กาญจนบุรี - คณะอนุกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม พร้อมคณลงตรวจสอบพื้นที่ก่อสร้าง “มูลนิธิกวงอิมสุนทรธรรม” ที่บริเวณใกล้กับสะพานแม่น้ำแคว ขณะที่ผู้บริหารโครงการพร้อมชาวบ้านกว่า 60 คน ที่สนับสนุนออกมาโวยว่าไม่บอกล่วงหน้า พร้อมตะโกนด่า “พวกเราไม่ใช่ควาย”
เมื่อเวลา 12.30 น.วันนี้ (6 ส.ค.) นายประสงค์ เอี่ยมอนันต์ ประธานคณะอนุกรรมการอนุรักษ์ธรรมชาติและศิลปกรรม ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พร้อมคณะกว่า 10 คน ได้เดินทางมาที่สถานที่ก่อสร้างมูลนิธิกวงอิม สุนทีธรรม หมู่ 3 ต.ท่ามะขาม อ.เมือง จ.กาญจนบุรี เพื่อขอดูแบบในการก่อสร้างมูลนิธิดังกล่าว แต่ได้รับการปฏิเสธจากผู้บริหารมูลนิธิฯและยังมีชาวบ้าน ต.ท่ามะขาม อีกกว่า 60 คน ที่ไม่พอใจผู้ที่คัดค้านการก่อสร้างโครงการดังกล่าวเดินทางมาที่สถานที่ก่อสร้างเพื่อให้กำลังใจกับผู้บริหารโครงการ โดยอ้างว่าถ้าก่อสร้างสำเร็จจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น
พร้อมแสดงความไม่พอใจที่คณะอนุกรรมการชุดดังกล่าว ว่า มาตรวจสอบโดยไม่บอกล่วงหน้า ซึ่งบางคนถึงกับพูดใส่หน้าคณะอนุกรรมการอย่างหยาบคาย
สำหรับคณะผู้บริหารมูลนิธิกวงอิมสุนทรธรรม ที่แสดงความไม่พอใจคณะอนุกรรมการที่มาตรวจสอบแบบก่อสร้าง มี นายสว่าง จุฬาพงษ์วนิช เป็นรองประธานมูลนิธิ นายธีรศักดิ์ นิ่มกิตติกุล ผู้จัดการโครงการก่อสร้าง นายมนู ชานนท์ ที่ปรึกษาสภาหอการค้าไทย และอดีตประธานหอการค้าจังหวัดกาญจนบุรี นายประทีป พงษ์วิทยภานุ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดกาญจนบุรี นายเหลือง ชัยวัฒน์ ประธานที่ปรึกษาชมรมนักข่าวกาญจนบุรี และชาวบ้านประมาณกว่า 60 คน ซึ่งคณะผู้บริหารมูลนิธิกวงอิมสุนทรธรรม ได้แสดงความไม่พอใจอย่างเห็นได้ชัดไม่ว่าจะเป็นคำพูดคำจาที่พูดคุยกับคณะอนุกรรมการที่มีอยู่ประมาณ 10 คน โดยไม่ให้เกียรติ จึงทำให้สถานการณ์ตึงเครียดขึ้นมา
แต่ นายประสงค์ เอี่ยมอนันต์ ประธานคณะอนุกรรมการ พยายามอธิบายให้กับคณะผู้บริหารมูลนิธิกวงอิมสุนทรธรรม และชาวบ้านให้เข้าใจถึงสาเหตุที่ต้องมาตรวจสอบข้อเท็จจริง เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากองค์กรหนึ่งว่า การก่อสร้างมูลนิธิกวงอิมสุนทรธรรม ที่อยู่ริมแม่น้ำแควใหญ่ ได้ก่อสร้างอาคารสูงทำให้บดบังทัศนียภาพของสะพานข้ามแม่น้ำแคว ซึ่งกำลังจะขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ซึ่งช่วงที่กำลังอธิบายก็มีเสียงพูดแซกเข้ามาตลอด จึงทำให้ไม่สามารถอธิบายต่อได้
จากนั้น นายเหลือง ชัยวัฒน์ ที่อ้างตัวว่าเป็นประธานที่ปรึกษาชมรมนักข่าวจังหวัดกาญจนบุรี ได้พูดจาอย่างด้วยอารมณ์ฉุนเฉียว และให้คณะอนุกรรมการ แนะนำตัวเองว่าเป็นใครมาจากไหนเนื่องจากไม่เคยรู้จัก และถามว่ามาจากหน่วยงานรัฐหรือว่ามาจากหน่วยงานเอกชน และถ้าอยากได้แบบการก่อสร้างก็ให้ไปขอที่ อบต.เอาเอง พร้อมกับพูดว่า “ผมก็มีการศึกษาพอๆ กับพวกคุณนั่นแหละ พวกผมไม่ใช่ควายนะจะบอกให้”
นายประสงค์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า การเดินทางมาของคณะอนุกรรมการฯครั้งนี้ เนื่องจากว่าได้รับการร้องเรียนจากองค์กรภาคประชาชน ให้มาตรวจสอบการก่อสร้างอาคารมูลนิธิกวงอิมสุนทรธรรม ว่าเหมาะสมหรือไม่ และตนได้ขอให้ผู้บริหารมูลนิธินำแบบการก่อสร้างมาดู แต่ก็ไม่ได้รับความร่วมมือแต่อย่างใด ซึ่งการมาครั้งนี้เราไม่ได้มากลั่นแกล้งใครทั้งสิ้น เพราะเรามีหน้าที่หาข้อเท็จจริง และเรายังไม่ได้ข้อมูลจากฝ่ายผู้บริหารมูลนิธิเลย ทำให้ไม่สามารถหาข้อเท็จจริงได้ ซึ่งข้อมูลดังกล่าว ทางคณะอนุกรรมการมีเพียงข้อมูลของฝ่ายคัดค้านเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการทุกคนมีความเป็นกลางเสมอมา ถึงแม้จะโดนต่อว่าอย่างไรตนและคณะก็ไม่ถือโกรธแต่อย่างใด
ด้าน นายธีรศักดิ์ นิ่มกิตติกุล ผู้จัดการโครงการก่อสร้างกล่าวกรณีระบุว่า อาคารที่ก่อสร้างบดบังทัศนียภาพว่า เป็นอาคารศาสนสถาน ตัวอาคารทำแบบ คสล.สูง 3 ชั้น สูงไม่เกิน 18 เมตร ตามที่กฎหมายกำหนด
นอกจากนี้ ยังมีการก่อสร้างองค์กวงอิมสูง 18 เมตร สลักด้วยหินหยกขาวจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน รวม 88 ชิ้น น้ำหนักรวม 220 ตัน ยืนบนฐาน 8 เหลี่ยม ก่อนก่อสร้าง ผู้บริหาร อบต.ท่ามะขาม และผู้เกี่ยวข้องได้มีความเป็นห่วงเรื่องการบดบังทัศนียภาพและการทำลายธรรมชาติ มูลนิธิก็เห็นด้วย เนื่องจากในพื้นที่ 12 ไร่ ทำเป็นพื้นที่สีเขียวไปด้วยต้นไม้และดอกไม้ต่างๆ เกือบ 6 ไร่ ก็ไม่เคยตัดต้นไม้ต้นใดทิ้ง เนื่องจากทราบดีที่จุดดังกล่าวเคยเป็นสุสานของทหารในสมัยสงครามโลกและขั้นตอนในการขออนุญาตก่อสร้าง ก็ดำเนินการถูกต้องหมด มีหลักฐานเอกสารครบถ้วนทุกอย่าง ยืนยันได้ว่า เราไม่ได้ทำนอกเหนือกฎหมายที่กำหนดแน่นอน
ด้าน พ.อ.(พิเศษ) สุรินทร์ จันทร์เพียร ประธานสภาวัฒนธรรม กล่าวว่า การก่อสร้างอาคารมูลนิธิกวงอิมสุนทรธรรม ตนและชาวกาญจนบุรี และองค์กรหลายองค์กร ได้คัดค้านการก่อสร้างอาคารดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง เพราะเห็นว่าไม่เหมาะสมที่จะมาสร้างอาคารปฏิบัติธรรมซึ่งอยู่ใกล้กับสะพานข้ามแม่น้ำแคว หลายองค์กร หลายกลุ่มบุคคลในจังหวัดกาญจนบุรี ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ไม่เห็นด้วยกับการทำลายภูมิทัศน์ ซึ่งก่อสร้างที่จะขึ้นมายืนตระหง่าน เทียบเคียงกับสะพานประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ ที่เกิดขึ้นด้วยกำลังความทุกข์ยากของเชลยศึกที่ถูกกวาดต้อนมาจากนาๆประเทศ เชลยศึกที่ต้องเส้นสังเวยชีวิตกับความโหดร้ายของป่าดงดิบ สัตว์ร้าย ไข้ป่า ทรพิษ อหิวาต์ และอื่นๆ ประกอบกับความโหดร้านของทหารญี่ปุ่น ซึ่งในสมัยนั้นคนจีนเขาเรียกว่า “บ่วงสีเกี้ยว” หรือสะพานหมื่นศพ