xs
xsm
sm
md
lg

โชวห่วยเมืองพลน้ำตาร่วง รายได้หด-หนี้เพิ่มหลัง “ตลาดโลตัส” เปิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาพตลาดสดเทศบาลเมืองพล เงียบเหงามาก นานๆจะมีคนเดินเข้ามาซื้อของสักครั้ง
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - เปิดใจเจ้าของแผงสินค้าให้เช่าตลาดสดเทศบาลเมืองพล หลังตลาดโลตัสเปิดสาขาได้ร่วม 2 ปี โอดนรกมีจริง !ยอดขายหายกว่าครึ่ง ลูกค้าแห่เดินตากแอร์ซื้อของกับโลตัส จนทำให้ตลาดแทบร้าง บางรายรายได้ไม่พอเลี้ยงครอบครัว ซ้ำติดหนี้เพิ่ม เผยอาจต้องปิดร้าน ตัดตอนธุรกิจไม่ถึงรุ่นลูก แนะใช้พื้นที่ อ.พล เป็นกรณีศึกษาผลกระทบค้าปลีกท้องถิ่นจ่อปากเหวล่มสลาย

กระแสต้านการรุกขยายสาขาของทุนค้าปลีกใหญ่ในสไตล์โมเดิร์นเทรด (Modern trade) ในทุกภูมิภาคได้กลับมาระอุอีกครั้ง โดยเฉพาะการเดินแผนกินรวบตลาดค้าปลีกไทย ของห้างเทสโก้ โลตัส ที่ปูพรมลงทุนเปิดสาขาในต่างจังหวัดหลากหลายขนาดตามแต่ศักยภาพกำลังในพื้นที่นั้นๆ ทั้ง ตลาดโลตัส หรือโลตัส เอ็กซ์เพรส (Lotus Express) ไม่นับรวม Discount Store ห้างเทสโก้ โลตัสเต็มรูปแบบที่เข้ายึดทำเลทองในแต่ละจังหวัดไปก่อนหน้านี้แล้วหลายปี

ตลาดสดโลตัสใน อ.พล จ.ขอนแก่น เปิดดำเนินการเมื่อ 12 กุมภาพันธุ์ 2550 บนเนื้อที่ร่วม 9 ไร่ ริมถนนมิตรภาพ อีกหนึ่งตัวอย่างของผลกระทบต่อบรรดาร้านค้าปลีกย่อยท้องถิ่น พ่อค้าแม่ค้าที่ยึดอาชีพค้าขายมาแต่รุ่นพ่อ-รุ่นแม่ กว่า 2 ปีที่ตลาดโลตัสเปิดให้บริการ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของพวกเขามากมาย ร้านขายของชำหรือโชวห่วยทั้งในเขตเทศบาลเมืองพล และร้านค้าย่อยในตลาดสดเทศบาลพล

รวมถึงพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอยจำนวนไม่น้อยที่ทนแบกภาระขาดทุนไม่ไหวจำใจต้องเลิกค้าขายไปโดยปริยาย เพราะลูกค้าประจำและลูกค้าขาจรได้หันไปซื้อสินค้าในตลาดโลตัสแทน แต่ก็มีเจ้าของร้านโชวห่วยจำนวนไม่น้อยเช่นกันทนกัดฟันสู้ เพราะมันคืออาชีพหลักเป็นมรดกตกทอดมาแล้วหลายรุ่น แม้ยอดขาย รายได้จะลดลง แต่ก็พอถูไถเลี้ยงครอบครัวให้ลูกหลานได้ร่ำเรียนต่อ

คนแห่เข้าโลตัสทำแผงตลาดสดร้าง

นางจิราพร สุขสนิทย์ แม่ค้าร้านขายของชำ ขายสินค้าจำพวกพริก กะปิ น้ำปลาฯลฯ รวมถึงอาหารสดบางชนิด เช่น ลูกชิ้น ในตลาดสดเทศบาลเมืองพล เปิดเผยว่า เช่าแผงขายของชำ น้ำปลา น้ำตาล ลูกชิ้น และสินค้าบริโภคอื่นๆมากว่า 20 ปี สืบทอดมาจากรุ่นแม่อีกที เป็นอาชีพหลักที่ช่วยจุนเจือรายจ่ายในครอบครัวทั้งหมด ทั้งค่ากินอยู่ ค่าเล่าเรียนของลูกๆ

แต่หลังจากตลาดโลตัสเข้ามาเปิด ที่ อ.พล ทำให้ตนขายของได้น้อยลง รายได้ตกไปไม่ต่ำกว่า 50% ก่อนจะมีตลาดโลตัส สินค้าลงแผงแต่ละครั้ง จะขายหมดภายใน 1 สัปดาห์ แต่หลังจากตลาดโลตัสเปิด ต้องใช้เวลากว่า 1 เดือนถึงขายของหมด

นางจิราพรยอมรับว่า ผู้ค้ารายย่อยในตลาดสดอย่างพวกเธอต้องกัดฟันทน เพราะไม่อย่างนั้นก็ไม่มีรายได้เข้าบ้านเลย ไหนจะต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ ไหนจะต้องส่งเสียลูกๆ เรียนหนังสือ และไม่สามารถแข่งขันสู้ราคากับเทสโก้ โลตัส ได้ ต้นทุนสินค้าเขาต่ำกว่าเรามาก โดยเฉพาะจำพวก น้ำปลา น้ำตาล นมข้นหวาน กะปิ ซอส ซีอิ๊ว ฯลฯ แผงเช่าในตลาดสดจะขายแทบไม่ออก ลูกค้าประจำหันไปซื้อที่โลตัสกันหมด ตอนนี้เหลือสินค้าไม่กี่ชนิดที่ยังพอขายได้บ้าง เช่น ลูกชิ้น และอาหารสดอื่นๆ

ตลอดร่วม 2 ปีที่ตลาดโลตัส เปิดขาย มีคนเข้ามาจับจ่ายซื้อของที่ตลาดสดแห่งนี้ ลดลงอย่างน่าใจหาย พ่อค้าแม่ค้าที่เช่าแผงอยู่ในตลาดสดเทศบาลเมืองพล ขายของได้น้อยลง แทบจะไม่คุ้มค่าเช่า เจ้าของแผงนับสิบรายที่ทนกับภาวะทุนหายกำไรหดไม่ไหว ได้เลิกขายไปหาอาชีพอื่นทำแทน ทำให้ทุกวันนี้แผงลอยในตลาดสดเทศบาลเมืองพล ว่างลงไปมาก

“เป็นไปไม่ได้เลยที่พ่อค้า-แม่ค้าในเมืองพลจะสู้กับโลตัสเขาได้ เราสั่งสินค้ามาขายจำนวนไม่มาก แต่โลตัสเขามีเงินสั่งซื้อสินค้ามหาศาล ได้ต้นทุนสินค้าต่ำ ขายของได้ถูกกว่า ทั้งได้เปรียบเป็นห้างต่างชาติ ทันสมัย มีห้องแอร์เย็นฉ่ำ ลูกค้าเลือกไปซื้อของในตลาดโลตัส แทนที่จะอุดหนุนกับคนท้องถิ่นด้วยกัน ใจหายเหมือนกันที่พ่อค้าแม่ค้าในตลาดหลายๆแผง เห็นหน้าคุ้นตากันทุกวัน จู่ๆก็ปิดแผงหายไปเลย ส่วนของฉันก็ไม่รู้จะทนสู้ต่อได้สักกี่น้ำ” นางจิราพร กล่าวอย่างหมดหวัง และเล่าต่ออีกว่า

ตอนนี้ได้มีข่าวลือหนาหูว่าห้างบิ๊กซีกำลังวางแผนเข้ามาเปิดสาขาที่อำเภอพล ลำพังแค่เทสโก้ โลตัสแห่งเดียว ก็ทำให้พ่อค้า-แม่ค้าในเมืองพล แทบจะทำมาหากินไม่ได้แล้ว หากเพิ่มบิ๊กซี ขึ้นมาอีก อาชีพนี้ก็คงหมดกัน แล้วจะให้พวกตนไปทำมาหากินอะไร ห่วงแต่ลูกยังเล็ก กำลังเรียน ไม่รู้ว่าจะส่งเขาเรียนหนังสือไปได้สูงแค่ไหน ไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้าของครอบครัวตนจะเป็นอย่างไร ไม่อยากให้วันนั้นมาถึง

ชี้รุ่นลูกหมดหวังค้าขายต่อ

เช่นเดียวกับนางพรรณี บุญที อายุ 56 ปี เจ้าของร้านเงินพูลทวี ร้านโชวห่วย ภายในตลาดสดเทศบาลเมืองพล เล่าย้อนถึงบรรยากาศการค้าขายเมื่อครั้งยังไม่มีตลาดโลตัสว่า คึกคักมาก มีลูกค้าทั้งในเขตเทศบาลเมืองพล และลูกค้าจากตำบลรอบนอก เข้ามาซื้อสินค้าภายในตลาดสดเทศบาลฯกันเยอะมากแทบจะทั้งวัน

หลังจากตลาดโลตัส อ.พล เปิดไม่นาน ลูกค้าเปลี่ยนไปเดินซื้อของในตลาดโลตัสแทน ทำเอาตลาดสดเงียบมาก นานๆ จะมีลูกค้าสักรายเข้ามาซื้อของ

สินค้าอุปโภคบริโภคภายในร้านของตนยอดขายตกไปมากกว่า 30 ปีที่ค้าขายมา ไม่เคยมีช่วงไหนที่ยอดตกขนาดนี้ หากเทียบจะให้เห็นภาพชัดเจนยอดขายเดิม 10 ส่วน หลังเปิดตลาดโลตัส ยอดขายสินค้าเหลือแค่ 2 ส่วนเท่านั้น เพราะสินค้าที่ขายในร้านเงินพูลทวีมีเหมือนกับตลาดโลตัสทุกอย่าง

นางพรรณีเล่าถึงการปรับตัวว่า เธอต้องลดรายจ่ายเลิกจ้างลูกจ้างที่เคยช่วยขายของ ต้องแบ่งขายสินค้าให้เล็กลง ให้คนซื้อง่ายขึ้น แต่ก็ยังขายของไม่ดีเหมือนเดิม กว่าจะขายของได้เงิน 100 บาทนั้น ใช้เวลานานมาก สินค้าหลายๆ ชนิดที่โชว์อยู่ในร้าน ถูกฝุ่นเกาะต้องหมั่นปัดเช็ด รายได้และผลกำไร ไม่พอค่าใช้จ่ายในครอบครัว ต้องกินอยู่อย่างประหยัด บางครั้งต้องยอมกู้เงินดอกมาหมุนในร้านและผ่อนจ่ายหนี้ประจำหลายรายการ ขณะนี้ตนเป็นหนี้กว่า 5 ล้านบาทแล้ว

“ฉันเคยวางแผนว่า เมื่อแก่ตัวลงจะยกร้านให้ลูกๆเขาทำแทน เป็นมรดกให้เขาช่วยกันทำมาหากินเลี้ยงตัว แต่เมื่อสภาพค้าขายมันเป็นแบบนี้ ความคิดนี้คงใช้ไม่ได้แล้ว ค้าขายไม่คุ้มค่า ส่วนลูกๆ เมื่อเรียนจบแล้วคงต้องให้ไปหางานอย่างอื่นทำ หากทนไม่ไหวจริงๆร้านนี้ก็คงต้องเลิก ”

เขียงหมูโอดยอดขายหดเกินครึ่ง
ช้ำใจผู้บริหารเทศบาลไม่ยอมช่วย


ในส่วนของเขียงหมูเองก็ได้รับผลกระทบหนักไม่แพ้โชวห่วยประเภทอื่นๆ เขียงหมูที่มีอยู่ 5-6 ราย นานครั้งถึงจะมีลูกค้าเข้ามาซื้อเนื้อหมู โดยนางสุนีย์ ฝักใฝ่ขวัญ อายุ 52 ปี เจ้าของเขียงหมูรายหนึ่งเล่าว่า แต่ละวันลูกค้าเข้ามาซื้อหมูกันน้อยมาก ยอดขายตกลงน่าใจหาย เฉพาะเขียงหมูของตนนั้น ยอดขายเหลือเพียงวันละ 2 ตัว ทั้งที่ก่อนที่เมืองพลจะมีตลาดโลตัส เคยขายเนื้อหมูได้ไม่น้อยกว่าวันละ 4 ตัว

การเปิดสาขาตลาดโลตัส กระทบต่อเขียงหมูในตลาดสดเทศบาลเมืองพลสูงมาก เนื่องจากตลาดโลตัส ขายอาหารสดหลายประเภท รวมถึงเนื้อหมูสดด้วย ใช้ระบบการขนส่งที่ทันสมัย ใช้เนื้อหมูชำแหละ จาก จ.นครราชสีมา ด้วยกลยุทธ์ดัมป์ราคาเนื้อหมูต่ำกว่าเขียงหมูรายย่อย โดยราคาเนื้อแดง เขียงหมูในตลาดสดเทศบาลเมืองพลขาย 125 บาทต่อกิโลกรัมแต่ตลาดโลตัส ขายต่ำกว่าเหลือแค่กิโลกรัมละ 90-110 บาท ขึ้นอยู่กับช่วงโปรโมชัน

“ผู้ค้าเนื้อหมู ก็เหมือนคนทั่วๆ ไป ต้องกินต้องใช้จ่ายในครอบครัว รายได้ที่ตกลงไปกว่าครึ่ง แต่ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตามค่าครองชีพ ตลอดระยะเวลา 2 ปี เขียงหมูในตลาดสดแห่งนี้ต้องน้ำตาตก อดทนกัดฟันสู้ เพื่อให้เขียงหมูอยู่ต่อได้ บางรายที่ทนขาดทุนไม่ไหว ต้องตัดใจเลิกขาย เลิกเด็ดขาดไปแล้ว 2เขียง” นางสุนีย์ กล่าวด้วยความอัดอั้น

เธอเล่าต่อว่า กรณีการเปิดตลาดโลตัสที่ อ.พล พวกตนและแม่ค้ารายอื่นๆ ก็รู้ว่าจะกระทบต่อพ่อค้าแม่ค้าย่อยในพื้นที่อย่างไรบ้าง ก็ได้รวมตัวร้องเรียนขอความช่วยเหลือไปยังนายกเทศมน ตรีเทศบาลเมืองพล ซึ่งพวกเราไม่ปฏิเสธการเข้ามาของเทสโก้ โลตัส แต่ทำการค้าก็ควรมีกฎมีเกณฑ์ โดยขอแค่ให้ตลาดโลตัส ตั้งห่างจากเขตเทศบาลเมืองพล ออกไปไม่ต่ำกว่า 15 กิโลเมตร เพื่อลดผลกระทบลงบ้าง แต่การร้องทุกข์ของพวกเราถูกเมิน สภาพปัญหาก็เลยเป็นเหมือนเช่นทุกวันนี้ แล้วจะให้เราไปพึ่งใครต่อ

แนะยึดพื้นที่ อ.พล เป็นกรณีศึกษา

นายชุมพล สุภวัฒนากูล เจ้าของร้าน “มิตรมงคล” ร้านโชวห่วยที่เปิดขายมาหลายสิบปี เป็นมรดกตกทอดของครอบครัวก็ว่าได้ เปิดเผยว่า ตั้งแต่ ตลาดโลตัส เปิดบริการเมื่อต้นปี 2550 ได้ส่งผลกระทบต่อร้านค้าของชำครอบคลุมทั้งเขตเทศบาลฯ เฉพาะร้านมิตรมงคล มียอดขายสินค้าอุปโภคบริโภค ลดลงกว่าครึ่งจากที่เคยขายได้ ลูกค้าที่เคยอุดหนุน เปลี่ยนไปเดินซื้อที่โลตัสแทน ทำให้ยอดขายร้านโชวห่วยโดยเฉลี่ยหายไปไม่ต่ำกว่า 35% จากช่วงปกติ

กลุ่มลูกค้าที่หายไปมากที่สุด คือ กลุ่มลูกค้าวัยรุ่น กลุ่มลูกค้าวัยทำงาน กลุ่มข้าราชการ ที่ชื่นชอบการเดินห้าง แอร์เย็นฉ่ำ ที่สำคัญโลตัสมีเครื่องมือตทางการลาดเหนือกว่า ชำระสินค้าด้วยบัตรเครดิต หรือผ่อนสินค้าดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งผู้ค้าย่อยท้องถิ่นไม่มี ส่วนการปรับตัวของร้านโชวห่วยขณะนี้ ได้เพิ่มสินค้าเข้ามาจำหน่ายให้หลากหลายขึ้น ทั้งปรับราคาสินค้าลงให้สามารถแข่งขันได้ แต่ก็มีข้อจำกัดต้นทุนที่ยังสูงกว่ามาก

นายชุมพลกล่าวต่อว่า ผลกระทบจากการเปิดเทสโก้โลตัส ในระดับอำเภอ เช่น กรณี อ.พล จ.ขอนแก่นนี้ กระทบขยายเป็นวงกว้าง ไม่จำกัดแค่กิจการร้านโชวห่วยเท่านั้น แต่กิจการค้ารายย่อยอื่น ทั้ง แผงค้าปลาสด ผักสด ฯลฯ ล้วนได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ผู้ค้ารายย่อยเสียเปรียบโลตัสทุกด้าน

ร้านค้าปลีกย่อยท้องถิ่นไม่สามารถแข่งขันกับผู้ค้ารายใหญ่ได้เลย ซึ่งเข้าข่ายการแข่งขันทางการค้าไม่เป็นธรรม ส่วนผลกระทบระยะยาวนั้น ไม่สามารถประเมินได้ว่า ผู้ค้ารายย่อยท้องถิ่น อ.พล จะต้องล้มเลิกกิจการอีกมากเท่าใด และที่สำคัญจะมีอาชีพร้านโชวห่วยเหล่านี้เหลืออยู่ให้ลูกหลานทำต่อไปหรือไม่

“อยากฝากเตือนกิจการค้ารายย่อยในเขตอำเภออื่นๆ ที่ยังไม่มีห้างค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่ไปเปิดสาขา ให้ศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับร้านค้าย่อยในอำเภอพลเป็นกรณีตัวอย่าง อย่างน้อยจะได้เตือนสติ รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตหากห้างยักษ์ใหญ่ไปตั้งสาขา ร่วมกันใช้ปัญญาหาทางปกป้องค้าปลีกท้องถิ่นของตนไว้ รวมพลังต่อสู้ให้เข้มแข็ง จะหวังพึ่งหน่วยงานรัฐนั้นคงหวังอะไรไม่ได้”นายชุมพลกล่าว
แผงขายสินค้าบริโภคและอาหารสด ของจิราพร ที่กำลังเลี้ยงดูลูกในวัยเรียน
นางจิราพร  สุขสนิทย์ แม่ค้าร้านขายของชำ ขายสินค้าจำพวกพริก กะปิ น้ำปลาฯลฯ
ร้านเงินพูลทวี โชวห่วยท้องถิ่นในอ.พล ได้รับผลกระทบยอดขายเหลือแค่ 2 ส่วน อีก 8 ส่วนหายหลังเปิดตลาดโลตัส
นางพรรณี บุญที เจ้าของร้านเงินพูลทวี มีสภาพเป็นหนี้สินที่ต้องกู้ยืมมาใช้จ่ายในครอบครัวและประคับประคองกิจการให้อยู่รอดได้
นางสุนีย์ ฝักใฝ่ขวัญ เจ้าของเขียงหมู ครวญยอดขายเนื้อหมูตกลงเหลือวันละ 2 ตัว จากเดิมที่เคยขายปกติได้วันละ 4 ตัว
พื้นที่เขียงหมูในตลาดสดเทศบาลเมืองพล เจ้าของเขียงหมู 2 ราย ปิดกิจการไปแล้ว
นางศศิธร เจริญ เจ้าของแผงขายหมากพลู ระบุว่ายอดขายตกจากวันละ 3,000 กว่าบาท เหลือเพียงวันละ 1,000 กว่าบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น