ศูนย์ข่าวศรีราชา - กองทัพเรือสหรัฐฯ นำทัพทหารเข้าร่วมกองทัพเรือไทย ฝึกผสมกะรัต 2009 เพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพให้กองทัพเรือไทย
วันนี้ (9 ก.ค.) ที่บริเณท่าเทียบเรือแหลมเทียน ฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี พลเรือโทโกมินทร์ โกมุทานนท์ รองผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ได้เดินทางมาเป็นผู้แทน พลเรือเอกกำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ พร้อมด้วย มิสเตอร์ เจมส์ เอฟ เอ็นวิเทิน (James F. Entwistlex) รองเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ร่วมเปิดการฝึกผสมกะรัต 2009 ณ ท่าเทียบเรือแหลมเทียน ฐานทัพเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ
ทั้งนี้มี พลเรือตรีไชยยศ สุนทรนารค ผู้บัญชาการกองเรือฟรีเกตที่ 2 กองทัพเรือไทย เป็นผู้อำนวยการกองอำนวยฝึก การัต 2009 และพลเรือตรีหญิง นอรา ดับเบิลยู. ไทสัน ( Nora W. Tyson) ผู้บัญชาการหน่วยส่งกำลังบำรุงภาคพื้นแปซิฟิกตะวันตก กองทัพเรือประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้อำนวยการฝึกฝ่ายสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมการเปิดฝึกผสมกะรัต 2009 ในปีนี้
รองผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ กล่าวว่า สำหรับการฝึกกะรัต 2009 ครั้งที่ 15 นี้มีการดำเนินการฝึกในระหว่างวันที่ 8-16 ก.ค.52 รวมระยะเวลา 9 วัน โดยกองทัพเรือได้มอบหมายให้ กองเรือฟริเกตที่ 2 กองเรือยุทธการ เป็นหน่วยรับผิดชอบการฝึก โดยมีพลเรือตรีไชยยศ สุนทรนารค ผู้บัญชาการกองเรือฟรีเกตที่ 2 เป็นผู้อำนวยการฝึก
ในส่วนของกำลังที่เข้าร่วมฝึกฝ่ายไทย ประกอบด้วย เรือผิวน้ำ 9 ลำ อากาศยาน 4 เครื่อง กำลังยกพลขึ้นบก พร้อมยานโจมตีสะเทินบก ชุดปฎิบัติการจิตวิทยา และชุดก่อสร้างเคลื่อนที่นาวิกโยธิน ชุดถอดทำลายอมภัณฑ์ของชุดปฏิบัติการใต้น้ำกรมสรรพาวุธทหารเรือ ชุดแพทย์เคลื่อนที่จากกรมแพทย์ทหารเรือ และชุดตรวจการณ์ทุ่นละเบิดจากหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง
ส่วนทางด้านกองกำลังฝ่ายกองทัพเรือสหรัฐฯ ประกอบไปด้วย เรือผิวน้ำ 4 ลำ อากาศยาน 2 เครื่อง กองเรือเฉพาะกิจที่ 73 (CTF 73) และหน่วยส่งกำลังบำรุงภาคพื้นแปซิฟิกตะวันตกทัพเรือสหรัฐ ชุดประดาน้ำกู้ซ่อม ชุดเตรียมทุ่นระเบิด กำลังยกพลขึ้นบกนาวิกโยธิน 270 พร้อมรถ AVV จำนวน 15 คัน และรถยานเกราะ HUMVEE ชุดรักษาความปลอดภัย ชุดเป้าฝึก และชุดก่อสร้างเคลื่อนที่
พลเรือโทโกมินทร์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการฝึกในแต่ละปี กองทัพเรือทั้ง 2 ประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ เพิ่มพูนทักษะความชำนาญขีดความสามารถ เพื่อประสิทธิภาพขององค์บุคคล และองค์ยุทธวิธีในการร่วมกันวางแผน และปฎิบัติร่วมกัน โดยเน้นการปฏิบัติการทางเรือ ได้แก่ การฝึกป้องกันภัยทางอากาศ การฝึกปราบเรือดำน้ำ
การฝึกในสาขาสงครามทุ่นระเบิด การฝึกยิงอาวุธปล่อนนำวิถีเอสปิเด ( ASPIDE ) ต่อเป้าอากาศยานไร้คนขับ ( DRONE ) และการฝึกยิงอาวุธปล่อยนำวิถีป้องกันตนเองระยะประชิด มิสทราล ( MISTRAL ) แล้วยังได้จัดโครงการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่การฝึก ประกอบด้วย ด้านการก่อสร้าง ด้านการแพทย์ และด้านความสัมพันธ์กับชุมชน ซึ่งล้วนเป็นประโยชน์ต่อกองทัพเรือในด้านการพัฒนาองค์บุคคลให้มีความรู้ความชำนาญ และเพิ่มประสบการณ์ อีกทั้งเพิ่มขีดความสามารถให้แก่กองทัพให้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย