ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - สสจ.โคราช ย้ำเชื้อที่นำมาผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่โรงงาน อ.ปากช่อง นครราชสีมา เป็นเชื้อตายไม่อันตราย และไม่แพร่กระจาย วอน ปชช.ชาวโคราชอย่าตื่นตระหนก แต่ควรภาคภูมิใจ ที่ได้เป็นแหล่งผลิตวัคซีนช่วยให้คนไทยทั้งประเทศมีภูมิต้านทานโรคหวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เตรียมส่งทีม จนท.ลงพื้นที่ทำความเข้าใจ ปชช.ชี้ เป็นผลประโยชน์คนไทยทุกคนไม่น่าเอาการเมืองมายุ่งเกี่ยว
วันนี้ (21 ก.ค.) นพ.วิชัย ขัตติยวิทยากุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นครราชสีมา เปิดเผยถึงกรณีที่องค์การเภสัชกรรม และองค์การอาหารและยา (อย.) จะใช้สถานที่ผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่สำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์ กองวัคซีนและเซรัม อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ทำให้ประชาชนชาวอำเภอปากช่องเตรียมคัดค้าน หวั่นเชื้อโรคแพร่กระจาย ว่า เชื้อที่นำมาผลิตนั้นเป็นชนิดแห้ง เป็นเชื้อตายไม่เป็นอันตราย และการนำเชื้อดังกล่าวมา ก็เพื่อมาสร้างภูมิต้านทานให้กับประชาชนคนในประเทศ ความจริงน่าจะชื่นชมทีมงานของกระทรวงสาธารณสุขที่คิดการณ์ไกล
ทั้งนี้ หากจะตั้งโรงงานผลิตวัคซีนขึ้นมาใหม่ก็คงต้องรออีกนาน แต่โรงงานผลิตวัคซีนที่ อ.ปากช่อง เป็นสถานที่ผลิตวัคซีนมานานแล้ว เพียงแต่จะปรับมาเป็นการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เท่านั้น ฉะนั้นประชาชนต้องช่วยกันให้มีการพัฒนาผลิตวัคซีนนี้เกิดขึ้นมา
ในส่วนการดำเนินการเกี่ยวกับการผลิตวัคซีนนั้น บุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขต้องมีระบบการควบคุมคุณภาพ และความปลอดภัยให้ดีที่สุดอยู่แล้ว ไม่ต้องห่วงว่าจะมีเชื้อออกมาแพร่กระจายสู่คนในท้องถิ่น ขอให้มั่นใจได้ เพราะทุกขั้นตอนดูแลอย่างเต็มที่
“พวกเราชาวโคราชน่าจะภูมิใจด้วยซ้ำว่า วัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ผลิตอยู่ในจังหวัดของเราหรือผลิตในประเทศของเราได้และสามารถนำไปช่วยเหลือประชาชนคนไทยได้ทั้งประเทศ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจอย่างมาก ไม่ใช่เป็นโรงงานมาสร้างมลพิษหรือนำเชื้อโรคมาแพร่ แต่เป็นการมาสร้างภูมิต้านทานให้ประชาชน บางประเทศไม่สามารถผลิตเองได้ต้องหาซื้อจากที่อื่นด้วยราคาแพง แต่ประเทศไทยเราสามารถทำเองได้ก็จะทำให้เราประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้มาก ประเทศที่เจริญและพัฒนามากกว่าเรา ก็ไม่มีใครออกมาประท้วง และเขากลับภูมิใจเสียอีก” นพ.วิชัย กล่าว
นพ.วิชัย กล่าวอีกว่า ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา จะจัดส่งทีมงานเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เพื่อทำความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชน ไม่ให้เกิดความสับสน โดยเฉพาะ อาสาสมัครสาธารณสุขชุมชน (อสม.) เป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับชาวบ้านจะเป็นตัวแทนของสาธารณสุขพูดคุยทำความเข้าใจให้กับชาวบ้านได้เป็นอย่างดี
“อย่างไรก็ตาม คงต้องเข้าไปทำความเข้าใจให้ประชาชนทราบผลดี ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนคนไทย เพราะเป็นผลประโยชน์ของทุกคนไม่น่าที่จะเอาการเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้และที่ซื้อมาผลิตประมาณ 2 ล้านโดสนั้น ก็จะใช้ได้เฉพาะกลุ่มเสี่ยงประมาณ 30% ของจำนวนประชาชนทั้งหมดเท่านั้น ไม่เพียงพอที่จะใช้สำหรับประชาชนทุกคน ได้แต่ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีที่ประเทศไทยเราจะผลิตเองได้” นพ.วิชัย กล่าว