บุรีรัมย์ - ตร.บุรีรัมย์คุมเข้มมือปืน ช่วงเลือกตั้งท้องถิ่น 79 แห่ง เผยผู้สมัครหาเสียงเข้มข้นจับตา 11 อำเภอพื้นที่แดงเดือด ชี้แข่งดุเหตุกลุ่มการเมืองใหญ่ระดับประเทศหวังยึด “อปท.” ปูฐานรองรับศึกเลือกตั้ง ส.ส. แฉทุ่มเงินซื้อเสียงไม่อั้น อบต. ละ 2-5 ล้าน คาดเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 300 ล้าน
วันนี้ (25 ส.ค.) พล.ต.ต.สมบัติ คงพิบูลย์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด (ผบก.ภ.จว.) บุรีรัมย์ ในฐานะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประจำจังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หมดวาระลงเมื่อวันที่ 30 ก.ค. ที่ผ่านมา จำนวน 79 แห่ง ใน 21 อำเภอ แยกเป็น นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 75 แห่ง และสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต.) 78 แห่ง กำหนดเลือกตั้งวันที่ 6 ก.ย.นี้ และ เทศบาลตำบลตาจง อ.ละหานทราย 1 แห่ง กำหนดเลือกตั้งวันที่ 12 ก.ย.
จากการเฝ้าจับตาความเคลื่อนไหวการเลือกตั้งพบว่า มีหลาย อบต.ที่มีผู้สมัครนายก และ สมาชิกสภาท้องถิ่นแข่งขันกันสูง โดยเฉพาะพื้นที่ อ.เมือง, นางรอง, พุทไธสง, ประโคนชัย, ลำปลายมาศ, สตึก, กระสัง, หนองกี่, บ้านกรวด, หนองหงส์ และ อ.ชำนิ
ดังนั้น เพื่อป้องกันเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นทั้งตัวผู้สมัครและผู้ให้การสนับสนุน ได้ให้ สภ.ทุกพื้นที่มีการเลือกตั้ง ตั้งชุดเฉพาะกิจติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และจับตาการเคลื่อนไหวของกลุ่มมือปืนรับจ้างทั้งในและนอกพื้นที่เป็นกรณีพิเศษ คนใดมีหมายจับให้จับกุมทันที และเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนายต้องวางตัวเป็นกลาง
ด้าน นายสันทัด จัตุชัย ประธานกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดบุรีรัมย์ และอดีตผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ กล่าวว่า ตนได้กำชับให้ ผอ.กต.ประสานกับ ผบก.จว.บุรีรัมย์ เกี่ยวกับการทำแผนป้องกันเหตุการณ์ร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นช่วงเทศกาลเลือกตั้งท้องถิ่น หากมีมาตรการป้องกันที่ดีตนคิดว่าเหตุร้ายจะไม่เกิดขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า บรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งในหลายพื้นที่เป็นไปด้วยความคึกคัก โดยผู้สมัครแต่ละคนได้ออกพบปะประชาชนตามหมู่บ้าน ตำบลในเขตเลือกตั้งของตนเองแบบเคาะประตูบ้าน พร้อมจัดทีมงานออกไปติดโปสเตอร์และมีรถโฆษณาตระเวนหาเสียงในเขตพื้นที่เลือกตั้งตลอดทั้งวัน
ส่วนพื้นที่ที่มีการแข่งขันค่อนข้างรุนแรงถูกกรรมการการเลือกตั้งจับตามองเป็นพิเศษ คาดว่า จะมีผู้มีอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้องจากกลุ่มการเมืองต่างๆ โดยอาศัยฐานคะแนนเสียงของหลายพรรคการเมือง เช่น ภูมิใจไทย (ภท.) เพื่อไทย (พท.) และชาติไทยพัฒนา (ชทพ.)
ส่วนการซื้อเสียง ขณะนี้มีกระแสการทุ่มเงินซื้อเสียงในหลายพื้นที่แล้ว โดยใช้แกนนำเป็นหัวคะแนนในหมู่บ้าน ทำให้มีกระแสเงินสะพัดในช่วงการเลือกตั้ง อบต.บุรีรัมย์ ทั้ง 78 แห่ง กับ 1 เทศบาลตำบลครั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท โดยเฉลี่ยจะมีการใช้เงินในช่วงเลือกตั้งนายก อบต.และ ส.อบต.จำนวนมากถึงแห่งละ 2-3 ล้านบาท บางแห่งสูงถึง 5 ล้านบาท โดยเฉพาะช่วงคืนหมาหอนก่อนวันเลือกตั้ง
ทั้งนี้ สนามเลือกตั้งท้องถิ่นทั้ง 79 แห่งของ จ.บุรีรัมย์ หลายฝ่ายคาดว่าจะมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด และน่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากแต่ละขั้วการเมืองระดับประเทศต่างต้องการให้กลุ่มของตัวเองเข้าไปดำรงตำแหน่ง หรือยึดกุมการบริหารในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มากที่สุด เพื่อหวังให้เป็นฐานคะแนนรองรับการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศที่เชื่อว่าจะมีขึ้นในไม่ช้านี้