กาฬสินธุ์ - สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จังหวัดกาฬสินธุ์ จัดตั้งอาสาสมัครและผู้ประสานงานเลือกตั้ง เพื่อเตรียมพร้อมรับศึกเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะมีขึ้นในปี 2552 จำนวน 106 แห่ง ให้เกิดความโปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม
ที่ห้องประชุมสำนักงานเทศบาลตำบลนาจารย์ อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ ดร.ประสิทธิ์ คชโคตร ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประธานอบรมอาสาสมัครและผู้ประสานงานเลือกตั้ง ที่ร่วมกับสมาคมนักข่าวกาฬสินธุ์ เพื่อควบคุมและตรวจสอบการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลนาจารย์ และสมาชิกเทศบาลตำบลนาจารย์ ที่มีกำหนดขึ้นในวันที่ 27 มิ.ย.นี้ มีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ารับการอบรมอย่างพร้อมเพรียง
ดร.ประสิทธิ์ คชโคตร ประธานกกต.จังหวัดกาฬสินธุ์กล่าวว่า จากการที่องค์กรปกครองท้องถิ่นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ทั้งในระดับเทศบาลตำบล (ท.ต.) และระดับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)จะมีการเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกสภาฯ ในราวกลางเดือนมิถุนายน ถึงปลายปี 2552 รวมจำนวน 106 แห่ง ถือเป็นภาระสำคัญที่ กกต.จะต้องควบคุมการเลือกตั้ง ให้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย จึงได้ร่วมกับองค์กรเอกชนและสถาบันการศึกษา เช่น สมาคมนักข่าวกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตกาฬสินธุ์ แต่งตั้งอาสาสมัครและผู้ประสานงานเลือกตั้ง ทั้งนี้ เพื่อที่ทุกคนจะได้ร่วมกันทำหน้าที่ตรวจสอบ กำกับดูแลการเลือกตั้ง ให้เป็นไปด้วยความยุติธรรม ไม่ขัดต่อกฎระเบียบ นอกจากนี้ อาสาสมัครและผู้ประสานงาน ยังจะได้ทำหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายการเลือกตั้งที่ไปสู่ผู้สมัคร และผู้ให้การสนับสนุนผู้สมัคร
ตลอดทั้งผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ให้มีความรู้ความเข้าใจในกฎระเบียบ และขั้นตอนการเลือกตั้ง ทั้งนี้ เพื่อให้กระบวนการเลือกตั้งโปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม สามารถที่จะป้องการการทุจริตเลือกตั้ง ตลอดทั้งสามารถตรวจสอบข้อมูลหลักฐาน หากมีการร้องเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน นายสุรเดช เคราะห์ดี นายกสมาคมนักข่าวกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตระหนักในความสำคัญของการเลือกตั้งท้องถิ่นที่มีส่วนสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชุมชน และเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับนักข่าว ซึ่งสมาคมนักข่าวกาฬสินธุ์ ได้ถือภารกิจนี้เป็นงานสำคัญ ในอันที่จะร่วมมือกับ กกต.จังหวัดกาฬสินธุ์ ดำเนินการจัดตั้งอาสาสมัครและผู้ประสานการเลือกตั้ง เพื่อที่ภาคประชาชนจะได้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน
โดยหวังให้อาสาสมัครและผู้ประสานงานรู้หลักการ แนวคิด วิธีปฏิบัติ เพื่อนำไปแนะนำผู้สมัคร และสอดส่องดูแลการหาเสียง เพื่อหลีกเลี่ยงและป้องกันปัญหาทุจริตการเลือกตั้ง ทั้งนี้ เพื่อให้การเลือกตั้งดำเนินไปด้วยความสุจริต โปร่งใส ทุกคนเข้าใจในกฎกติกาโดยเฉพาะจะเป็นการแก้ปัญหาการทุจริตร้องเรียนที่ต้นเหตุได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งอาสาสมัครและผู้ประสานงานเลือกตั้ง จะจัดขึ้นในพื้นที่ที่จะมีการเลือกตั้งแห่งละประมาณ 10-16 คน โดยใช้บุคลากรนอกเขตพื้นที่ที่เลือกตั้ง โดย กกต.จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้เริ่มดำเนินการอบรม เพื่อทำความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ โดยขณะนี้ ดำเนินการอบรมเสริมความรู้ให้อาสาสมัคร และผู้ประสานงานเลือกตั้งแล้วประมาณ 50 คน