้ประกอบการ โดยที่ไม่รับฟังคำสั่งจากกรมทางหลวง

ซึ่งหากผู้บังคับบัญชาไม่สามารถสั่งงานได้ ก็ขอให้ย้ายนายด่าน หรือผู้จัดการด่านชั่งน้ำหนักคนนี้ไป หากการเจรจายังไม่ได้ผล ในช่วงรุ่งเช้ากลุ่มผู้ประกอบการรถบรรทุก 24 ล้อ จากทั่วประเทศจะเดินทางนำรถบรรทุกจำนวนหลายร้อยคันเข้ามาสมทบ เพื่อปิดถนนบริเวณหน้าด่านชั่งน้ำหนักชุมนุมเรียกร้องต่อไป

ขณะที่นายยงนริศ เลิศศิริจิตร อายุ 52 ปี นายช่างโยธาชำนาญการ ผู้จัดการด่านชั่งน้ำหนักบางไผ่ สำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ กรมทางหลวง กล่าวว่า ในการออก พ.ร.บ.ของกรมทางหลวงนั้น เนื่องจากที่ผ่านมา ได้พบว่าปัญหาการบรรทุกน้ำหนักเกินบนท้องถนนเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้คอสะพานทรุด ถนนเสียหาย จึงมีแนวคิดให้มีการลดน้ำหนักบรรทุกลง โดยเฉพาะรถบรรทุก 7 เพลา 24 ล้อ ที่ให้ลดน้ำหนักบรรทุกลงมาจาก 58 ตัน เหลือ 53 ตัน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ก.ค.52 เป็นต้นมา

แต่ก็ได้มีการผ่อนผันให้ผู้ประกอบการมาแล้วเป็นเวลา 1 เดือน หลังจากมีผู้ประกอบการรถบรรทุกเข้าไปขอผ่อนผันกับกรมทางหลวง แต่หลังครบกำหนด ทางผู้ประกอบการยังได้เข้าไปขอผ่อนผันเพิ่มเติมอีก 30 วัน เป็น 60 วัน ในรถบรรทุกพืชผลทางการเกษตร ซึ่งทางกรมทางหลวงยังไม่ได้สั่งการมาเป็นลายลักษณ์อักษรส่งมาให้ มีเพียงบอกด้วยวาจามาเท่านั้น ตนจึงได้ถือปฏิบัติตามข้อกฎหมายกำหนดต่อไป

“หากพบว่ามีรถบรรทุกเกินน้ำหนัก ก็ต้องถูกจับทุกราย เพราะการสั่งการด้วยวาจานั้น ไม่มีหลักอะไรที่จะมาใช้ยึดถือปฏิบัติได้ หากมีกฎหมายให้ตนใช้ ตนก็ต้องทำตามกฎหมาย ถ้าไม่ทำตามกฎหมาย แล้วเราจะอยู่กันอย่างไร ตนไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง ไม่ได้ทำร้ายประเทศ หากมีข้อยกเว้นก็ต้องสั่งการมาอย่างเป็นทางการ แล้วผู้ปฏิบัติอย่างผมจะทำอย่างไร จึงอยากขอฝากสังคมไว้ด้วย”

นอกจากนี้ ในปี พ.ศ.2556 รถบรรทุกพ่วงทุกชนิด ทั้งขนาด 6 เพลา และ 7 เพลา จะต้องลดน้ำหนักบรรทุกลงจากเดิมอีกจาก 53 ตัน เหลือ 50.5 ตัน เท่านั้น ซึ่งหากในครั้งนี้ไม่สามารถนำกฎหมายมาใช้ปฏิบัติได้ กฎหมายฉบับต่อไปก็จะไม่สามารถมีผลบังคับใช้ได้อีก


กำลังโหลดความคิดเห็น