ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - หวัดใหญ่ 2009 คร่าชีวิตหญิงวัย 59 ปี ชาวพิมาย เป็นรายที่ 2 ของจังหวัด เผยมีโรคประจำตัวเพียบ ทั้งเบาหวาน ความดันสูง ไตวายเรื้อรัง และอ้วน ด้านรอง ผอ.รพ.มหาราช ระบุมีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่พักรักษาอยู่ที่ รพ.อีก 14 ราย อาการหนักอยู่ห้องไอซียู 3 ราย เตือนผู้มีโรคร้ายประจำตัวเรื้อรังเลี่ยงสถานที่แออัด คนมาก และห้ามเข้าใกล้คนป่วยเป็นไข้หวัดทุกชนิด
วันนี้ (28 ก.ค.) เมื่อเวลา 12.00 น. นพ.วีรศักดิ์ เกียรติผดุงกุล รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เปิดเผยถึงผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ได้เข้ามาตรวจพักรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา ว่าล่าสุดขณะนี้มีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่เข้ามารักษาอยู่ในโรงพยาบาลได้เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย ซึ่งเป็นรายที่ 2 ของจังหวัดนครราชสีมา
ผู้ป่วยที่เสียชีวิตเป็นหญิง อายุ 59 ปีชาว อ.พิมาย จ.นครราชสีมา มีโรคประจำตัว คือ โรคเบาหวาน ความดันสูง ไตวายเรื้อรัง และอ้วน ถูกส่งตัวมาจากโรงพยาบาลพิมาย อ.พิมาย เข้ารักษาที่ห้องไอซียูโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา อยู่ประมาณ 5 วัน ก่อนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา
สำหรับที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ขณะนี้ยังมีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 2009 นอนพักรักษาตัวอยู่จำนวน 14 ราย ในจำนวนนี้มีอาการหนักอยู่ที่ห้องไอซียูจำนวน 3 ราย แพทย์ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และไม่ต้องตื่นตระหนกมากจนเกินไป เพราะโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 สามารถป้องกันและรักษาหายได้ ซึ่งผู้เสียชีวิตของ จ.นครราชสีมาทั้ง 2 ราย ล้วนมีโรคเรื้อรังประจำตัวรุมเร้าหลายโรค และร่างกายไม่แข็งแรง
ฉะนั้น ประชาชนที่รู้ตัวว่าตัวเองเป็นโรคร้ายเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคมะเร็ง เบาหวาน ความดันสูง โรคปอด และโรคไต รวมทั้งอ้วน ให้ระมัดระวังป้องกันตัวเองเป็นพิเศษ สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ต้องเข้าไปในที่ชุมชนมีคนหนาแน่น อากาศถ่ายเทไม่สะดวก ล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงสถานที่เสี่ยงต่อการติดโรค เช่น โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ ร้านเกม และไม่ควรเข้าใกล้ผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัดทุกชนิด
“ล่าสุด โรงพยาบาลรัฐและสถานพยาบาลในเขตเมืองที่มีแพทย์ประจำในจังหวัดนครราชสีมาทุกแห่งได้ปรับกลยุทธ์การรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 โดยหากสงสัยป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ให้แพทย์สั่งจ่ายยาโอเซลทามิเวียร์ให้คนไข้ได้ทันที โดยไม่ต้องรอผลการตรวจยืนยันจากห้องปฏิบัติการ เพราะจะทำให้การรักษาผู้ป่วยไม่ทันท่วงทีหรือช้าเกินไป” นพ.วีรศักดิ์ กล่าว