xs
xsm
sm
md
lg

“ทิวาพร ศรีวรกุล” กับศูนย์การเรียนรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สวนกสิกรรม
กาญจนบุรี.....
 
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติท่ามะขาม ตั้งอยู่ที่ หมู่ 2 ต.ท่ามะขาม อ.เมือง จ.กาญจนบุรี มีเนื้อที่ 14 ไร่ พื้นที่ทั้งหมดถูกจัดสรรให้เป็นแหล่งเรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติได้อย่างลงตัวโดยมีฐานเรียนรู้ต่างๆภายในศูนย์ทั้งหมด 8 ฐาน คือ 1.ฐานเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง 2.ฐานหมูหลุม 3.ฐานสมุนไพรไล่แมลง 4.ฐานน้ำยาเอนกประสงค์ แชมพู-สบู่ธรรมชาติ 5.ฐานเกษตรธรรมชาติ 6.ฐานปุ๋ยชีวภาพ 7.ฐานน้ำส้มควันไม้ และ 8.ฐานก๊าซชีวภาพ

ทิวาพร ศรีวรกุล ผู้อำนวยการศูนย์กสิกรรมธรรมชาติท่ามะขาม กล่าวว่า ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติท่ามะขาม เป็นศูนย์การเรียนรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ มีการค้นคว้าวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการกสิกรรม การเลี้ยงสัตว์ การแพทย์เภสัชกรรม การพลังงานทางเลือก และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมอย่างรู้คุณค่า โดยนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ควบคู่ไปกับการถ่ายทอดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงใช้แก่ชุมชนและบุคคลทั่วไปเพื่อนำไปใช้กับการดำเนินชีวิต

รวมถึงความพยายามในการยกระดับและพัฒนางานเกษตรกรรมยั่งยืนของเกษตรรายย่อย และองค์กรชุมชนของภาคตะวันตก ให้เป็นที่เข้มแข็งและเป็นที่ยอมรับของสังคมวงกว้าง ดังจะเห็นได้ว่า ในปัจจุบันมีกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่หันมาให้ความสนใจและสนับสนุนงานด้านเกษตรกรรมยั่งยืนทั้งภาครัฐและเอกชน

ทิวาพร กล่าวต่อว่า ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติท่ามะขาม ดำเนินงานภายใต้เครือข่ายป่าต้นน้ำจังหวัดกาญจนบุรี ที่ทำงานด้านอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในจังหวัดกาญจนบุรี เป็นศูนย์ปราชญ์ชาวบ้าน ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เป็นศูนย์ถ่ายทอดองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำเกษตรอินทรีย์แบบธรรมชาติหรือหลายฝ่ายเรียกเกษตรกรรมยั่งยืน โดยยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

สำหรับการฝึกอบรมทางศูนย์จะเน้นด้านการปฏิบัติ มีการลงแปลงสาธิตจริง เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรม ได้ฝึกปฏิบัติจริงจนสามารถนำความรู้กลับไปทำเองได้ที่บ้าน ด้านแนวคิดการพึ่งตนเองอย่างเป็นระบบ และมองการเชื่อมโยงของปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง การแลกเปลี่ยนความรู้กับคนที่มาฝึกอบรม การเห็นปัญหาและอุปสรรค การวิเคราะห์สรุปปัญหาและอุปสรรคต่างๆให้ชัดเจน เพื่อจะได้เห็นแนวทางมนการแก้ไข รวมถึงการเชื่อมโยงการขยายเครือข่าย การทำเกษตรแบบกสิกรรมธรรมชาติอย่างยั่งยืนซึ่งเป็นอีกทางเลือกของความอยู่รอดของชุมชน

ผู้อำนวยการศูนย์กสิกรรมธรรมชาติท่ามะขาม กล่าวต่อไปว่า สำหรับเป้าหมายนั้น ทางศูนย์ของเราจะมุ่งเน้นการเสริมสร้างศักยภาพคนในชุมชนเมืองและชนบท ให้รู้จักพึ่งพิงตนเองเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันกับสิ่งรุกเร้าภายนอกให้ชุมชนสามารถดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ เป็นแนวทางนำไปใช้ปฏิบัติได้อย่างเหมาะสมตามภูมินิเวศและสภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นพื้นฐานในการพัฒนาศักยภาพของตนเองครอบครัวและชุมชน

วัตถุประสงค์ 1.เพื่อเป็นศูนย์ค้นคว้าวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการกสิกรรม การเพาะเลี้ยงสัตว์ การพลังงาน การแพทย์เภสัชกรรม การจัดการสิ่งแวดล้อมโดยใช้ภูมิปัญญาตะวันออก 2.เพื่อเป็นศูนย์ฝึกอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ เพื่อการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน โดยยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงให้กับเกษตรกร นักเรียน ข้าราชการ และประชาชน 3.เพื่อเป็นศูนย์ถ่ายทอดประจำจังหวัด

4.เพื่อเป็นสถานที่จัดทำเป็นแปลงสาธิต ในเรื่องของการนำเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้กับสมุนไพร พืชผักสวนครัว และเป็นแปลงตัวอย่างให้กับกลุ่มเกษตรกรในท้องถิ่น และเกษตรกรอื่นๆ ที่สนใจ 5.เพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้กับผู้สนใจทางด้านการเกษตรกรรมแบบธรรมชาติเข้ามาแวะชมและแสวงหาความรู้ 6.เพื่อเป็นศูนย์ฝึกอบรมที่เปิดให้กับหน่วยงาน องค์กรภาครัฐ และภาคเอกชนต่างๆ ที่สนใจใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรที่ถูกต้อง

ทิวาพร กล่าวท้ายสุดว่า ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติท่ามะขาม มีเนื้อที่ทั้งหมด 14 ไร่ มีฐานเรียนรู้ทั้งหมด 8 ฐาน คือ

1.ฐานเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง จะชี้แนวทาง “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” เน้นการผลิตให้เพียงพอกับความต้องการบริโภคในครัวเรือนเป็นหลัก เหลือจากการบริโภคจึงคิดถึงการผลิตเพื่อการค้า โดยสร้างสิ่งอุปโภคบริโภคในที่ดินของตนเอง เช่น ข้าว น้ำปลา ไก่ ผลไม้ พืชผัก เป็นต้น หากเป็นชุมชนเมือง ส่วนใหญ่ก็จะมีปัญหาเรื่องการจัดการขยะ ที่ต้องเริ่มตั้งแต่ครอบครัวและขยายสู่ชุมชน ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้หมายถึงรายได้อย่างเดียว หากยังรวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของชุมชนบนพื้นฐานของภูมิปัญญาท้องถิ่น

2.ฐานเกษตรธรรมชาติ คือการทำเกษตรแบบประณีต เน้นการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด โดยยึดหลักธรรมชาติที่ระบบนิเวศเกื้อกูลกัน การแบ่งที่ดินปลูกพืชหลายชนิด ตั้งแต่ต้นไม้ระดับเรือนยอดสูง ประเภทไม้ใช้สอย รองลงมาเป็นเรือนยอดไม้ชั้นกลาง ประเภทผลไม้ เช่น ขนุน มะม่วง ส้อมโอ เป็นต้น จนถึงชั้นเรี่ยดินประเภทผักใบต่างๆ จนถึงประเภทใต้ดิน เช่น มัน กระชาย ขมิ้น ซึ่งทั้งหมดสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน และเจริญงอกงามดี เพราะใบไม้ที่ทับถมจะแปรสภาพเป็นปุ๋ยบำรุงดิน ทำให้ดินดีและชุ่มชื้น ส่วนผลผลิตสามารถสร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอกว่าพืชเชิงเดี่ยว

3.ฐานหมูหลุม เป็นการเลี้ยงหมู โดยการขุดหลุมให้ลึกประมาณ 50-90 ซ.ม.จากนั้นใส่แกลบ รำ ขี้เลื่อย หรือใบไม้ ลงไปภายในหลุม โดยไม่ต้องเทพื้นปูนซีเมนต์ ซึ่งหมูจะชอบมากเพราะสามารถคุ้ยเขี่ยได้ ทำให้หมูไม่เครียด เมื่อหมูถ่ายมูลหรือปัสสาวะลงพื้น จากนั้นให้ใช้น้ำหมักชีวภาพ ผสมกับน้ำราดลงไปทุกๆ 2-3 วัน ต่อครั้ง เพื่อเป็นการช่วยย่อยสลายมูลหมูทำให้ไม่มีกลิ่นเหม็น และหมูที่เลี้ยงไว้ในหลุม จะมีร่างกายที่แข็งแรง โตไว น้ำหนักดี เนื้อแน่น ไขมันน้อย เนื่องจากได้ออกกำลังกายอยู่ตลอดเวลา และสามารถจำหน่ายหมูได้ในระยะเวลา 4 เดือน

จากนั้นก็ตักเอาแกลบที่เทลงไปในหลุมไปทำปุ๋ยใส่ต้นไม้ได้เลย สำหรับการเลี้ยงหมูหลุมนั้น สามารถทำได้ทุกครัวเรือนตามศักยภาพ เนื่องจากอาหารที่ใช้เลี้ยงหมูนั้นส่วนใหญ่จะใช้ผักที่มีในแปลงปลูก อีกทั้งการเลี้ยงหมูหลุมจะเน้นการต้มอาหารผสมผักให้กิน แทนการให้หัวอาหารหรืออาหารเม็ดล้วนๆแบบฟาร์มใหญ่ๆ เพราะถ้าเลี้ยงแบบนั้น ต้องเสียเงินซื้อหัวอาหาร ทำให้ต้นทุนสูงทำให้ขาดทุนได้

ส่วนการเลี้ยงหมูหลุมสามารถรักษาพยาบาลได้ง่ายถ้าเกิดป่วยเป็นโรคพยาธิ โดยใช้บอระเพ็ด ฟ้าทลายโจร เสลดพังพอน ใบฝรั่งหรือใบขี้เหล็กให้หมูกินเพื่อรักษาโรคดังกล่าว นอกจากนั้นยังมียาดองสมุนไพรผสมน้ำให้หมูกินเพื่อเจริญอาหารอีกด้วย

4.ฐานปุ๋ยชีวภาพ สมุนไพรไล่แมลง ได้จากมูลสัตว์ในคอกหมูที่นำมาเป็นปุ๋ยใส่ต้นไม้ จะช่วยลดต้นทุนปุ๋ยเคมี ส่วนน้ำหมักชีวภาพทำจากเศษผัก เศษอาหาร เศษผลไม้ ใช้กับพืชผักผลไม้ช่วงเจริญเติบโต หรือช่วงออกดอก และเป็นการเร่งรากของต้นไม้ให้แข็งแรง สำหรับการไล่แมลงและหนอนในแปลงผัก ให้ใชวัตถุดิบที่มีอยู่ตามท้องถิ่น เช่น ฝักคูณ นำมาไล่หนอนได้ หรือตะไคร้ ข่า ขมิ้น ผสมเสือหมอบ สะเดา เพื่อลดการใช้สารเคมี นำมากันเชื้อราได้

5.ฐานก๊าซชีวภาพ เป็นฐานเรียนรู้ที่มีประโยชน์มาก เพราะสามารถผลิตก๊าซหุงต้มได้เองโดยใช้มูลสัตว์เป็นเชื้อหมัก จากนั้นเติมอาหารเลี้ยงจุลินทรีย์ ก็จะได้ก๊าซหุงต้มไว้ใช้ในครัวเรือน เป็นการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้เป็นอย่างดี

6.ฐานน้ำส้มควันไม้ เป็นการนำเอาเศษกิ่งไม้ เข้าเตาเผาน้ำส้มควันไม้ โดยใช้ถังขนาด 200 ลิตรเป็นตัวเตา อาศัยความร้อนไล่ความชื้นในเนื้อไม้ที่อยู่ในเตา ทำให้ไม้กลายเป็นถ่านหรือที่เรียกว่า กระบวนการคาร์บอนไนเซชั่น ด้วยโครงสร้างที่มีลักษณะปิด ทำให้ควบคุมอากาศได้จึงไม่มีการลุกติดไฟ ทำให้เนื้อถ่านมีคุณภาพ และผลพลอยได้คือ น้ำส้มควันไม้ ที่นำไปใช้เป็นสารไล่แมง ฆ่าเชื้อรา ป้องกันแมลงวางไข่ ฉีดป้องกันมด ปลวก ด้านปศุสัตว์ สามารถลดกลิ่น ป้องกันแมลงในฟาร์ม หรือนำไปห่นถังขยะเพื่อป้องกันแมลงวัน ที่สำคัญเป็นการปลอดภัยจากสารเคมี

7.ฐานการแปรรูปอาหาร และอาหารสัตว์ เป็นฐานการเรียนรู้วิธีการทำแหนมปลา ปลาส้ม ขนมกุยไช และข้าวเกรียบฟักทอง และเรียนรู้การผลิตอาหารให้กับสัตว์ โดยใช้วัสดุที่มีอยู่ในชุมชน

8.ฐานน้ำยาอเนกประสงค์ เป็นการนำเปลือกมะนาว มะกรูด สับปะรด เศษมะขามเปียก ของเปรี้ยวทุกชนิด นำมาหมักกับน้ำตาลทรายแดง ให้ได้ระยะ แล้วนำน้ำหมักจุลินทรีย์มาผสมกับน้ำด่าง (ขี้เถ้าแช่น้ำสะอาดประมาณ 15 วัน) เกลือ และ N70 ตามสูตร จะได้น้ำยาอเนกประสงค์ไว้ใช้ ทั้งล้างจาน ซักผ้า ถูบ้าน ล้างห้องน้ำ และใช้เป็นยาสระผม เป็นต้น

สำหรับศูนย์กสิกรรมธรรมชาติท่ามะขาม ได้เปิดอบรมโครงการต้นกล้าอาชีพ ได้ฝึกอบรมอาชีพให้กับประชาชนในรุ่นสุดท้ายของปี 2552 ผู้ที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ทาง www.tonkla-archeep.com หมายเลขโทรศัพท์ 08-1857-2500, 08-6328-7847, 0-3462-4281 และสำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 10-16 สิงหาคม 2552 เพื่อเข้ารับการฝึกอบรมในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ 1111
นางทิวาพร ศรีวรกุล พาคณะเดินชมฐานเรียนรู้ต่างๆ
คณะเดินชมไร่ฟักข้าว
ผู้เข้าฝึกอบรมฝึกทำนำยาชีวภาพ
นางทิวาพร ศรีวรกุล บรรยายปัญหาหนี้สินกลุ่มเกษตรให้คณะได้ทราบ
ศ.ดร.กนก วงษ์ตะหง่าน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี บรรยายให้ผู้เข้าร่วมอบรมรับฟัง
นายเริงศักดิ์ มหาวินิจฉัยมนตรี ผวจ.กาญจนบุรี บรรยายให้ผู้เข้าอบรมรับฟัง
นางทิวาพร ศรีวรกุล ถ่ายรูปหมู่กับคณะ
หมูหลุม

กำลังโหลดความคิดเห็น