xs
xsm
sm
md
lg

พัทยาส้มหล่น รัฐบาลยุ่นให้งบ 17 ล้านศึกษารีไซเคิลน้ำเสีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.วิษณุ พลายานนท์ ประธานกลุ่มยุทธศาสตร์
ศูนย์ข่าวศรีราชา-เมืองพัทยาส้มหล่น หลังรัฐบาลญี่ปุ่นหนุนงบ 17 ล้านบาท ให้ศึกษาระบบรีไซเคิลน้ำเสียให้เป็นน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปา แก้ไขปัญหาน้ำดิบขาดแคลน ขณะที่หลายหน่วยงานยังติงปัญหาความรู้สึกประชาชน

วันนี้ (25 ก.ค. 52) ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา นายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษานายกเมืองพัทยา และคณะกรรมการที่ปรึกษายุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองพัทยาอย่างยั่งยืน กลุ่มที่ 1 เป็นครั้งที่ 3 ทั้งนี้เพื่อติดตามแผนการดำเนิน การพิจารณาโครงการพัฒนาเมืองพัทยาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการรถรางไฟฟ้า โครงการพัฒนาระบบน้ำดิบเพื่อการผลิตน้ำประปาเป็นต้น

นายอิทธิพล กล่าวว่าปัจจุบันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัด 2009 ในพื้นที่เมืองพัทยานั้น พบว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ เนื่องจากมีการเฝ้าระวังและควบคุมปัญหาอย่างใกล้ชิดจึงทำให้จำนวนของผู้ติดเชื้อลดลง และไม่มีการติดเชื้อเป็นกลุ่มใหญ่ จะมีเพียงผู้ติดเชื้อบางรายซึ่งก็ได้ทำการรักษาอย่างใกล้ชิดจนพบว่าไม่มีอาการที่รุนแรงมากนัก ซึ่งกรณีดังกล่าวส่งผลให้สถานการณ์ทางการท่องเที่ยวดีขึ้นตามลำดับ

นอกจากนี้ในส่วนของเมืองพัทยาก็พยายามในการแก้ไขปัญหาด้านภาพลักษณ์และส่งเสริมการตลาด การท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ก็ได้รับผลตอบรับจากหลายส่วนที่จะจัดงานในระดับนานาชาติที่เมืองพัทยาเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมของสมาคมเศรษฐกิจไทย-จีน ที่จะนำกลุ่มนักธุรกิจรายใหญ่ระดับชาติของจีน ที่มีทรัพย์สินการลง ทุนส่วนตัวรายละไม่ต่ำกว่า 100 ล้านดอลลาร์ จำนวนกว่า 300 คน มาจัดงานที่เมืองพัทยา รวมไปถึงการกำหนดให้พื้นที่เมืองพัทยาเป็นสถานที่ในการจัดประชุมรัฐสภาอาเซียน ในระหว่างวันที่ 2-8 สิงหาคมนี้อีกด้วย

นายอิทธิพล กล่าวต่อไปว่าในส่วนของการพัฒนาเมืองพัทยาโดยเฉพาะระบบการขนส่งมวลชน หรือโครงการรถรางไฟฟ้า หรือโมโนเรล ที่จะจัดทำนั้น ปัจจุบันมีความคืบหน้าไปมาก โดยขณะนี้กำลังอยู่ขั้นตอนของการการพิจารณาข้อสัญญาหรือ TOR สำหรับการว่าจ้าง และคณะ กรรมการ”กำหนดราคากลาง ได้เห็นชอบร่างสุดท้ายไปแล้ว ยังเหลือเพียงอยู่ในระหว่างการจัดทำเอกสารเพื่อขออนุมัติการประกวดราคาจ้างที่ปรึกษา โครงการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นเพื่อทำรถไฟฟ้ารอบเมืองพัทยา คาดว่าจะใช้เวลาในการจัดหาที่ปรึกษาประมาณ 1 เดือน

ทางด้าน ดร.วิษณุ พลายานนท์ ประธานกลุ่มยุทธศาสตร์ กล่าวว่าขณะที่แผนการพัฒนาเมืองพัทยานั้น ปัจจุบันต้องถือว่าเมืองพัทยาโชคดีที่ได้รับการพิจารณาการสนับสนุนงบประมาณช่วยเหลือจาก กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม หรือ METI (Ministry of Economy, Trade and Industry) จากประเทศญี่ปุ่น ที่สนับสนุนงบประมาณจำนวน 5 แสนเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 17 ล้านบาท ให้กับเมืองพัทยา ซึ่งถือเป็นโครงการความช่วยเหลือระหว่างประเทศโครงการเดียวที่รัฐบาลญี่ปุ่นมอบให้กับประเทศไทย เพื่อจัดทำโครงการศึกษาการ Recycle ของน้ำเสียให้เป็นน้ำดิบเพื่อการผลิตน้ำประปา หลังพบว่าที่ผ่านมาเมืองพัทยาประสบภาวะขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภคเป็นอย่างมาก จนส่งผลกระทบต่อสภาพเป็นอยู่ของประชาชนและธุรกิจการท่อง เที่ยว จึงมีการนำเสนอแนวคิดในการนำน้ำดิบที่มาจากการบำบัดของโรงบำบัดน้ำเสียเมืองพัทยาในอัตราส่วนกว่า 1 แสน ลบ.ม.ต่อวัน เพื่อนำมาใช้เป็นน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาต่อไป

ปัจจุบันทาง METI ได้จัดสรรงบมาให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และกำลังจะทำการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญมาทำการศึกษาในระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ศกหน้า จากนั้นก็จะได้นำผลการศึกษามาตรวจดูผลดี-ผลเสีย ก่อนที่จะนำเสนอต่อสภาเมืองพัทยาเพื่อขอความเห็น ชอบ จากนั้นจึงจะได้จัดให้มีการทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังเสียงสนับสนุนจากประชาชน รวมทั้งการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการดำเนินการต่อไปในอนาคต

ทางด้านนายสิทธิภาพ เมืองคุ้ม ปลัดเมืองพัทยา กล่าวว่าเมืองพัทยามีความต้องการน้ำดิบเพื่อการผลิตน้ำประปามาเป็นเวลานานแล้ว และการทำ Recycle น้ำเสียเป็นน้ำดิบเพื่อส่งต่อเข้าสู่สายการผลิตน้ำประปานั้นก็เป็นแนวคิดที่เมืองพัทยาได้ริเริ่มมาก่อน แต่สิ่งที่สำคัญคือการยอมรับจากภาคประชาชนในคุณภาพของน้ำที่ผ่านมาจากการ Recycle น้ำเสียให้เป็นน้ำดิบเพื่อการผลิตน้ำประปาเท่านั้น

ส่วนนายปรีชา อุกะโชค กรรมการที่ปรึกษา กล่าวเสริมว่า METI ให้ข้อคิดเห็นในเรื่องของการศึกษาน้ำเสียกลับเป็นน้ำดิบให้ได้ต้องมีรายละเอียดที่ชัดเจนในเรื่องเหล่านี้คือ 1.การรับรองหลักประกันเป็นเอกสารชัดเจนเมื่อดำเนินการแล้วคุณภาพของนำดิบนั้นมีความปลอดภัยขนาดไหน 2.การยอมรับการใช้น้ำประปาที่ผ่านการ Recycle ของน้ำเสียของประชาชนในเรื่องความมั่น ใจในคุณภาพของน้ำ และ 3.การจัดหาแหล่งน้ำดิบในเรื่องปริมาณที่ได้และค่าใช้จ่ายที่ถูกที่สุด ในอนาคตต้องมีการนำเสียมาบำบัดเป็นน้ำประปาต้องซื้อหรือไม่ ใช้เวลาในการยอมรับของประชาชนผู้บริโภค ถ้าเมืองพัทยาเริ่มได้ก็จะเป็นแห่งแรกที่จะเป็นประโยชน์ต่อที่อื่นๆทั่วประเทศต่อไป

นายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา กล่าวทิ้งท้ายว่าแนวทางความต้องการน้ำประปาเป็นไปในแนวทางเดียวกัน แต่เรื่องที่กังวลคือเรื่องทัศนคติ การศึกษาของ METI เป็นการศึกษาในเรื่องระบบการปรับปรุงคุณภาพน้ำซึ่งทางเมืองพัทยาได้เคยทำการศึกษามาแล้ว และหากในอนาคตสามารถจะสร้างโรงผลิตน้ำประปาโดยใช้งบประมาณของ METI ได้ก็คงจะมีประโยชน์อย่างสูงสุด ซึ่งก็คงจะได้มีการหารือร่วมกันต่อไป
นายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา

กำลังโหลดความคิดเห็น