xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯเชียงรายเซลไอเดีย-ขายลำไยสดเข้าจีนผ่านน้ำโขง-R3a

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย – ผู้ว่าฯเล็งหาช่องส่งออกลำไยสดเข้าจีนแก้ปัญหาอมตะ ทั้งผลผลิตล้น-ราคาตกต่ำ หลังการขนส่งทั้งทางเรือ (น้ำโขง) – ทางบก (ถนนR3a) สะดวกมากขึ้น แทนรออบแห้งส่งอย่างเดียว

รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า ขณะนี้เริ่มเข้าใกล้ต้นฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไยในภาคเหนือแล้ว และทุกปีที่ผ่านมาเกษตรกรผู้ปลูกมักจะประสบปัญหาเหมือนผลผลิตอื่นๆ คือเกิดภาวะล้นตลาดและราคาตกต่ำจนกลุ่มเกษตรกรต้องออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเข้าไปช่วยพยุงราคาเป็นประจำ ขณะที่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาทุกรัฐบาลพยายามหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการรับจำนำราคาหรือรับประกันราคา แต่จะใช้การปล่อยกู้ให้แก่สหกรณ์ลำไยที่เกี่ยวข้องเพื่อให้รับซื้อในราคาที่เหมาะสมเพื่อสู้กับราคาตามท้องตลาดทั่วไปที่มีราคาต่ำกว่าเล็กน้อยแทน

สำหรับปีนี้นายสุเมธ แสงนิ่มนวล ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เปิดเผยว่า คาดว่าปีนี้ผลผลิตลำไยจะออกมาเป็นจำนวนมากกว่า 50,000 ตัน ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาราคาตกต่ำและล้นตลาด รัฐบาลโดยกระทรวงที่เกี่ยวข้องจึงได้วางกรอบการดำเนินการเอาไว้แล้ว ในส่วนของจังหวัดเอง ก็คงจะใช้วิธีการเช่นเดียวกับการแก้ไขปัญหาผลผลิตลิ้นจี่ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดีรวมทั้งปรับปรุงให้มีความเหมาะสมกับพืชชนิดนั้นๆ ด้วย

ส่วนแรกจะมีการผลักดันให้หน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ช่วยกันนำออกไปจำหน่ายนอกพื้นที่จังหวัด นอกจากนี้ก็จะร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดงานภายในจังหวัด เพื่อระบายสินค้าภายในจังหวัดเองให้ได้มากที่สุด

นายสุเมธ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามลำไยยังมีความแตกต่างจากพืชชนิดอื่นๆ เพราะนิยมนำมาอบแห้งและส่งเป็นลำไยอบแห้งไปยังตลาดประเทศจีนปีละเป็นจำนวนมากด้วย แต่ปีนี้พบว่าการคมนาคมขนส่งระหว่าง จ.เชียงราย กับจีนตอนใต้ มีความสะดวกมากขึ้นทั้งทางเรือในแม่น้ำโขงและทางบกผ่านถนน R3a ดังนั้น ตนจะพยายามผลักดันในการส่งผลผลิตลำไยสดออกไปต่างประเทศเป็นครั้งแรกด้วย หากว่าได้ผลก็จะเป็นการเริ่มต้นระบายผลผลิตได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องรอการอบแห้ง ซึ่งทำให้ล่าช้าและเกิดปัญหาต่างๆ ตามมาด้วย

ด้านนายประคอง รักษ์วงศ์ นักวิชาการพาณิชย์ สำนักงานพาณิชย์ จ.เชียงราย กล่าวว่า ในปี 2552 ภาครัฐมีแนวทางในการรองรับเรื่องผลผลิตลำไยเอาไว้ 3 แนวทาง คือ การกระจายผลผลิตภายในประเทศ -การผลักดันเพื่อการส่งออก และการแปรรูป

ในส่วนของการระบายตลาดภายในประเทศ คล้ายกับผลผลิตลิ้นจี่คือการช่วยเหลือค่าขนส่งสำหรับการขนส่งลำไยไปกระจายยังต่างจังหวัดกิโลกรัมละ 2 บาท อย่างไรก็ตาม แนวทางนี้มีการปรับปรุงเล็กน้อย โดยในส่วนของลิ้นจี่จะช่วยเหลือค่าขนส่งให้กับผู้ประกอบการที่ขนส่งโดยตรง แต่ในการดำเนินการกับลำไยจะมีการจัดแบ่งส่วนช่วยเหลือนี้ไปให้แก่เกษตรกรเจ้าของลำไยด้วย

นายประคอง กล่าวอีกว่า สำหรับการผลักดันเพื่อการส่งออก จะให้สำหรับเกษตรกรที่ได้ลงทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งกรณีนี้ค่าขนส่งจะชดเชยให้สูงเป็นกิโลกรัมละ 2.50 บาท แต่ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอื่นๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย

ส่วนสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะรับซื้อจากเกษตรกร เช่น สหกรณ์ ฯลฯ คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ก็มีมาตรการในการให้กู้ดอกเบี้ยต่ำต่อไป คาดว่าด้วยมาตรการต่างๆ ทั้งหมดจะทำให้การรองรับฤดูกาลลำไยในปีนี้อย่างได้ผลต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น