xs
xsm
sm
md
lg

ใครจะจุดเทียนนำทางดับไฟใต้ (1) : หวังอำนาจ “รัฐาธิปัตย์” ได้ไหม?!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คนร้ายอาศัยช่วงย่ำรุ่งป่วนเมืองยะลา 8 จุด พุ่งเป้าร้านค้าเอกชน ร้านอภิรักษ์เฟอร์นิเจอร์ ถูกพระเพลิงเผาเป็นจุล
รายงานชุด "ใครจะจุดเทียนนำทางดับไฟใต้" ความยาว 3 ตอนจบ

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่.....รายงาน

ท่ามกลางไฟใต้ที่นับวันภาพลักษณ์มีแต่จะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ความวาดหวังของคนไทยย่อมเล็งแลสอดส่ายสายตาหาผู้ที่จะขี่ม้าขาวมาช่วยแก้ไขวิกฤต ทว่า เมื่อมองไปยัง “รัฐาธิปัตย์” ของประเทศไทยแล้ว กลับพบว่า อำนาจสูงสุดในรัฐที่อยู่ในมือของทั้ง 3 ฝ่ายคือ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ในเวลานี้ต่างก็ถูกแต้มแต่งให้เต็มไปด้วยสีเทา มากมายไปด้วยความสับสนของผู้คน จนไม่อาจเป็นที่คาดหวังได้ว่า รัฐาธิปัตย์ของเราจะช่วยคลี่คลายปมปัญหาความไม่สงบต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้ในห้วงเวลานี้ได้อย่างไร

แม้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยจะเกิดขึ้นมายาวนานมากแล้ว ยาวนานจนสามารถสืบสาวย้อนอดีตไปได้นับร้อยๆ ปีเลยทีเดียว หลายต่อหลายครั้งสถานการณ์ความรุนแรงได้ถูกปลุกปั่นจนลุกโชนเปลวกลายเป็นวิกฤตไฟใต้ขึ้นมา แต่ทุกครั้งก็จะมีผู้ปกครองที่ใช้อำนาจรัฐาธิปัตย์ได้ห้าวหาญ และกล้าตัดสินใจประกาศใช้นโยบายหรือออกมาตรการต่างๆ ที่สอดรับกับยุคสมัยและรูปแบบของสังคมในห้วงเวลานั้น จนสามารถคลี่คลายสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นและทำให้กลับสู่ภาวะปกติได้เสมอมา

**ย้อนดูอดีตเพื่อเป็นบทเรียนของปัจจุบัน

แต่สำหรับปัญหาไฟใต้ที่ถูกน้ำมือของ “ระบอบทักษิณ” ราดน้ำมันใส่ระลอกใหม่ จนปะทุคุโชนเปลวเพลิงโหมกระหน่ำขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี 2547 และลุกลามต่อเนื่องถึงห้วงเวลานี้รวมเวลาแล้วกว่า 5 ปี ทั้งที่ความจริงแล้วก่อนการคุโชนขึ้นมาระลอกใหม่สังคมไทยเคยเชื่อกันว่าไฟใต้ในระยะนั้นน่าจะใกล้มอดดับลงไปแล้วก็ตาม

ประกอบกับทุกรัฐบาลที่เป็นกลไกหลักในการใช้อำนาจรัฐาธิปัตย์ ซึ่งได้นั่งบริหารชาติบ้านเมืองนับแต่ไฟใต้ระลอกใหม่ปะทุกคุโชนขึ้นมา ไม่ว่ารัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเอง หรือแม้แต่จะถูกยึดอำนาจโดยคณะทหาร แล้วดันตั้งรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ขึ้นมาขัดตาทัพ ก่อนที่จะระบอบทักษิณจะใช้เกมการเลือกตั้งช่วงชิงอำนาจรัฐกลับไปได้ แล้วปลุกปั้นนอมินีขึ้นมารับช่วงต่อคือ รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช กับรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งต่างก็ตกม้าตายด้วยการกระทำของฝ่ายตัว จนคณะทหารร่วมกับก๊วนนักเลือกตั้งที่แปรพักตร์มาจากระบอบทักษิณ บีบเค้นให้มีการเปลี่ยนขั้วมาเป็นรัฐบาลอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ ในเวลานี้

ทุกๆ รัฐบาลดังที่กล่าวมาต่างก็มีส่วนร่วมด้วยช่วยกัน ซึ่งได้กระทำการอันเป็นการให้เปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ไม่หวังดีที่ได้ปฏิบัติการก่อความไม่สงบขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมได้มีโอกาสฟักตัวและเดินหน้าสร้างสถานการณ์ความรุนแรงได้เข้มข้นขึ้น ชนิดที่ต้องถือว่าค่อนข้างหนักหนาสาหัสแล้วในห้วงเวลาแค่ไม่ถึง 2 เดือนที่ผ่านมา

ดังนั้น วิกฤตไฟใต้ระลอกใหม่ที่คนไทยกำลังรู้สึกว่าค่อนข้างสาหัสสากรรจ์อยู่ในขณะนี้ ผู้ที่ใช้อำนาจรัฐาธิปัตย์ อันประกอบด้วย ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ โดยเฉพาะฝ่ายแรกที่เป็นกลไกหลักของการใช้อำนาจนี้นั้น จะมีนโยบายหรือมาตรการต่างๆ ที่สอดรับกับยุดสมัยและสังคมที่เคลื่อนตัวมาจนถึงเวลานี้อย่างไร เพื่อที่จะให้สถานการณ์ความรุนแรงของไฟใต้คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น เกิดสันติภาพขึ้นมาในพื้นที่จนสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติได้ในที่สุด

นี่คือสิ่งที่สังคมไทยกำลังจับจ้องกับอย่างใจจดใจจ่อ ??!!

ก่อนจะพิจารณาว่า รัฐาธิปัตย์ของสังคมไทยในปัจจุบันสามารถเป็นความหวังที่จะช่วยคลี่คลายจนไฟใต้ระลอกใหม่ดับมอดลงไปได้หรือไม่นั้น เราลองย้อนอดีตไปดูการใช้อำนาจของรัฐาธิปัตย์ในห้วงเวลาที่ผ่านมาๆ มา เพื่อจะได้นำมาพิจารณาเป็นบทเรียนเสียก่อน โดยย้อนไปดูเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตไฟใต้ครั้งสำคัญๆ ได้ตั้งแต่สมัยที่ประเทศไทยเรายังปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เรื่อยมาจนถึงการปกครองยุคนำเข้าประชาธิปไตย แล้วนำมาประยุกต์กลายเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในเวลานี้

**3 บทเรียนจาก “องค์รัฐาธิปัตย์”

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ของกรุงรัตนโกสินทร์ ได้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้อาณาจักรสยามคือ มีจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินใหม่ โดยปรับให้เมืองไทรบุรีกับเมืองกลันตันอยู่ในความดูแลของเมืองนครศรีธรรมราช และเมืองปัตตานีกับเมืองตรังกานูอยู่ในความดูแลของเมืองสงขลา เจ้าเมืองปัตตานีไม่พอใจและได้ก่อการกบฏขึ้น

องค์รัฐาธิปัตย์ในเวลานั้นคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้มีพระบัญชาให้ยกทัพไปปราบปรามและแก้ปัญหาโดยหลัก Devine and Rule กล่าวคือ แยกอาณาจักรปัตตานีออกเป็น 7 หัวเมือง แล้วแต่งตั้งข้าราชการสยามและมลายูที่จงรักภัคดีเป็นเจ้าเมือง

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ได้ปะทุขึ้นอีก จากการที่อาณาจักรสยามจัดระเบียบบริหารราชกาลแผ่นดินใหม่ โดยพระองค์ทรงปฏิรูปการปกครองด้วยการสร้างเป็นรัฐชาติขึ้นมา เพื่อแก้ไขปัญหาการรุกรานของนักล่าอาณานิคม แล้วแบ่งการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาล ให้เจ้าเมือง ปลัดเมือง และยกกระบัตรเมือง ขึ้นตรงกับข้าหลวง เจ้าเมืองที่มีเชื้อสายมลายูไม่พอใจ โดยเฉพาะพระยาวิชิตภักดี (ตวนกูอับดุลการ์เดร์มารุดดิน) ได้ก่อการกบฏขึ้น และขอความช่วยเหลือไปยังอังกฤษว่า อาณาจักรสยามไม่ให้ความเป็นธรรมและรังแกคนไทยมุสลิม

การแก้ไขวิกฤตไฟใต้ในครั้งกระนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงส่งกองกำลังทำไปทำการปราบปรามผู้ก่อการกบฏ โดยได้มีการจับกุมพระยาวิชิตภักดี หรือตวนกูอับดุลการ์เดร์มารุดดิน พร้อมทำการถอดยศ แล้วนำไปจองจำที่ จ.พิษณุโลก

ต่อมาช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ได้ถูกทำให้เป็นวิกฤตเนื่องจากมีการประกาศให้ยุบเลิกตำแหน่งพระยาเมือง แล้วให้นำเมืองมารวมกันเป็นปัตตานี พระยาวิชิตบุรีได้ขอรับเบี้ยหวัดย้อนหลังและขอที่ดินเดิมคืน 600 แปลง แต่ไม่ได้รับการพิจารณา จึงโกรธแค้นวางแผนสังหารข้าราชการชั้นผู้ใหญ่

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแก้ไขปัญหาไฟใต้ครานั้น ด้วยการใช้วิธีปราบปราม โดยใช้ทหารจากนครศรีธรรมราช และต่อมาก็ยังได้วางหลักรัฐประศาสโนบายสำหรับการปฏิบัติราชการในมณฑลปัตตานีขึ้นมาใหม่ด้วย ดังที่รัชกาลที่ 6 ได้มีพระราชหัตถเลขา ที่ 3/38 ลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2466 ไว้ความว่า

“...ข้าราชการที่จะแต่งตั้งออกไปประจำตำแหน่งในมณฑลปัตตานี พึงเลือกเฟ้นแต่คนที่มีนิสัยซื่อสัตย์ สุจริต สงบเสงี่ยม เยือกเย็น มิใช่สักแต่ว่าส่งไปบรรจุให้เต็มตำแหน่ง หรือส่งไปเป็นการลงโทษเพราะเลว... เมื่อจะส่งไปแล้วต้องสั่งสอนชี้แจงให้รู้ลักษณะทางการอันพึงประพฤติระมัดระวัง... ผู้ใหญ่ในท้องที่พึงสอดส่อง ฝึกอบรมกันต่อๆไป ในคุณธรรมเหล่านั้นเนืองๆ ใช่แต่คอยให้พลาดพลั้งลงไปก่อน แล้วจึงจะลงโทษ...”

**บทเรียนจากยุครัฐบาลเผด็จการทหาร

ลุถึงสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม หรือช่วงหลังสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติหมาดๆ ได้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ขึ้นอีก โดยมีสาเหตุจากรัฐบาลมีนโยบายสร้างรัฐชาติให้ทันสมัย หรือสร้างชาติแบบชาตินิยมหรือรัฐนิยม โดยใช้นโยบายบีบบังคับให้ชาวไทยมุสลิมเปลี่ยนชื่อเป็นไทย ห้ามพูดภาษามลายูท้องถิ่นในการติดต่อราชการ ห้ามสอนภาษามลายูในโรงเรียน ห้ามสวมเครื่องแต่งกายมุสลิม และยกเลิกกฎหมายครอบครัวและมรดกของชาวไทยมุสลิม เป็นต้น

ในห้วงเวลานั้นในพื้นที่ชายแดนใต้ได้เกิดการต่อต้านนโยบายของรัฐบาลอย่างรุนแรง มีการเผาโรงเรียน และก่อเกิดโจรผู้ร้ายชุกชุม ต่อมาในปี พ.ศ.2488 หะยีสุหลง อับดุลการ์เดร์ (โต๊ะมีนา) ได้เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหา 7 ประการต่อรัฐบาล แต่ได้ถูกจับกุมและก็หายตัวไปในเวลาต่อมา จึงทำให้ในพื้นที่เกิดขบวนการต่อต้านรัฐบาล แล้วพัฒนาจนเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดนนับแต่นั้นเป็นต้นมา

สำหรับข้อเสนอของ หะยีสุหลง อับดุลย์กาเดร์ (โต๊ะมีนา) ยื่นต่อรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้แก่ 1. ให้รัฐบาลตั้งบุคคลที่เป็นชาวไทยมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นข้าราชการและอยู่ในตำแหน่งตลอดชีพ 2. ให้สอนศาสนามลายูในโรงเรียนของรัฐจนถึงชั้นประถมปีที่สี่ 3. หนังสือราชการต้องใช้ 2 ภาษาคือ ภาษาไทยกับภาษามลายู 4. ให้แยกผู้นับถือศาสนาอิสลามจากผู้นับถือศาสนาอื่นๆ เพื่อพิจารณาคดีชาวไทยมุสลิมต่างหาก 5. ภาษีอากรของชาวไทยมุสลิมภาคใต้ให้ใช้บำรุงในท้องถิ่นของชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น 6. ข้าราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องนับถือศาสนาอิสลาม 80% และ 7. มอบอำนาจให้คณะกรรมการอิสลามออกกฎหมายใช้ในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้

โดยวิธีแก้ไขปัญหาของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในเวลานั้นก็คือ ใช้วิธีการปราบปรามอย่างรุนแรง ต่อมายังได้ใช้นโยบายผสมผสานกลมกลืน โดยอพยพคนอีสานให้ไปตั้งหลักแหล่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ก็ได้ออกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม ให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดขึ้นมา

**บทเรียนจากยุครับบาลประชาธิปไตยครึ่งใบ

จากนั้นในช่วงปี พ.ศ.2507–2524 ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ลุกลามและขยายวงขึ้นเรื่อยๆ โดยได้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นในพื้นที่ถี่และต่อเนื่องโดยตลอด จากปัญหาธรรมดาก็พัฒนากลายเป็นวิกฤตที่ส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างกว้างขวาง ซึ่งรัฐบาลชุดต่างๆ ในห้วงเวลานั้นก็ได้พยามยามใช้วิธีการแก้ไขไปตามสภาพ

แต่วิธีการแก้ไขที่น่าสนใจเป็นพิเศษในระยะเวลานั้น ได้แก่ รัฐบาลในเวลานั้นได้ตั้งศูนย์ประสานงานปกครองจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปต.) ของกรรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยเข้าไปดูแล

หรืออย่างสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ระหว่างปี พ.ศ.2518–2519 ที่ได้เกิดเหตุร้ายแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีการเผาวางเพลิงและฆ่ากันอย่างรุนแรง รวมทั้งเกิดเหตุการณ์ที่บ้านดุซงญอใน จ.นราธิวาส รัฐบาลก็ใช้วิธีแก้ไขปัญหาด้วยการใช้กำลังทหารเข้าปราบปราม ได้ให้กำเนิดนโยบายความมั่นคงแห่งชาติเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมาเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2521 เพื่อออกมาบังคับใช้ในพื้นที่

และต่อมาในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่วิกฤตไฟใต้ยังคงลุกลามไม่หยุดยั้ง เวลานั้นรัฐบาลก็ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 8/2524 เรื่องการแก้ไขปัญหาการบริหารราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับนี้ได้มีการตั้ง 2 องค์กรบริหารในรูปแบบพิเศษในพื้นที่ขึ้นมาใหม่ ได้แก่ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กับ กองบัญชาการพลเรือนตำรวจทหารที่ 43 (พตท.43)

โดยในช่วงแรกของการเกิดขึ้นของ ศอ.บต.และ พตท.43 หรือระหว่างปี พ.ศ.2524–2539 ทั้ง 2 องค์กรนี้ยังถูกกำหนดให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายทหารคือ แม่ทัพภาคที่ 4 หรือเป็นไปในลักษณะที่รัฐบาลใช้ในโยบาย “การทหารนำการเมือง”

**บทเรียนจากยุครัฐบาลประชาธิปไตยเต็มใบ

แต่จากนั้นในสมัยรัฐบาลบรรหาร ศิลปะอาชา ในระหว่างปี พ.ศ.2539–2545 ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการปรับปรุงการบริหารราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้แยกการบริหารระหว่าง 2 องค์กรในรูแบบพิเศษนี้ออกจากกันชัดเจน โดย ศอ.บต.รับผิดชอบบริหารภาคพลเรือน และ พตท.43 รับผิดชอบด้านปฏิบัติการทางทหาร

ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจการบริหารราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งนี้เอง ได้ถือกันว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาลที่หันไปเป็นใช้นโยบายแบบ “การเมืองนำการทหาร” เป็นครั้งแรกในพื้นที่ชายแดนใต้

นอกจากนี้แล้ว ในส่วนของนโยบายความมั่นคงแห่งชาติเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ฉบับต่างๆ ที่ถูกประกาศใช้ในห้วงเวลาที่ผ่านมา ก็น่านำมาพิจารณาเป็นบทเรียนได้ไม่น้อย ประกอบด้วย นโยบายความมั่นคงฯ พ.ศ.2521 ฉบับแรก เน้นยุติสถานการณ์ความรุนแรงให้ปกติ, นโยบายความมั่นคงฯ พ.ศ.2531 ฉบับที่สอง เน้นแก้ไขปัญหาทางสังคม จิตวิทยาให้ความสำคัญกับมวลชน, นโยบายความมั่นคงฯ พ.ศ.2537 ฉบับที่สาม เน้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจการค้าควบคู่การแก้ไขปัญหาทางสังคมจิตวิทยา และนโยบายความมั่นคงฯ พ.ศ.2542–2546 ฉบับที่สี่ เน้นยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมสร้างเอกลักษณ์เฉพาะพื้นที่ ยอมรับวิถีมุสลิม หรือทฤษฎีดอกไม้หลากสีเป็นต้นทุนสำคัญทางสังคม สำหรับการแก้ไขปัญหาทางสังคมจิตวิทยาและแก้ไขปัญหาพัฒนาพื้นที่ เป็นต้น

**บทเรียนจากรัฐบาลภายใต้ระบบทักษิณ

ทว่า เมื่อปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้เดินทางมาถึงยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ระหว่างปี พ.ศ.2545-2549 มั่นใจในอำนาจที่ตนมีและใช้รูปแบบการบริหารบ้านเมืองแบบรัฐตำรวจ จึงเชื่อข้อมูลที่ฝ่ายตำรวจนำเสนอว่า กองกำลังฝ่ายตรงข้ามรัฐในพื้นที่ชายแดนใต้ได้ลดลง สถานการณ์ความรุนแรงได้กลับสู่สภาวะปกติแล้ว จึงสั่งให้มีการยุบทิ้ง ศอ.บต.และ พตท.43 แล้วให้ตำรวจเข้ามารับดูแลพื้นที่แทนฝ่ายทหาร

ความที่มากไปด้วยอหังการและมมังการของ พ.ต.ท.ทักษิณนี้เอง ส่งผลให้ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ที่เคยมีแนวโน้มใกล้จะมอบดับแล้ว กลับตั้งปะทุคุโชนขึ้นมากลายเป็นวิกฤตไฟใต้ระลอกใหม่ โดยมีจุดเริ่มจากเหตุการณ์ปล้นปืนในค่ายทหารที่ จ.นราธิวาสเมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 จากนั้นเป็นต้นมาสถานการณ์ความรุนแรงก็เลวร้ายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเป็นผลจนมาถึงช่วงปัจจุบันนี้

สำหรับวิธีแก้ไขปัญหาของระบอบทักษิณกลับเป็นไปแบบสับสนอลหม่าน มีการปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามสถานการณ์เฉพาะหน้า แต่ที่สำคัญๆ คือ ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 200/2548 ที่เหมือนเป็นการคืนอำนาจให้ฝ่ายทหาร ด้วยตั้งคณะกรรมการนโยบายเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กสชต.) เป็นองค์กรระดับนโยบาย ตามด้วยคณะกรรมการบริหารจัดการให้เป็นไปตามนโยบายและยุทธศาสตร์เสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กบชต.) ให้กำกับดูแลให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ และกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สส.จชต.) ให้เป็นองค์กรประสานการปฏิบัติในพื้นที่

ยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จึงถือได้ว่าเป็นยุคที่แกว่งเท้าเข้าไปปั่นป่วนโครงสร้างการบริหารจัดการอำนาจรัฐในพื้นที่ชายแดนใต้ แล้วเมื่อพบว่าปัญหาได้ลุกลามจนกลายเป็นวิกฤตไฟใต้ระลอกใหม่ ก็กัลป์แก้ไขด้วยท่าทีร้อนรนและยอมจำนนให้ฝ่ายทหารกลับเข้ามามีอำนาจสูงสุดในพื้นที่ เหมือเป็นการเปิดโอกาสให้แนวคิด “การทหารนำการเมือง” กลับมาครอบงำทั่วพื้นที่อีกครั้ง

ต่อมาในยุครัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่ตามมาจากการรัฐประหารของคณะทหาร ได้ฟื้นคืนชีพศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และกองบัญชาการพลเรือนตำรวจทหาร (พตท.) ขึ้นมาใหม่แล้ว แต่นโยบายในแนวทางของการทหารนำการเมืองก็ยังคงถูกสืบสานไว้ และต่อเนื่องมาจนถึงรัฐบาลนอมินีระบอบทักษิณ ทั้งรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์

แม้ในสมัยที่อำนาจรัฐพลิกขั้วตกมาอยู่ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ดำเนินมาแล้วกว่า 5 เดือนในเวลานี้ แนวทางการแก้ปัญหาไฟใต้ก็ยังแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แนวนโยบายที่พรรคประชาธิปัตย์มุ่งมั่นนำเสนอและผลักดันมาต่อเนื่องคือ “การเมืองนำการทหาร” ในเวลานี้ก็ยังคงเป็นไปได้แค่ภาพฝันของผู้คนในสังคมเท่านั้น

**หันกลับมาหาอำนาจรัฐาธิปัตย์ในเวลานี้

จากหลากหลายบทเรียนในแต่ละยุคสมัยดังกล่าว เมื่อหันกลับมามองผู้ใช้อำนาจรัฐาธิปัตย์ในปัจจุบันนี้ อันประกอบด้วย รัฐบาลที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี และมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ ในช่วงที่ยังเป็นฝ่ายค้านภาพลักษณ์ที่ได้แสดงให้สาธารณชนได้เห็นนั้น ค่อนข้างที่จะเอาจะจริงจังและใส่ใจกับการคลี่คลายวิกฤตไฟใต้ แต่เมื่อได้มีโอกาสกุมบังเหียนรัฐนาวาแล้ว ความเคลื่อนไหวต่างๆ กับดูแล้วเบาหวิวลงอย่างน่าในหาย

พรรคประชาธิปัตย์เคยประกาศไว้ว่า หากได้อำนาจรัฐแล้ว 99 วันจะทำให้วิกฤตไฟใต้คลี่คลายได้อย่างเป็นรูปธรรม จะผลักดันให้มีการเปลี่ยนนโยบายจากการทหารนำการเมือง เป็นการเมืองนำการทหาร โดยเฉพาะการออกกฎหมายยกระดับองค์กรพิเศษอย่าง ศอ.บต.ให้เป็นสำนักบริหารราชการชายแดนใต้ (สบ.ชต.) ขึ้นมารองรับ แต่ทั้งหมดกลับแทบไม่มีอะไรคืบหน้า

ไม่เพียงเท่านั้น แม้รัฐมนตรีที่วาดหวังให้กำกับดูแลไฟใต้ในสัดส่วนของพรรคก็กลายเป็นผิดฝาผิดตัว แทนที่จะเป็น นายนิพนธ์ บุญญามณี ซึ่งความอาวุโสและถึงคิวที่ควรจะได้รับโปรโมตให้นั่งตำแหน่งรัฐมนตรี โดยเฉพาะช่วงที่เป็นฝ่ายค้านถูกตั้งให้เป็น ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ของพรรคประชาธิปัตย์ (ผอ.ศอ.บต.ปชป.) อันถือเสมือนเป็นรัฐมนตรีเงาชายแดนใต้มาตลอด แต่สุดท้ายคนที่ได้รับตำแหน่งกลับกลายเป็นคู่ขัดแย้งในพรรค

ขณะที่รัฐสภาก็มีผู้เฒ่า นายชัย ชิดชอบ นั่งแท่นเป็นประธานอยู่ ซึ่งก็เป็นที่รับรู้กันว่าเป็นนอมอนีของลูกชาย นายเนวิน ชิดชอบ ผู้ที่มีชะนัฏคำพิพากษาศาลห้ามยุ่งกับการเมืองเป็นเวลา 5 ปีติดหลัง แต่ก็ยังมากพลังในการกำหนดเกมการเมือง มีอิทธิพลเหนือรัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทยที่ว่ากันว่าถือไพ่เหนือพรรคประชาธิปัตย์เสียอีก

ด้านกระบวนยุติธรรมที่มีภาพของหลายฝ่ายถูกฉายให้สาธารชนได้รับรู้ว่า มีความพยายามที่จะผลักดันให้เกิด “ความเป็นธรรม” ขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้มาต่อเนื่อง โดยเฉพาะมีการประกาศด้วยเสียงดังฟังชัดมานานแล้วว่า ได้นำหลักนิติวิทยาศาสตร์เข้าไปใช้ในพื้นที่แล้ว แต่สิ่งที่ยังคงดำเนินอยู่ในชายแดนใต้จวนจนวันนี้คือ คดีความที่เกิดขึ้นในพื้นที่มีความกระจ่างชัดให้เห็นน้อยมาก แถมหลายต่อหลายคดีกับสร้างแรงกดทับให้กับผู้คนที่นั่นเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกรณีที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐ

ดังนี้แล้ว ผู้ใช้อำนาจรัฐาธิปัตย์ในเวลานี้จะเป็นที่วาดหวังว่า จะสามารถช่วยทำให้สถานการณ์ไฟใต้คลี่คลายลงได้หรือไม่ จึงเป็นเรื่องที่คาดเดากันได้ไม่ยากนัก ??!!

(ติดตามตอน 2 : “มาร์ค-ปชป.” รัฐนาวา 5 เดือนที่เลื่อนลอย)
สภาพ รามาคาเฟ่ เป็นอีก 1 จุดที่คนร้ายทดสอบน้ำยาความมั่นคง ก่อนปะทุความรุนแรงต่อเนื่องหลังประกาศว่าสถานการณ์ไฟใต้ดีขึ้น
หลังเกิดเหตุกราดยิงมัสยิด-พระ ชาวบ้านไทยพุทธยะลายังรับเคราะห์ระเบิดถูกขว้างใส่รถโดยสารเจ็บ-ตาย
พระครูธวัชชัย ไชยหมาน พระลูกวัดวาลุการาม ถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนอากากราดยิงใส่ขณะบิณฑบาตบริเวณถนนสายท่าสาป-ดอนยาง หมู่ 5 บ้านคลองทราย ต.ยุโป อ.เมือง จ.ยะลา ได้รับบาดเจ็บสาหัส ขณะที่พระสมบัติ ศรีสุวรรณวิเชียร มรณภาพในที่เกิดเหตุ
มัสยิดอัลฟุรกอน บ้านไอร์ปาแย หมู่ 8 ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ที่กลุ่มคนร้ายไม่ทราบจำนวนบุกเข้ากราดยิงด้วยอาวุธสงครามจนมีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 10 ศพ บาดเจ็บอีกจำนวนมาก เหตุเกิดเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.52
เจ้าหน้าที่ทหาร ร้อย ร.3014 ฉก.นราธิวาส 32 คอยดูแลรักษาความปลอดภัยคณะครู และนักเรียนในโรงเรียนอย่างเข้มงวด ในภาพเป็นโรงเรียนบ้านปูตะ หมู่ 3 ต.ละหาร อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส
กำลังโหลดความคิดเห็น