ศูนย์ข่าวขอนแก่น-กระทรวงพลังงาน ผนึกองค์กรเอกชน จัดเสวนาเผยแพร่ องค์ความรู้พลังงานนิวเคลียร์ ระบุประเทศไทยไร้เสถียรภาพด้านพลังงาน เหตุต้องนำเข้าพลังงาน ทั้งปริมาณใช้เพิ่มรวดเร็ว เผยพลังงานนิวเคลียร์อีกหนึ่งพลังงานทางเลือก สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เหตุต้นทุนต่ำแต่ผลิตได้มหาศาล วางกรอบสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีตัดสินใจจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่
วันนี้ (29ส.ค.) สำนักพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ (สพน.) กระทรวงพลังงาน ร่วมกับองค์กรเอกชนและองค์กรสาธารณะต่างๆ จัดเสวนา “คุยกันฉันท์มิตร คิดสร้างพลังงานไทย” ภายใต้โครงการส่งเสริมและสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้ด้านพลังงานนิวเคลียร์ เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้พลังงานนิวเคลียร์ ให้กับหน่วยงานรัฐ , เอกชน , ประชาชนทั่วไปในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและใกล้เคียงร่วมกิจกรรม ณ โรงแรมพูลแมน ราชาออคิด อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
นายมานิตย์ ซ้อนสุข รองผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ด้านพลังงานของประเทศไทย ที่ต้องนำเข้าพลังงานเป็นส่วนใหญ่มาใช้และผลิตพลังงานไฟฟ้า ทำให้ขาดเสถียรภาพและความมั่นคง กรณีที่พม่าไม่สามารถส่งก๊าซได้เมื่อ 15 สิงหาคม กระทบต่อการผลิตพลังงานไฟฟ้า ต้องปล่อยน้ำมาผลิตไฟฟ้าจนเกิดปัญหาน้ำท่วมตามมานั้น แสดงถึงการขาดเสถียรภาพและความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ
ด้วยปัจจัยหลักด้านความมั่นคงพลังงานในประเทศที่ยังขาดเสถียรภาพ ส่งผลสูงต่อความเสี่ยงการพัฒนาและการลงทุนในประเทศ ภาคธุรกิจรอคำตอบว่า ควรพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ พลังงานสะอาด ที่สามารถแก้ปัญหาความมั่นคงด้านพลังงาน และสิ่งแวดล้อม ในอนาคตอย่างเป็นระบบหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความเข้าใจ และการยอมรับของประชาชนทั้งประเทศซึ่งจะเป็นผู้กำหนดทิศทางในการพัฒนาโครงการ การเสวนาในครั้งนี้จึงเป็นการเปิดโอกาสให้องค์กรซึ่งถือเป็นศูนย์กลาง และเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์อย่างเต็มที่
ปัจจุบันพลังงานนิวเคลียร์และรังสีมีการใช้ประโยชน์สร้างมูลค่าเพิ่มกันแพร่หลายทั้ง อเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น จีน เยอรมันหรือแม้แต่ประเทศไทย ก็นำพลังงานนิวเคลียร์ และรังสี มาใช้ประโยชน์หลายด้าน เช่น ด้านการแพทย์ 70 แห่ง ด้านการศึกษา 112 แห่ง มีเครื่องเอกซเรย์ 8,000 เครื่อง ด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมมีการสร้างรายได้จากการตรวจอาหารเพื่อการส่งออก 30,000 ล้านบาท/ปี ฉายรังสีผลไม้เพื่อส่งออก 30,000 ตัน/ปี ฉายรังสีอัญมณี 75 ล้านกะรัต ควบคุมการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม 290 โรงงาน ด้านการเกษตรและอื่นๆ 128 แห่ง
ส่วนการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์ผลิตไฟฟ้า ขณะนี้ทั่วโลกกว่า 439 โรง กำลังเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ 36 โรง และกำลังก่อสร้างอีก 39 ประเทศ ส่วนกลุ่มประเทศในเอเชีย เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ก็ได้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์เช่นกัน ซึ่งพลังงานนิวเคลียร์ไม่ใช่สิ่งอันตราย ถ้าเข้าใจ และนำมาใช้อย่างถูกต้อง ถูกวิธี
“พลังงานนิวเคลียร์ถือเป็นพลังงานทางเลือกอีกชนิด สามารถสร้างความมั่นคง จากการผลิตพลังงานได้มหาศาล แต่ต้นทุนต่ำ ขณะที่พลังงานชนิดอื่น อาทิ น้ำมันใกล้หมดลง ทั้งสร้างปัญหามลพิษ พลังงานจากพืช มีต้นทุนสูงมาก ส่วนประเทศไทย อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาและการเตรียมพร้อมและตัดสินว่าจะเลือกใช้พลังงานนิวเคลียร์หรือไม่ ขึ้นอยู่กับรัฐบาล”นายมานิตกล่าว
นายมานิตกล่าวต่อว่าระหว่างปี 2551-2552 จะเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ และรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน จากนั้นจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ให้พิจารณาว่าจะเอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่ ซึ่งหากตอบรับจะมีการเตรียมพร้อมด้านสถานที่ตั้ง บุคลากร ความปลอดภัย เทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ รวมถึงข้อตกลงกับประเทศเพื่อนบ้าน กฎหมายรองรับการใช้พลังงานนิวเคลียร์ ให้ชัดเจนก่อนที่จะเป็นรูปธรรมในปี 2564
ส่วนประเด็นความปลอดภัยการใช้พลังงานนิวเคลียร์ว่า พลังงานนิวเคลียร์มีความปลอดภัยสูง ขึ้นอยู่กับการเลือกเทคโนโลยีความปลอดภัย โดยสถิติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นับ 100 โรงทั่วโลก ไม่เคยเกิดอุบัติเหตุ ขณะเดียวกันเทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ในระยะอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีพัฒนาให้สมบูรณ์มากขึ้น โอกาสเกิดอุบัติจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะต่ำลง
สภาหอการค้าเร่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง
ด้านนายคงฤทธิ์ อัศวพัฒนกูล รองประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบปัญหาวิกฤติพลังงาน ทำให้เกิดผลกระทบต่อการพัฒนาธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประเทศไทยอยู่ในฐานะผู้นำเข้าพลังงานและเป็นประเทศกำลังพัฒนามีอัตราการนำเข้าน้ำมันดิบเพื่อผลิตพลังงานในปี 2538 มูลค่า 100,000 ล้านบาทต่อปี แต่เมื่อปี 2549 ที่ผ่านมามีอัตราการนำเข้าเพิ่มขึ้นสูงถึง 887,000 ล้านบาท
ในสถานการณ์ปัจจุบัน ประเทศไทย นำเข้าพลังงานเพิ่มขึ้นมากกว่า 900,000 ล้านบาท วิกฤตการณ์พลังงานที่เกิดขึ้น สะท้อนภาพให้เห็นว่าประเทศไทยมีอัตราการใช้พลังงานมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวจึงดำเนินโครงการ “ส่งเสริมและสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้พลังงานนิวเคลียร์”
วัตถุประสงค์โครงการดังกล่าว เพื่อศึกษาและสร้างความเข้าใจ เรื่อง การนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์พัฒนาประเทศ ผ่านกิจกรรมการมีส่วนร่วม และแสดงข้อคิดเห็นแก่กลุ่มเป้าหมายตามสถานการณ์ต่างๆ สร้างความสัมพันธ์ที่ดี และความรู้ความเข้าใจด้านพลังงานนิวเคลียร์ ที่ถูกต้องแก่องค์กรเครือข่าย และสร้างเครือข่ายที่สามารถขยายผล ให้ข้อเท็จจริง แก้ไขข้อมูลด้านลบแก่ประชาชนทั่วไปที่เกิดความเข้าใจผิดเรื่องพลังงานนิวเคลียร์
เชื่อมั่นว่า การจัดสัมมนาภายใต้โครงการดังกล่าว จะสามารถสร้างความรู้ความเข้าใจ และการแสดงทัศนคติ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ ทำให้สมาชิกเครือข่ายองค์กรเอกชนรับทราบถึงประสบการณ์ตรง ทั้งเป็นผู้เผยแพร่ความรู้ให้กับประชาชนทั่วไปอย่างถูกต้อง