xs
xsm
sm
md
lg

ม็อบชาวนาบุกศาลากลางแปดริ้วร้องรัฐบาลยืดอายุรับจำนำข้าว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - ชาวนาแปดริ้วเดือด หลังขายข้าวไม่ได้ราคา ถูกโรงสีข้าวกดขี่รับซื้อราคาต่ำ เหตุเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ไม่ทันกับห้วงเวลาของการเปิดรับจำนำ บุกชุมนุมศาลากลางยื่นหนังสือผ่านพ่อเมือง ร้องขอให้รัฐบาลต่ออายุ ขยายเวลาการรับจำนำข้าวต่อไปอีก 2 เดือน

วันนี้ (11 ส.ค.) เวลา 11.30 น. ที่บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้มีกลุ่มเกษตรกรชาวนา จาก 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.บางน้ำเปรี้ยว พนมสารคาม และคลองเขื่อน จำนวนกว่า 300 คน ได้เดินทางมารวมตัวชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาล ขยายเวลาการรับจำนำข้าวต่อไปอีกระยะ หลังสิ้นสุดโครงการรับจำนำข้าวไปเมื่อวันที่ 31 ก.ค.52 ที่ผ่านมา แต่ยังมีเกษตรกรอีกจำนวนมาก เก็บผลผลิตได้ไม่ทันกับห้วงเวลาของการเปิดรับจำนำข้าว

ในการชุมนุมได้มีตัวแทนแต่ละอำเภอขึ้นกล่าวปราศรัยโจมตีการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ และโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล พร้อมแฉถึงการถูกเอารัดเอาเปรียบจากกลุ่มนายทุนโรงสีข้าวที่เอาเปรียบชาวนา บนเวทีชั่วคราวที่ดัดแปลงจากรถยนต์บรรทุก 6 ล้อขนาดใหญ่ ติดตั้งเครื่องขายเสียง

โดยนายด๊ะเล๊าะ มังเดชะ อายุ 55 ปี อยู่บ้านเลขที่ 15/5 ม.14 ต.บางน้ำเปรี้ยว อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 14 กล่าวว่า ในการเดินทางมารวมตัวชุมนุมของชาวนาในวันนี้ เพื่อต้องการมายื่นข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาล ผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา รวม 2 ข้อ คือ ให้รัฐบาลยืดอายุการเปิดรับจำนำข้าวไปอีก 2 เดือน เนื่องจากที่ผ่านมาชาวนายังเกี่ยวข้าวได้ไม่หมด โดยเก็บเกี่ยวไปได้เพียงหนึ่งส่วน และยังเหลือข้าวอยู่ในแปลงนาอีกกว่า 2 ส่วน ที่ยังเก็บเกี่ยวไม่ทัน ก่อนหมดโครงการ

และเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ได้ในส่วนที่เหลือนำไปขายให้แก่โรงสีข้าว กลับถูกกดราคาข้าวเหลือเพียงเกวียนละ 7,000-8,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนในการผลิต และราคารับจำนำข้าวของรัฐบาลเมื่อก่อนหน้า คือ เกวียนละ 10,000 บาท และข้อ 2 คือ ต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลประกันราคาข้าว ในราคาเกวียนละ 12,000 บาท เนื่องจากที่ผ่านมา ถูกโรงสีข้าวกดราคาข้าว จากปัญหาเรื่องความชื้นของข้าว ที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ 15 เปอร์เซ็นต์จึงจะขายได้ตามราคาประกัน

แต่ชาวนาไม่สามารถทำให้ความชื้นต่ำลงตามที่รัฐบาลกำหนดได้ เนื่องจากไม่มีลานตากข้าว จึงถูกหักราคาตามความชื้นถึงเปอร์เซ็นต์ละ 150 บาท ซึ่งส่วนใหญ่ความชื้นของผลผลิตข้าวที่อยู่ในมือชาวนา จะอยู่ที่ 25-30 เปอร์เซ็นต์ จึงทำให้ถูกโรงสีกดราคา รับจำนำข้าวได้จริงอยู่ที่เกวียนละ 7,500-8,500 บาทเท่านั้น ซึ่งในการรับจำนำข้าว รัฐบาลกำหนดให้ชาวนาแต่ละรายจำนำข้าวได้เพียง 20 เกวียน แต่ชาวนาส่วนใหญ่ในพื้นที่บางน้ำเปรี้ยว จะผลิตข้าวได้รายละ 40 เกวียน จึงต้องการให้รัฐบาลเปิดสัดส่วนการรับจำนำเพิ่ม ให้แก่ชาวนาแต่ละราย สามารถจำนำข้าวได้รายละ 40 เกวียน

วันนี้จึงได้มาร่วมกันลงชื่อ เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องผ่านนายสุรพล พงษ์ทัดศิริกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ไปยังรัฐบาลให้รับทราบถึงปัญหา ความต้องการของชาวนา และช่วยแก้ไขปัญหาให้ ซึ่งหากรัฐบาลยังนิ่งเฉย ทางกลุ่มเครือข่ายชาวนาในเขตภาคกลางตอนล่าง จะนัดรวมพลกัน กีฑาทัพเข้าไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อเข้าไปเรียกร้องต่อรัฐบาลโดยตรงต่อไป

และกล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับปัญหาของเกษตรกรที่ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทันต่อการเปิดรับจำนำข้าวนั้น สาเหตุจากข้าวในท้องนายังสุกไม่ทันโครงการ ก่อนที่รัฐบาลจะประกาศเปลี่ยนแปลงนโยบายเป็นการประกันราคาข้าว ในราคาเกวียนละ 10,000 บาท ซึ่งกว่าจะผ่านขั้นตอนในการดำเนินการของทางราชการ จนสามารถดำเนินการได้จริง ข้าวก็ไม่ได้อยู่ในมือชาวนาแล้ว เพราะต้องเร่งรีบเก็บเกี่ยวผลผลิตขาย ซึ่งหากปล่อยไว้ก็จะร่วงหล่นเสียหาย เนื่องจากไม่มียุ้งฉางเก็บตุนไว้

ขณะที่ นายอิมรอน ซำสุรีย์ อายุ 63 ปี อยู่บ้านเลขที่ 27/1 ม.7 ต.สิงโตทอง อ.บางน้ำเปรี้ยว อดีตกำนันตำบลสิงโตทอง กล่าวว่า ตนเช่าที่ดินทำนากว่า 120 ไร่ แต่ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทัน กับเวลาที่ทางรัฐบาลกำหนด เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลยังไม่ชัดเจน ที่กำหนดช่วงเวลาการรับจำนำสั้น ไม่ตรงกับฤดูการในพื้นที่ รวมถึงการกำหนดราคาประกันขายข้าว และต้นทุนการผลิตของชาวนา

เมื่อก่อนหากชาวนาขายข้าวได้ในราคาเกวียนละ 7,000-8,000 บาท ก็ถือว่าขายได้ราคาดีแล้ว แต่ปัจจุบัน ชาวนากลับขาดทุน เนื่องจากราคาต้นทุนการผลิตพุ่งขึ้นสูงไปรอไว้ก่อนหน้าแล้วกว่า 2 เท่าตัว ซึ่งเมื่อก่อนปุ๋ยราคาเพียงตันละ 7-8 พันบาท ปัจจุบันขายกันอยู่ในท้องตลาดที่ราคากว่า 2 หมื่นบาท น้ำมันราคาแพงขึ้นกว่าเดิม 2 เท่า ยากำจัดศัตรูพืช และค่าแรงงานขึ้นสูงเพิ่มมากขึ้นทุกอย่าง แต่ราคาขายข้าวกับมีแนวโน้มต่ำลงอย่างต่อเนื่อง แล้วอย่างนี้ชาวนาจะอยู่กันได้อย่างไร



กำลังโหลดความคิดเห็น