อุบลราชธานี-ชาวบ้านจังหวัดอุบลราชธานี รวมตัวจัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ผลกระทบจากโครงการพัฒนาใหญ่ๆของรัฐ มักสร้างความแตกแยกในชุมชน วาดวิมานหรูในอากาศ สุดท้ายชาวบ้านยังยากจนดักดานเช่นเดิม ด้าน “นพ.นิรันดร์” กก.สิทธิฯชี้ ส.ส. ส.ว.เป็นแค่ตัวแทน “แต่ไม่ใช่ตัวเรา”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่มูลนิธิประชาสังคมจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับกลุ่มสหอาสา อ.เขมราฐ และชุมชนบ้านดอนงิ้ว ต.นาตาล อ.นาตาล จ.อุบลราชธานี จัดเวทีเสวนา “สิทธิชุมชนกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ” โดยมีตัวแทนชุมชนจาก อ.นาตาล อ.เขมราฐ อ.โพธิ์ไทร อ.น้ำยืน เข้าร่วมรับฟังประมาณ 300 คน
สำหรับผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ น.ส.เปรมฤดี ดาวเรือง จากมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ อาจารย์กิ่งกาญจน์ สำนวนเย็น จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นายสมเกียรติ พ้นภัย ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล และนายวีระชัย ขันบุตรศรี รองประธานกลุ่มสหอาสา อ.เขมราฐ ดำเนินการเสวนาโดยนายสุชัย เจริญมุขยนันท
นายวีระชัย ขันบุตรศรี รองประธานกลุ่มสหอาสากล่าวว่า ขณะนี้ชาวบ้านกังวลเรื่องการสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม ที่ ต.โพธิ์ไทร อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เป็นอย่างมาก เพราะมีผลกระทบต่อที่ทำกินของชาวบ้านที่ไม่มีเอกสารสิทธิ และชาวบ้านได้แตกแยกเป็น 2 ฝ่าย คือ ชาวบ้านที่เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน ถึงวันนี้ยังไม่มีใครเข้ามาชี้แจงผลกระทบอย่างจริงจัง สิ่งที่ชุมชนต้องการมากคือข้อมูลที่ครบถ้วน เพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้อง สำหรับโครงการสร้างเขื่อนแห่งนี้
ด้าน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ เน้นถึง “สิทธิชุมชน” คืออำนาจอันชอบธรรมของประชาชนส่วนรวม โดยเลือกผู้แทน ส.ส. สว.ไปเป็นตัวแทน แต่ไม่ใช่ตัวจริง เพราะตัวจริงคือตัวเรา การสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม ตามกฎหมายต้องผ่านชาวบ้านและผ่านสภา “มาวันนี้ ไม่ได้มาต้านการสร้างเขื่อน แต่มาบอกให้ชาวบ้านรู้ว่า เรามีสิทธิในการรับรู้ว่าเขาจะมาทำอะไรในบ้านของเรา และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย” นพ.นิรันดร์กล่าว
สำหรับนายสมเกียรติ พ้นภัย ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูลเล่าว่า ตนเองและพี่น้องได้รับความเจ็บปวด โดยผ่านเหตุการณ์ทั้งเลือดและน้ำตามามากมาย จึงมาเล่าประสบการณ์จริงให้ชาวบ้านรู้ว่า ภาครัฐล้วนแล้วแต่โกหกทั้งสิ้น ก่อนสร้างเขื่อนมีรถแห่ประกาศบอกว่า ต่อไปชาวบ้านจะได้ใช้ไฟฟ้าฟรี ใช้น้ำประปาฟรี จนถึงวันนี้ยังไม่เคยได้ใช้ไฟฟรี แถมยังขึ้นค่า FT อยู่เรื่อยๆ สำหรับการมีงานทำเงินเดือนสูงๆ ทุกวันนี้ชาวบ้านก็ยังอดอยากเหมือนเดิม ระดับน้ำท่วมก็ผิดปกติ ปริมาณไฟฟ้าที่เขื่อนผลิตได้ก็ไม่ถูก จะมีปลาให้จับเยอะขึ้นล้วนเป็นเรื่องโกหก
“ขณะนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้เงินในการดูแลกำนันผู้ใหญ่บ้านจนเป็นพวกเขาทั้งหมด ตนต่อสู้มาตั้งแต่ยังไม่มีกฎหมายสิทธิชุมชนเหมือนทุกวันนี้ จึงอยากให้ชาวบ้านคิดให้ดีก่อนตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งลงไป สิ่งสำคัญควรรีบเก็บข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติที่นี่ให้ละเอียดว่า เราได้ประโยชน์อะไรจากริมโขงบ้าง ก่อนที่มันจะสูญหายไป” แกนนำชาวบ้านปากมูลกล่าวเตือนเรื่องผลกระทบอย่างห่วงใย
ด้านอาจารย์กิ่งกาญจน์ สำนวนเย็น อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เสนอว่า ผู้นำท้องถิ่นอาทิ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ควรนึกถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตมากกว่าทำถนนหนทาง หรือพัฒนาด้านวัตถุอย่างเดียว ชาวบ้านต้องรู้จักสิทธิตนเอง อย่างน้อยก็คือการแสดงออกด้านการพูดว่า “เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับนโยบายของภาครัฐ”