ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ไข้เลือดออกคร่าชีวิต นศ.พยาบาลชาวนราธิวาส ที่โคราช เผย เป็นนักศึกษาโครงการแก้ปัญหาขาดแคลนพยาบาลในพื้นที่ 3 จ.ชายแดนใต้ เข้ารักษาที่ รพ.มหาราชนครราชสีมา ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค.อาการทรุดหนัก เลือดออกมากเกิดภาวะช็อก และไตวาย เสียชีวิตเช้านี้ ยันแพทย์ให้การรักษาอย่างเต็มที่ ด้าน สสจ.โคราชเผยพบผู้ป่วยไข้เลือดออก 196 รายเสียชีวิตแล้ว 2 ราย
วันนี้ (31 ก.ค.) นพ.วีรศักดิ์ เกียรติผดุงกุล รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เปิดเผยว่า เช้าวันนี้ (31 ก.ค.) นักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 3 ของวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนครราชสีมา ตั้งอยู่ภายในโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา ซึ่งป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก เข้ารักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เมื่อวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา ด้วยอาการไข้สูงช็อกเสียเลือดมากคนไข้ไม่รู้สึกตัว แพทย์ให้การรักษาอย่างเต็มที่โดยให้เกล็ดเลือดทำให้คนไข้มีอาการดีขึ้น รู้สึกตัวไม่มีอาการช็อก
ในวันถัดมากลับมีเลือดออกมากอีกครั้ง และคนไข้เกิดภาวะช็อกอีกรอบ แพทย์ได้ให้ยาช่วยให้เลือดแข็งตัวจำนวน 4 ชุด แต่อาการไม่ดีขึ้น และมีภาวะไตวาย ตับไม่ทำงาน และมีโรคแทรกซ้อนหลายอย่างจนทำให้คนไข้เสียชีวิตเมื่อเช้าที่ผ่านมา
“คณะแพทย์ทุกคนเสียใจกับการสูญเสียครั้งนี้ และทางโรงพยาบาลได้ให้การช่วยเหลือและนำศพนักศึกษาพยาบาลดังกล่าวไปส่งยังบ้านเกิดที่ จ.นราธิวาส เพื่อบำเพ็ญกุศลตามหลักของศาสนาต่อไป” นพ.วีรศักดิ์ กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีเพื่อนของนักศึกษาคนดังกล่าวเข้ามารักษาพร้อมกัน ซึ่งผลการตรวจเลือดไม่พบว่าเป็นไข้เลือดออก ขณะนี้อาการปลอดภัยดีไม่น่าเป็นห่วง แต่แพทย์ยังคงให้พักรักษาตัวอยู่ที่ รพ.มหาราชนครราชสีมาต่อไปจนกว่าจะหายเป็นปกติ
ด้าน นพ.วิชัย ขัตติยะวิทยากุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า สถานการณ์ไข้เลือดออกของจังหวัดนครราชสีมาว่า ล่าสุด วันนี้ (31 ก.ค.) มีนักศึกษาพยาบาลจาก จ.นราธิวาส อายุ 21 ปี ซึ่งเป็นนักเรียนพยาบาลในโครงการแก้ไขปัญหาขาดแคลนพยาบาลในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล ซึ่งมาศึกษาที่วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จ.นครราชสีมา เสียชีวิตเป็นรายที่ 2 ของ จ.นครราชสีมา ในปีนี้ ซึ่งรายแรกเป็นเด็กใน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา
ส่วนจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกของจ.นครราชสีมาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 31 ก.ค.2552 นี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 196 ราย เสียชีวิต 2 ราย ขณะนี้ได้ให้นโยบายแก่บุคคลากรของกระทรวงสาธารณสุขให้เพิ่มมาตรการคุมเข้มในการกำจัดลูกน้ำยุง และฉีดพ่นยาในพื้นที่ที่พบการระบาดอย่างน้อย 3 รอบ
“ในส่วนของวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ได้ดำเนินการฉีดพ่นสารเคมีกำจัดยุงไปครบทั้ง 3 รอบแล้ว และปรับสภาพแวดล้อมที่เป็นมุมอับ และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเรียบร้อยแล้ว” นพ.วิชัย กล่าว