xs
xsm
sm
md
lg

สกย.เปิดตลาดกลางยางพาราท้องถิ่นรอบ 2 ตัดทางพ่อค้าเร่กดราคายางภาคเหนือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิษณุโลก - สกย.เปิดประมูลยางพาราท้องถิ่นที่สองแคว ชาวสวนยางกำแพงเพชรโร่ ขนยางแผ่นร่วมประมูล ขณะที่พ่อค้าคนกลางยื่นซอง ให้ราคาดี ต่ำกว่าราคากลางหาดใหญ่ 1 บาทเศษ หลังเคยถูกกดราคา 3-4 บาท/กก. ผอ.สกย.ระบุแนวโน้มปลูกยางสูงขึ้นทุกปี เพียงแต่ผลผลิตยังไม่ออก มองอนาคตตลาดพิษณุโลกจะเป็นตลาดใหญ่ระดับ 100 ตัน

วันนี้ (24 มิ.ย.) นายสมพร ภูชฎาภิรมย์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง จังหวัดพิษณุโลก, นายทหาร รัตนากาญจน์ ผู้ช่วย สกย.ประจำ จ.พิษณุโลก และเจ้าหน้าที่ สกย.เดินทางไปเปิดตลาด ประมูลยางระดับท้องถิ่น บริเวณตลาดทรัพย์ไพรวัลย์ หมู่ 7 ต.แก่งโสภา อ.วังทอง ซึ่งนับเป็นครั้งที่สองที่มีการประมูลซื้อยางพารา จากครั้งแรกเมื่อ 4 ก.พ.52 โดยมีเกษตรกรจากจังหวัดพิษณุโลกและกำแพงเพชรนำยางแผ่น พร้อมเศษยางจำนวนมากมาขาย

ทั้งนี้ มีผู้พ่อค้าคนกลางสนใจประมูลราคายาง 3 ราย จาก จ.ระยอง อุดรและพิษณุโลก ซึ่งคราวนี้ถือว่าให้ราคายางดี โดยต่ำกว่าตลาดกลางหาดใหญ่เพียง 1 บาทเศษๆ จากราคากลางพาราแผ่นชั้น 3 (24 มิ.ย.) ที่ตลาดหาดใหญ่ 48.48 บาทต่อกิโลกรัม

เจ้าหน้าที่ สกย.เปิดซองประมูลแข่งขันประมูลยางแผ่นดิบชั้น 3 ที่ราคา 47 บาท ส่วนราคายางแผ่นดิบชั้น 4 ที่ราคา 45 และราคายางแผ่นดิบชั้น 5 ที่ราคา 43 บาทต่อกิโกกรัม โดยมียางพาราทั้งหมด 11,000 กิโลกรัม (13 ราย) คิดเป็นเงินกว่า 5 แสนบาท

นายสมพร ภูชฎาภิรมย์ ผอ.สกย.พิษณุโลก กล่าวว่า ปริมาณยางแผ่นดิบในแถบภาคเหนือตอนล่างเพิ่มขึ้นทุกปี การเปิดตลาดกลางท้องถิ่นถือว่าประสบผลสำเร็จ สามารถดึงราคายางให้สูงเทียบเท่ากับภาคใต้ ทำให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ราคาดี ไม่ต้องไปขายให้พ่อค้าที่ตระเวนกดราคารับซื้อตามสวน ซึ่งให้ราคาต่ำกว่าท้องตลาด 3-4 บาท

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าระยะแรกจะมีกลุ่มเกษตรกรรายใหญ่ๆ ที่สนใจเท่านั้น แต่เชื่อว่าอีกไม่กี่ปี สวนยางพาราที่เปิดกรีดครบทุกพื้นที่ ปริมาณยางแผ่นจะเพิ่มขึ้นถึงระดับ 100 ตัน เกษตรกรรู้จักตลาดกลางประมูลท้องถิ่น และรู้จักต่อรองราคากับพ่อค้าคนกลางได้เอง แต่ ณ วันนี้ สกย.ต้องทำหน้าที่ให้เกษตรกรดูแลผลผลิตน้ำยางให้มีคุณภาพ ตั้งแต่ออกจากสวนยางก่อน

นายสืบพงษ์ อิ่มทับ เกษตรกรชาวสวนยางพารา จังหวัดกำแพงเพชร บอกว่า ตนทราบจากชาวสวนยางด้วยกันว่า ที่ตลาดกลางทรัพย์ไพรวัลย์ สามารถนำยางมาขายได้ ตนจึงนำยางแผ่นค้างปี จำนวน 733 กิโลกรัมมาร่วมประมูลขายเป็นครั้งแรก โดยเจ้าหน้าที่ สกย.ตีคุณภาพ ชั้น 4 เนื่องจากยางแผ่นเป็นราขาว เพราะเก็บไว้นาน ทั้งนี้ตนเองทำสวนยาง มีผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 10 ตันต่อปี ทุกครั้งจะต้องรวบรวมยางแผ่นหลายเดือน ใส่รถบรรทุกไปขายที่จังหวัดระยอง ส่งผลให้ยางที่เก็บ มีเชื้อรา ขายไม่ได้ราคา เมื่อมีตลาดกลางที่พิษณุโลกก็เป็นที่น่ายินดี ตนสามารถนำยางแผ่นมาขายได้ง่าย ไม่เสียราคา

วันเดียวกันที่อาคารอเนกประสงค์ พนักงานสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดพิษณุโลกจำนวนหนึ่ง ได้เปิดอบรม การกรีดยางพารากับชาวบ้านจำนวน 30 คน ที่บ้านบัวสวรรค์ บ้านไผ่ใหญ่ หมู่ 10 ต.วังนกแอ่น อ.วังทอง จ.พิษณุโลก

นายประยุทธ เพชรเกลี้ยง พนักงาน สกย.พิษณุโลก กล่าวว่า สำนักงาน สกย.พิษณุโลกได้รับงบประมาณมาอบรมการกรีดบางแก่ชาวบ้าน เพราะที่นี่เกษตรกรปลูกยางกันหลายหมื่นไร่ ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มนายทุน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้ชาวบ้านเรียนรู้การกรีดยาง หากกรีดไม่เป็น ปลายมีดนั้นจะทำลายต้นยางที่ปลูกมากับมือ เมื่อเรียนรู้วิธีกรีดยางอย่างแท้จริง ชาวสวนยางจะยืดระยะเวลากรีดนานกว่า 20 ปีเท่ากับสร้างรายได้กับชาวสวนยางอย่างมั่นคง



กำลังโหลดความคิดเห็น