xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัย ม.อุบลฯ ค้นพบเซลล์สร้างพลังงานไฟฟ้าราคาถูก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 รศ.ดร.วินิช พรมอารักษ์ อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งค้นพบเซลล์สร้างพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์
อุบลราชธานี - นักวิจัยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เจ๋งค้นพบโมเลกุลจากสารอินทรีย์ใช้เคลือบวัสดุสร้างพลังไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ พร้อมจับมือบริษัทเอกชนและสำนักสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ค้นคว้านำสารที่ค้นพบมาใช้เชิงพาณิชย์ในราคาถูก

วันนี้ (18 ส.ค.) ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ลงนามการสนับสนุนการศึกษาค้นคว้าวิจัยโครงการพัฒนาเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดสีย้อมไวแสงต้นแบบ โดยใช้สารสีย้อมไวแสงชนิดใหม่ ระหว่างสำนักงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และบริษัท พรีไซซ กรีน เทคโนโลยี แอนด์เซอร์วิส จำกัด โดยบริษัทให้ทุนสนับสนุนการวิจัยการค้นพบเซลล์สีย้อมไวแสงใช้สร้างพลังงานไฟฟ้าครั้งนี้จำนวนกว่า 3 ล้านบาท และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้ทุนเพิ่มอีก 430,000 บาท

สำหรับเซลล์ชนิดย้อมสีไวแสงใช้สร้างพลังงานไฟฟ้าที่นักวิจัยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ค้นพบเป็นการแยกโมเลกุลจากสารอินทรีย์ที่มีอยู่ในพืช ซึ่งมีคุณสมบัติสามารถสร้างพลังงานไฟฟ้าให้แก่พืช เมื่อนำมาทำเป็นสารสกัดแล้วนำกลับไปเคลือบบนโลหะชนิดต่างๆ เซลล์ก็จะทำหน้าที่สร้างพลังงานไฟฟ้าให้กับโลหะ เช่น แบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ หรือแบตเตอรี่โน๊คบุคส์พลังงานแสงอาทิตย์

โดยปัจจุบันแม้มีใช้อยู่แล้วในเชิงพาณิชย์ แต่การสร้างพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แบบเก่าเป็นชนิดผ่านรอยต่อพีเอ็นของซิลิคอน ทำให้ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการผลิต ทำให้อุปกรณ์เซลล์ผลิตพลังงานไฟฟ้าโดยแสงอาทิตย์มีราคาสูงไม่เหมาะแก่การใช้งานทั่วไป

แต่สำหรับเซลล์ใช้สร้างพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ชนิดสารอินทรีย์ ที่นักวิจัยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีค้นพบครั้งนี้ เป็นเซลล์ที่ให้ประสิทธิภาพการสร้างพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ได้ใกล้เคียงกับเซลล์ชนิดรอยต่อพีเอ็มแบบเก่าได้ แต่มีกระบวนการผลิตที่ง่ายกว่า และยังมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า จึงเป็นทางเลือกในการผลิตพลังงานกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ใช้ในราคาถูกในประเทศ และสารชนิดนี้ก็ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย

รศ.ดร.วินิช พรมอารักษ์ อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งค้นพบเซลล์สร้างพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์กล่าวว่า มองให้เข้าใจกันอย่างง่ายๆ คือ คล้ายกับการสังเคราะห์แสงของพืชที่มีคลอโรฟีลเป็นตัวสร้างพลังงานแสง ก่อนปล่อยอิเล็กตรอนให้พืชไปผลิตเป็นแป้ง

หลักการการทำงานของสารชนิดนี้จะมีโมเลกุนที่สามารถรับพลังงานแสง ก่อนปล่อยอีเล็คตอน และการเคลื่อนที่ของอิเล็กตรอนก็ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้า รวมทั้งโครงสร้างของเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดนี้ ทำได้ง่าย จึงผลิตใช้ในประเทศได้ในราคาถูก

ด้าน นายวันชัย กัญมาศ รองประธานกรรมการกลุ่มบริษัท พรีไซซ กล่าวว่า ให้ความมั่นใจว่า หลังการวิจัยและนำผลการวิจัยมาใช้ในเชิงพาณิชย์จะทำให้คนไทยได้ใช้ผลิตภัณฑ์พลังงานจากแสงอาทิตย์ในราคาถูก เพราะไม่ต้องสั่งซื้ออุปกรณ์ใช้สร้างพลังงานจากต่างประเทศเหมือนปัจจุบัน
พิธีลงนามการสนับสนุนการศึกษาค้นคว้าวิจัยโครงการพัฒนาเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดสีย้อมไวแสงต้นแบบ โดยใช้สารสีย้อมไวแสงชนิดใหม่ ระหว่างสำนักงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

กำลังโหลดความคิดเห็น