พิจิตร - เด็กหัวแหลมอนุบาลพิจิตร 1 ใน 42 โรงเรียนศูนย์ GTX คว้าชัยชนะตอบปัญหาประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง หลังถูกบ่มเพาะตั้งพรรคการเมืองในโรงเรียนถึง 6 พรรค แถมได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 5 ของโรงเรียนทั่วประเทศคว้าทุนสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อมจาก “เชฟรอน” เตรียมเปิดโรงเรียนรับคณะครูดูงาน 7 ก.ย.นี้
นายไพศาล เพชรพงษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลพิจิตร เปิดเผยว่า ขณะนี้นักเรียนของโรงเรียนคือ ด.ช.กฤษณพงศ์ จันทน์เทศ นักเรียนชั้นประถมปีที่ 6 ที่เข้าแข่งขันตอบปัญหาเกี่ยวกับประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง ของศูนย์ศึกษาประชิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับการยืนยันจาก ม.ธรรมศาสตร์แล้วว่า ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 ในระดับประเทศ พร้อมให้เดินทางไปรับรางวัลในวันศุกร์ที่ 11 กันยายน 2552 ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ถ.แจ้งวัฒนะ หลักสี่ กรุงเทพฯ
ขณะที่ ด.ช.กฤษณพงศ์ จันทน์เทศ ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศตอบปัญหานี้ บอกกับ ผู้สื่อข่าว ASTV ผู้จัดการ ว่า คำถามที่เอาชนะคู่แข่งได้ คือ คำถามที่ว่า รัฐธรรมนูญ 2540 มีกี่มาตรา ซึ่งตนจำได้และตอบถูกต้องคือ 336 มาตรา เมื่อถามว่า โตขึ้นจะเป็นอะไร ตนได้ตอบไปว่า ต้องการเรียนด้านกฎหมาย เพราะต้องการเป็นผู้พิพากษา
ด้าน นางจรรยา ใบตระกูล ครูประจำชั้น 6 บอกเสริมว่า เด็กคนนี้ฉายแววเก่งด้านการเมือง สามารถเรียนและวิเคราะห์การเมืองการปกครองของไทยได้คล่อง
ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลพิจิตร บอกเพิ่มเติมว่า ที่จริงแล้วเด็กนักเรียนอนุบาลพิจิตร ยังมีความสามารถพิเศษโดดเด่นหลายคน โดยศูนย์จีทีเอ็กซ์ (Gifted and Talented Exploring Center: GTX) หรือศูนย์เสาะหาและพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษในท้องถิ่น ได้คัดเลือกโรงเรียนอนุบาลพิจิตรเป็นศูนย์จีทีเอ็กซ์ระดับจังหวัด เพราะมีความพร้อมกว่าแห่งอื่น จัดตั้งศูนย์จีทีเอ็กซ์ ในโรงเรียนอนุบาลพิจิตรตั้งแต่ปี 2551 มีครู 3 คนคัดเลือกเด็ก ฝึกฝนและอบรมเด็กทดสอบและเข้าค่าย
ล่าสุด พบว่ามีเด็กโรงเรียนอนุบาลพิจิตรผ่านเกณฑ์จีทีเอ็กซ์จำนวน 15 คนจาก 81 คนของเด็กทั่วจังหวัดพิจิตร คิดเป็นร้อยละ18 ซึ่งเด็กเก่งพิเศษดังกล่าว มาจากชั้น ป.5 จำนวน 12 คน และเด็กชั้น ป.6 จำนวน 3 คน เชื่อว่า หากเติบโตในขั้นเรียนสูงๆ หัวอัจฉริยะจะสามารถสร้างสรรค์ผลงานต่อไปได้
อ.ลัคคณา ถาวรพันธุ์ อ.ประจำศูนย์ GTX จังหวัดพิจิตร เปิดเผยว่า การค้นหาและพัฒนาเยาวชนเริ่มต้นเมื่อปี 51 ที่ผ่านมา ตนทำหน้าที่ค้นหา สังเกตและจดบันทึกว่า เด็กคนใด มีความสนใจเรื่องใดเป็นพิเศษ ทำกิจกรรมนั้นๆ ได้ดีแค่ไหน พัฒนาการเป็นอย่างไร ก่อนที่จะสรุป เห็นแววอัจฉริยะของเด็กด้านไหนและอยู่ในระดับใด จากนั้นจึงให้เด็กแสดงผลงานตามสาขาอัจฉริยะ มีการผ่านการทดสอบข้อเขียนของสถาบันส่งเสริมอัจฉริยภาพและนวัตกรรมการเรียนรู้ (สสอน.) องค์กรมหาชน สำนักนายกรัฐมนตรี หรือที่เรียกว่า ศูนย์จีทีเอ็กซ์ ซึ่งกระจายอยู่ตามโรงเรียนหลายจังหวัด ทั้งหมด 42 ศูนย์ ซึ่งบางจังหวัดอาจมีศูนย์จีทีเอ็กซ์ถึง 2 แห่งก็ได้ เช่น เชียงใหม่ เป็นต้น ขึ้นอยู่กับความพร้อมของโรงเรียนนั้นๆ
การเสาะหาและพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษ 8 ด้านหลัก ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาและวรรณกรรม ศิลปะ ดนตรี กีฬา สังคมศาสตร์และความริเริ่มสร้างสรรค์ ล่าสุดเด็กอนุบาลพิจิตรทั้ง 15 คนก็ผ่านมาเข้าค่าย อบรมเด็กหัวแหลมพร้อมๆ กับเด็กที่ผ่านเกณฑ์ทั่วประเทศหรือ 42 ศูนย์
ซึ่งแม้ว่าบางคนเก่ง ถนัดเฉพาะด้าน แต่กลับไม่สามารถทดสอบผ่านคะแนนจีทีเอ็กซ์ แต่ก็ถือว่าเป็นการพัฒนาศักยภาพของเด็กที่มีความสามารถพิเศษไปแล้ว เป็นต้นว่า เด็กหญิงพิชญา ศรีจอมขวัญชั้นประถม 3 ซึ่งตนเป็นผู้ฝึกสอนภาษาให้นั้น ก็สามารถแข่งขันพูดภาษาอังกฤษ คว้ารางวัลที่ 3 ในความเป็นเลิศทางวิชาการ ประจำปี 52 ระดับเขตพื้นที่ ถือว่า เป็นความสำเร็จของโรงเรียนอนุบาลพิจิตรที่มีเด็กหัวแหลมในภาษาอังกฤษ
ด.ญ.วรวรรณ พรพ่อเพชร เด็กชั้นประถม 6 เป็นอีกคนที่หัวแหลม พูดจาฉะฉาน ทำให้โรงเรียนอนุบาลพิจิตร มอบหมายงานประชาสัมพันธ์โรงเรียนอนุบาลพิจิตร บอกกับผู้สื่อข่าวว่า เป็นหัวหน้า “พรรคเลือดอนุบาล”ทุกพรรคต้องมีหน้าที่หาเสียง หาสมาชิกพรรคการเมือง แต่บางคนไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองก็ได้ โรงเรียนอนุบาลพิจิตรมีทั้งหมด 6 พรรคการเมือง ส่วนใหญ่ผู้หญิงเป็นหัวหน้าพรรค พรรคที่ได้รับเลือกตั้งจะได้เป็นประธานโรงเรียน มีการเปิดสภาเพื่อสะสางและรับฟังปัญหาของโรงเรียน โดยที่พรรคที่ไม่ได้รับเลือกตั้ง ก็ต้องทำหน้าที่รองประธานหรือช่วยบริหารโรงเรียน เช่น ดูและความสะอาด, ดูแลขยะ, ดูแลความเป็นอยู่ของนักเรียนทั้งหมดอีกด้วย
ด.ญ.วรวรรณ บอกอีกว่า ที่โรงเรียนอนุบาลพิจิตรยังมีอีกหลายโครงการ เช่น ธนาคารขยะ, ลดการใช้โฟม หากต้องการซื้อขนม จะต้องมีถ้วยชามที่เตรียมใช้เองเป็นภาชนะ และห้ามนำถุงพลาสติกเข้ามาในโรงเรียน ทุกวันจะมีสารวัตรนักเรียนคอยดูแล ทุกคนพร้อมใจ “ไม่ทิ้งขยะ เจอเก็บ”
ซึ่งวันที่ 7 ก.ย.52 เจ้าหน้าที่ทีมงานรักลูกประมาณ 3 คนของบริษัทเชฟรอนฯ ที่เป็นบริษัทพลังงาน ธุรกิจการสำรวจ ผลิต ขนส่งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ พร้อมคณะครูอีก 50 คนจะเดินทางมาดูงานที่โรงเรียนอนุบาลพิจิตร เพื่อศึกษาดูงาน หลังจากโรงเรียนอนุบาลพิจิตรถูกคัดเลือกเป็นโรงเรียนดีเด่น 1 ใน 5 จากทั่วประเทศ หลังจากที่บริษัทเชฟรอน ใช้เกณฑ์วัดในเรื่องหลักๆ คือ สิ่งแวดล้อม, ขยะ, การนำเสนอโครงการและจิตสำนึกของเด็กนักเรียน คัดจาก 100 โรงเรียน เหลือ 20 โรงเรียน กระทั่ง 5 โรงเรียนจึงสามารถได้รับทุนสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อมจากบริษัท
สำหรับโรงเรียนอนุบาลพิจิตรตั้งเมื่อ พ.ศ.2501 โดยนายเยียน โพธิ์สุวรรณ์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรเป็นผู้เริ่มก่อตั้งด้วยงบประมาณพิเศษจากกระทรวงการคลัง 200,000 บาท พัฒนาการเรียนการสอนเด็กอนุบาลถึงชั้นประถม 6 ปัจจุบันมีนักเรียก 1,600 คน คำขวัญคือ “รักเรียน รักงาน ประพฤติดี มีวินัย” วางเป้าหมายให้เด็กเรียนรู้ ภายใต้วัฒนธรรม ประเพณีเอกลักษณ์อนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ กระทั่งเป็นโรงเรียนรางวัลพระราชทานระดับประถมศึกษา, โรงเรียนต้นแบบการใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551, โรงเรียนผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ประสบผลสำเร็จตามนโยบาย และโรงเรียนส่งเสริมประชาธิปไตยดีเด่น