xs
xsm
sm
md
lg

"สื่อ-ที่ปรึกษาองค์กรสิทธิฯ" เรียกร้องรัฐ แสดงความจริงใจ ดับไฟใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สื่อมวลชน-ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมน ไรท์ วอทช์ เรียกร้องรัฐ แสดงความจริงใจ ในการแก้ปัญหาไฟใต้ หลังเกิดเหตุกราดยิงผู้คนในมัสยิดจนมีผู้เสียชีวิต 11 ราย ระบุต้องสร้างความเข้าใจให้ชาวบ้านในพื้นที่ เพราะเกิดการปลุกปั่นจนเชื่อว่าเป็นฝีมือเจ้าหน้าที่รัฐ เผยเหตุความรุนแรงมีมาตั้งแต่สมัย "นช.แม้ว" นั่งเก้าอี้นายกฯ โจรใต้ยกระดับฆ่าผู้บริสุทธิ์ไม่เลือก



รายการ “คนในข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี-ทีวีของประชาชน ช่วงเวลา 20.30-21.30 น. วันที่ 11 มิถุนายน โดยนางสาวรัตน์ติกรณ์ จารุเกษตรวิทย์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ได้มีการร่วมวิเคราะห์ถึงเหตุการณ์ที่คนร้ายกราดยิงผู้คนภายในมัสยิดอัลฟุรกอน บ้านไอปาแย อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายสุนัย ผาสุข ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมน ไรท์ วอทช์ และนายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ อดีตบก.ศูนย์ข่าวอิศรา และบก.ข่าวการเมืองและความมั่นคง ทีวีไทย มาร่วมพูดคุย

โดยนายสุนัย กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่อ.เจาะไอร้อง ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ เพราะที่ผ่านมาก็มีการสังหารพี่น้องมุสลิมในมัสยิดมาแล้ว โดยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 2548 มีการบุกเข้าไปยิงในมัสยิด ที่อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ทำให้มีผู้รับบาดเจ็บจำนวน 2 ราย และต่อจากนั้นก็มีการบุกยิงเข้าใส่หรือขว้างระเบิด M79 และทำร้ายพี่น้องมุสลิมที่อยู่ในมัสยิดอย่างต่อเนื่อง โดยย้อนกลับไปช่วงที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์เช่นนี้มาแล้วประมาณ 9-10 ครั้ง จะเห็นได้ว่ามันเกิดขึ้นหลังจากการโจมตี ฆ่า หรือเกิดเหตุการณ์ทำร้ายคนไทยพุทธ ซึ่งจำนวน 9-10 ครั้งที่เกิดเหตุ ไม่มีความคืบหน้าในกาสอบสวนหรือการดำเนินคดีแต่อย่างใด ทำให้คนในพื้นที่ไม่รู้ว่าอะไรเกิดบ้าง แต่มีความสงสัยว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องมีส่วนรู้เห็น ทางเจ้าหน้าที่รัฐไม่น่าปล่อยให้เรื่องราวเช่นนี้เกิดขึ้น เพราะจะทำให้ชาวบ้านคิดว่าเป็นการแก้แค้น เช็คบิลคืน และเจ้าหน้าที่รัฐก็ทำเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ไม่ติดตามอะไร ชาวบ้านเลยคิดว่าเป็นการปกปิดความผิดกันเองหรือเปล่า นี่เป็นเรื่องความรู้สึกของคนในพื้นที่ เนื่องจากสถานการณ์ภาคใต้เป็นเรื่องที่อ่อนไหว เปราะบางมาก เส้นแบ่งระหว่างความจริงกับความรู้สึก และความเชื่อมันบางมาก และมีหลายประเด็นทับซ้อนกันอยู่ อย่างตอนที่พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ลงไปภาคใต้หลังเหตุการณ์กราดยิงผู้คนที่มัสยิด ก็คงจะได้รับทราบข้อมูลมาแล้วว่า เป็นฝีมือใคร แล้วใครอยู่เบื้องหลัง ซึ่งสิ่งที่พล.อ.อนุพงษ์พูดออกมาพูด มันกลับกลายเป็นว่าสร้างความรู้สึกให้แก่พี่น้องมุสลิมในพื้นที่ว่า ต้องการปกปิดอะไรกันหรือเปล่า

นายสุนัย กล่าวต่อว่า ตนอยากแนะนำว่าตั้งแต่เกิดเรื่องนี้ขึ้น อย่ามุ่งไปที่ใครผิด หรืออย่าเพิ่งไปฟันธงอะไร ตัดคนนั้นออก ตัดคนนี้ไป แต่ให้เน้นว่ารัฐจะสนับสนุนกระบวนการสอบสวนให้มีความโปร่งใสอย่างไร คือ ต้องเน้นให้การสอบสวนเดินหน้า ไม่ใช่มวยล้ม ถ้าเน้นเรื่องนี้ได้ บรรยากาศในพื้นที่จะดีขึ้น เพราะหลังเกิดเหตุการณ์นี้พี่น้องมุสลิมก็ได้แสดงความเห็นใจรัฐบาลด้วยการละหมาดขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเรียกคืนความสงบ

ส่วนกรณีที่วันนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะเร่งหาตัวผู้ก่อเหตุมาลงโทษนั้น นายเสริมสุข กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุด ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการยิงผู้คนในมัสยิด แต่คนร้ายได้ปรับเปลี่ยนวิธีการก่อเหตุ คือ ครั้งนี้เข้าไปกราดยิง ไม่บุกยิงเป็นคนๆเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 11 ราย นอกจากนี้ ในช่วงก่อนหน้านี้ ยังมีกรณีการลอบยิงครูที่อ.ระแงะ จ.นราธิวาส และอีกเหตุการณ์ที่สื่อมวลชนไม่ได้รายงานข่าว คือ การยิงคนไทยเชื้อสายอีสานที่ไปอยู่ในฟาร์มตัวอย่าง ในโครงการพระราชดำริ ซึ่งมีข่าวว่าเป็นญาติกับทหารพรานในพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านเข้าใจว่าเหตุการณ์ที่มัสยิดป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่ หรือไม่ก็เป็นฝีมือของหน่วยติดอาวุธ โดยจากการที่ตนลงพื้นที่ และได้พูดคุยกับอดีตประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ก็ได้ทราบว่า คนมุสลิมส่วนใหญ่คิดเหมือนอย่างที่มีกระแสข่าวมาว่าเป็นฝีมือเจ้าหน้าที่ เพราะถ้าเป็นฝีมือคนมุสลิมจะไม่เข้าไปทำอะไรในมัสยิดเด็ดขาด เนื่องจากผิดหลักศาสนาเหมือนเช่นคนไทยที่จะไม่เข้าไปยิงในโบสถ์ ถ้าเป็นคนที่นับถือศาสนาพุทธ นี่เป็นสิ่งที่แพร่กระจายในพื้นที่

นายเสริมสุข กล่าวต่อว่า อีกเรื่องที่ชาวบ้านพูดกันมาก คือ เรื่องเจ้าหน้าที่ทหารพรานที่รับผิดชอบในพื้นที่ ซึ่งเมื่อวานตนได้คุยกับ พล.ต.ธีรชัย นาควานิชย์ ผบ.ฉก.นราธิวาส ก็แลกเปลี่ยนความเห็นกันและถามเรื่องนี้ โดยตนได้เล่าให้ท่านฟังว่ากระแสข่าวมันออกมาเช่นนี้ ท่านก็บอกว่ารับทราบข้อมูลแล้ว และกำลังพยายามดำเนินการแก้ไขอยู่ ตนจึงแนะนำไปว่า จุดที่น่าจะทำให้เกิดความชัดเจน คือ ทำให้ข้อสงสัยที่มองว่าเจ้าหน้าทื่ทหารพรานเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องหมดไป อย่างอ.สุนัยที่ลงพื้นที่ภาคใต้มานาน คงเห็นแล้วว่าหลายครั้ง ที่มันจะเกี่ยวพันหรือมีข้อสังเกตว่าเป็นฝีมือทหารพราน แล้วก็มีคนคุยกันถึงเรื่องปลอกกระสุน เพราะในที่เกิดเหตุพบปลอกกระสุนถึง 105 ปลอก แล้วก็เป็นกระสุน M16 ที่มีการใช้งานแล้วในพื้นที่ ซึ่งวันนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้เข้าไปตรวจสอบ และยืนยันว่า กระสุนปืนที่ใช้ยิงเป็นชนิด M16 แล้วก็เป็นอาวุธที่เคยก่อเหตุในพื้นที่มาแล้ว เพราะมีวิธีการตรวจสอบตรวจสอบ ที่ทำให้รู้ว่าเป็นปอลกกระสุน หรือลักษณะที่ยิงออกมาเป็นอย่างไร

นายเสริมสุขกล่าวต่อว่า อีกข้อน่าสังเกต คือ เรื่องทหารพรานที่อยู่ในพื้นที่ เท่าที่ตรวจสอบมา ทหารพรานส่วนใหญ่จะใช้ปืนอาก้า ในขณะที่คนร้ายที่ก่อเหตุครั้งนี้ใช้อาวุธปืนชนิด M16 นี่เป็นอีกเรื่องที่ฝ่ายกองทัพพยายามจะพูดคุยและชี้แจงผ่านสื่อ ซึ่งตรงนี้ตนว่าถ้ารัฐบาลทำอะไรให้ชัดเจน มีความโปร่งใส หรือจะตั้งคณะกรรมการอิสระที่ได้รับการยอมรับขึ้นมาตรวจสอบก็ได้ เพราะจะทำให้ชาวบ้านมองว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะพอเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ชาวบ้านจะหลงเชื่อคำปลุกระดมของกลุ่มผู้ไม่หวังดี ที่ปล่อยข่าวว่าเป็นฝีมือเจ้าหน้าที่ ดังนั้น รัฐต้องเดินหน้าชี้แจงบนพื้นฐานข้อเท็จจริง

สำหรับกรณีที่รัฐบาลจะเดินหน้าตั้งคณะกรรมการอิสระหรือคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้นมาตรวจสอบเรื่องดังกล่าว นายสุนัย กล่าวว่า ตนเคยเสนอเรื่องนี้กับนายกรัฐมนตรีไปแล้วว่า ปัญหาภาคใต้มีความสลับซับซ้อนมาตั้งแต่สมัยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และเป็นเรื่องที่สะเทือนใจคนในพื้นที่ โดยเรื่องดังกล่าวมีทางออกอยู่ 2 ทาง คือ การตั้งคณะกรรมการชุดใหญ่ มาตรวจสอบกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคใต้ แล้วก็มีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาตรวจสอบประเด็นย่อย อย่างเช่น กรณีคนหาย ซ้อมทรมานคนในพื้นที่ รวมถึงเรื่องกรณีเฉพาะกิจ อาทิ การกราดมัสยิดที่เคยเกิดขึ้น ดังนั้น จึงสามารถไล่ออกมาได้เป็นสูตร เพราะในหลายประเทศที่ปัญหาความขัดแย้ง มีผลสะเทือนเกี่ยวกับเชื้อชาติ หรือความแตกต่างทางวัฒนธรรม เขาก็จะใช้สูตรนี้กัน คือ มันจะสะท้อนให้เห็นว่าถึงแม้จะหยุดปัญหาการละเมิดสิทธิไม่ได้ทันที แต่ก็แสดงออกถึงความมุ่งมั่น ความจริงใจ ว่ารัฐบาลมีความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหา ไม่ได้ถือหางข้างใดข้างหนึ่ง หรือปกป้องฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยเหตุการณ์ทางภาคใต้ต้องยอมรับว่ามันเป็นสงคราม และต้องต่อสู้ในหลายสมรภูมิ ทั้งสมรภูมิทางการทหารก็ต้องสู้กันไป แต่นี่มีเรื่องการต่อสู้ทางจิตใจเข้ามาเกี่ยวด้วย รัฐต้องหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านเชื่อมั่นในรัฐ และทำความจริงให้ปรากฏ นี่ถือเป็นประโยคทองที่รัฐจะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพราะว่าวันนี้ เมื่อช่วงบ่ายมีการแจกใบปลิวปลุกระดมอีกแล้ว ซึ่งเป็นใบปลิวที่เขียนเป็นภาษาไทย กล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่รัฐอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ทั้งหมด โดยยกตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นที่ผ่านมา โดยทางฝั่งขบวนการมองว่า เหตุการณ์ลักษณะนี้เข้าทางเขา ถ้ารัฐยังมาจับทางไม่ถูก เดินช้าไป ก็จะไปเข้าทางให้เขาปลุกระดมได้ และไม่ใช่ปลุกระดมมวลชนให้แบ่งแยกดินแดนเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการปลุกระดมให้สร้างความคิดที่ว่า สามารถเอาคืนแก้แค้นชาวไทยพุทธได้ เอาคืนเจ้าหน้าที่ได้ ยกตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นที่จ.ยะลา คนงานก่อสร้าง กำลังทำงานกันอยู่แล้ว มีคนร้ายขี่มอเตอร์ไซด์มา 2 คัน บุกเข้าไปกราดยิงใส่ แล้วโยนใบปลิวทิ้งไว้ว่า ฆ่าคนบริสุทธิ์ชาวมลายูได้ จึงมาเอาชีวิตคืน ดังนั้น รัฐจึงต้องระวังในประเด็นเหล่านี้

นายสุนัย กล่าวต่อว่า ในเรื่องการแก้แค้นเอาคืน กลุ่มผู้แบ่งแยกดินแดน เขาต้องการหาประเด็นมาสร้างความชอบธรรม ว่าที่เขาทำไปเพื่ออะไร การเอาคืนเจ้าหน้าที่รัฐเป็นอีกวิธีการหนึ่ง โดยจากการที่ตนเคยศึกษาข้อมูลกลุ่มแบ่งแยกดินแดนตั้งแต่ยุคอดีตจนถึงปัจจุบัน พบว่า ตั้งแต่สมัยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี กลุ่มแบ่งแยกดินแดนพลิกกรอบทฤษฎีใหม่หมด คือ ไม่ละเว้นผู้บริสูทธิ์ และพลเรือน คือ จากเดิมเป็นการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่อย่างเดียว แต่นี่ถ้าเป็นพลเรือน ถ้าเป็นพวกเดียวกับเจ้าหน้าที่ ก็สามารถทำร้ายได้ และที่ผ่านมา มีการสังหารพี่น้องมุสลิมในมัสยิดด้วย แต่รูปแบบไม่ใช่การกราดยิงเหมือนครั้งนี้ ซึ่งเมื่อคืนที่เกิดเรื่อง ตนได้ลงพื้นที่ไปสอบถามหาข้อมูล คนในพื้นที่บอกว่า ลักษณะการเข้าไปกราดยิงไม่น่าใช่ฝีมือของชาวมลายู

ด้านกระแสข่าวที่อ.ปณิธาน วัฒนายากร โฆษกรัฐบาล ออกมาระบุว่า ขณะนี้มีการเตรียมถังแก๊ซเพื่อใช้ก่อเหตุในพื้นที่อีก แต่ยังไม่ได้ระบุวันที่ว่าจะเป็นเมื่อไหร่ นายเสริมสุข กล่าวว่า เมื่อเช้าได้คุยกับอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดท่านหนึ่ง ได้ทราบข้อมูลว่า ทุกวันนี้เวลาก่อเหตุคนร้ายจะใช้ถังดับเพลิง ซึ่งจากกระแสข่าวที่เกิดขึ้น หากมีการใช้ถังแก๊ซจะมีความรุนแรงมากกว่าหรือ แต่สถานการณ์ก็น่าจะรุนแรงมากขึ้น โดยถ้าหากมองย้อนกลับไปในปี 2547 จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์เริ่มประทุและมียอดผู้เสียชีวิตถึง 3,600 คน จนกระทั่งถึงปลายปี 2549 ที่มีความพยายามจะสร้างความแตกแยกให้แก่คนไทยพุทธและไทยมุสลิม ที่อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี มีการก่อเหตุดักยิงผู้ใหญ่กูเฮง โดยคนร้ายแต่งกายเครื่องแบบเจ้าหน้าที่ แต่ผู้ใหญ่กูเฮง ยิงสวนกลับโดนคนร้ายเสียชีวิต สิ่งนี้ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับทราบข้อมูลว่ามีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นแล้ว หรือจะเป็นเหตุการณ์เมื่อต้นปี 2550 เกิดการยิงรถบัสและรถตู้ ที่อ.ยะหา จ.ยะลา ทำให้มีผู้โดยสารเสียชีวิตไป 8 ราย แล้วในคืนเดียวกันก็มีการยิงใส่มัสยิด ทำให้เกิดกระแสข่าวลือแพร่สะพัดว่าเป็นการแก้ไขของคนไทยพุทธ เพราะเมื่อมีเหตุเสียชีวิตของไทยพุทธ ก็จะเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ หรือจะเป็นเหตุการณ์การตัดคอเถ้าแก่โรงสี ในหมู่บ้านมุสลิม และก็มีเหตุการณ์คนร้ายเอาระเบิดไปขว้างที่ร้านน้ำชา แล้วนำคอเถ้าแก่โรงสีไปวางไว้บนถนนระหว่างทั้ง 2 หมู่บ้าน ทำให้เข้าใจว่าเป็นการแก้แค้น โชคยังดีที่ผู้นำชุมชนทั้ง 2 หมู่บ้านมีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน จึงไม่เกิดการหวาดระแวงแต่อย่างใด โดยมีการชี้แจงกับชาวบ้านว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือผู้ไม่หวังดีนอกหมู่บ้าน เหตุการณ์ดังกล่าวจึงกลับมาเป็นปกติ

นายเสริมสุข กล่าวต่อว่า เหตุการณ์ที่มัสยิดอัลฟุรกอน บ้านไอปาแย อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ก็เช่นเดียวกัน คือคนจะคิดว่าเป็นการแก้แค้นเหมือนเดิม และมีการตอบโต้ด้วยการโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐ เหล่านี้เป็นวิธีการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ไม่หวังดี โดยตนได้คุยกับผู้ว่าราชการจ.นราธิวาส ทำให้ได้ทราบว่า ขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้เพิ่มความระมัดระวัง โดยให้ผู้นำชุมชนระวังในพื้นที่ ระวังความปลอดภัยในสถานที่สำคัญ ทั้งโบสถ์ และสุเหร่า เพราะมีการประเมินว่าจะมีการสร้างความปั่นป่วนอีก

ด้านกระแสข่าวของอ.ปณิธาน นายสุนัย กล่าวว่า การก่อเหตุมีหลายรูปแบบ ทั้งคาร์บอมม์ มอเตอร์ไซด์บอมม์ โดยไม่เลือกเหยื่อว่าจะได้รับผลกระทบอย่างไร ดังนั้น เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง หากกระแสข่าวเป็นความจริง ก็ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่รัฐว่าเมื่อมีหน่วยข่าวกรองแล้ว จะมีการศักยภาพในการป้องปราม หรือต้านเหตุการณ์ความไม่สงบอย่างไร โดยสิ่งที่สำคัญ คือ ต้องได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชน เพราะถ้าหากคนร้ายจะก่อเหตุ แต่ชาวบ้านช่วยเป็นหูเป็นตา คนร้ายก็จะลงมือได้ยากมากขึ้น โดยชุมชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นชุมชนที่เหนียวแน่น คือ รู้จักกันหมด ซึ่งจากการลงพื้นทื่ หากชาวบ้านให้ความร่วมมือ การป้องปรามก็จะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อย่างเช่นจ.ยะลา ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาความไม่สงบ เพราะเจ้าหน้าที่มีการสนธิกำลังกันค่อนข้างดี ทำให้ชาวบ้านให้ความร่วมมือ โดยเมื่อเร็วๆนี้ มีคนร้ายปลอมตัวเป็นเจ้าหน้าที่แล้วขี่มอเตอร์ไซด์มาฝากไว้กับชาวบ้าน แต่ชาวบ้านเกิดความสงสัย เนื่องจากเอารถมาฝากไว้แต่ดันกระโดดขึ้นรถอีกคันหนึ่ง จึงแจ้งเจ้าหน้าที่ ปรากฏว่ามอเตอร์ไซด์คันนั้นซุกระเบิดอยู่ แต่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ทัน เพราะชาวบ้านเป็นหูเป็นตาให้ ต่อไปก็ขึ้นอยู่กับว่า จ.นราธิวาสจะทำได้อย่างจ.ยะลาหรือไม่ เพราะคนร้ายจะโยกพื้นที่ตลอด หากก่อเหตุที่นี่ไม่ได้ ก็จะไปก่อเหตุที่อื่น ส่วนที่จ.สงขลาตอนนี้ก็ดีขึ้นเยอะแล้ว มีข่าวกรองกับความร่วมมือภายในชุมชน

ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ นายสุนัย กล่าวต่อว่า ความสำเร็จในการจะได้รับความร่วมมือจากชุมชน ไม่ได้เกิดขึ้นในลักษณะที่เป็นระนาบเหมือนกันหมดทุกพื้นที่ ในบางพื้นที่พอทำได้ บางพื้นที่ทำไม่ได้เลย ขึ้นอยู่ที่เจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ด้วยว่าเป็นอย่างไร ต้องมองว่า อคติตกทอดกันมาช้านาน หากมีผู้นำหน่วย หรือผู้นำชุมชนที่ดีก็จะช่วยแก้ปัญหาได้ดีขึ้น

ขณะที่การลงพื้นที่ของผู้สื่อข่าว นายเสริมสุข กล่าวว่า หากคนแปลกหน้าเข้าไปในชุมชน ชาวบ้านก็จะรับทราบว่าเป็นคนแปลกหน้า แต่จะได้ข้อมูลที่หลากหลาย สังคมในพื้นที่จะเชื่อว่าเหตุการณ์ทั้งหมดเป็นฝืมือของเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนั้น ต้องทำการชี้แจงข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วน ต้องสร้างความชัดเจน เพราะตั้งแต่ปี 2547 มา เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถจับคนร้ายได้เลย พอไปถามชาวบ้านในพื้นที่ ก็จะได้รับคำตอบว่า เจ้าหน้าที่จะจับได้ไง ก็เป็นคนทำเอง นั่นเป็นความรู้สึกของเขา เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา มีกำลังที่ไม่ทราบฝ่ายติดอาวุธ แล้วมีการแก้แค้นเอาคืน ซึ่งทำให้สถานการณ์ต่างๆ เลวร้ายลง ขาดความสมานฉันท์ เมื่อก่อนปี 2547 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ไม่ค่อยมีปัญหา แต่ตอนนี้ต้องระวังตัวเป็นพิเศษ แต่คนร้ายมักไม่พุ่งเป้ามาที่สื่อมวลชน ส่วนใหญ่จะโดนลูกหลงมากกว่า

ส่วนที่มีคนถามว่าปัญหาไฟใต้จะเดือดกว่านี้หรือไม่ นายสุนัย กล่าวว่า ถ้าดูแนวโน้มจากกราฟ ที่ฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายความมั่นคง มาเปรียบเทียบปีที่ผ่านมาความรุนแรงในภาคใต้จะลดลง แต่ถ้าเจาะดูเป็นช่วงเวลาตั้งแต่ช่วงครึ่งปีที่แล้วจนถึงปีใหม่มีแนวลดลงก็จริง แต่จากเดือนมกราคมจนถึงปัจจุบันแผนผังกราฟข้อนข้างขึ้นและชัน

อย่างไรก็ดี ถือว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ถูกหวย เพราะช่วงเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นในยุคนายสมัคร หรือนายสมชาย ต่างก็ไม่ได้เข้าไปแก้ปัญหาดับไฟใต้เลย แถมยังมีคำพูด มีหลายประโยคที่ทำให้คนใต้เจ็บใจ จึงนับเป็นสูญญากาศที่เกิดขึ้นในภาคใต้ และอีกเหตุผลหนึ่งคือ ผู้นำไม่เดินทางลงพื้นที่ ด้วยเหตุผลที่ว่าอาจจะไม่ต้องการเสี่ยง ซึ่งตรงจุดนี้เองทำให้คนในพื้นที่รู้สึกสะเทือนใจ

"ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดไหนเข้ามาเจอสถานการณ์อย่างนี้ถือว่าถูกหวยทั้งสิ้น ขณะที่ทางฝั่งขบวนแบ่งแยกดินแดนกำลังเริ่มกลับเข้ามาแทรกแซง โดยเฉพาะใน 214 หมู่บ้านพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยในสมัยเปิดยุทธการพิทักษ์แผ่นดินใต้ ที่ทำต่อเนื่องมาเป็นเวลานานนั้น สามารถทำให้กลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนระส่ำระส่าย เพราะไม่อาจประสานงานกันไม่ได้ แต่พอมาถึงรัฐบาลชุดนี้ได้ปล่อยเกียร์ว่าง จนทำให้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบหวนคืนกลับมา ซึ่งโดยปกติเมื่อเกิดการรวมตัวกันอีกครั้งก็จะมีการประกาศตัว เพื่อแสดงศักยภาพว่าพวกตนยังมีน้ำยาอยู่ ส่วนอีกประเด็นหนึ่งดูเหมือนจะเป็นบรรทัดฐานที่ทำให้ไม่ยำเกรงต่อกฏหมาย ดังตัวอย่างจากกรณี ที่มัสยิดกรือเซะ ทางอัยการสูงสุดไม่ได้สั่งฟ้อง หรือจะเป็นคดีทนายสมชาย และคดีการละเมิดสิทธิอื่นๆ ที่ไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินคดี ตลอดจนเหตุการณ์ที่ตากใบ ซึ่งทำให้ชาวมลายูเชื้อสายมุสลิมเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจว่าเป็นพลเมืองชั้นสอง ไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ ซึ่งไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร ก็มีผลต่อทำให้เพิ่มความเกลียดชังต่อรัฐได้ทั้งสิ้น นอกจากนี้ เหตุการณ์อันเลวร้ายยังส่งผลดีต่อกระบวนการแบ่งแยกดินแดน ที่ทำให้กลุ่มดังกล่าวสามารถประกาศศักดาได้"นายสุนัย กล่าว

ส่วนกรณีการสร้างความปั่นป่วน อาจเป็นการลองของรัฐบาลชุดใหม่ หรืออาจเป็นการเพียงแค่ต้องการดิสเครดิตรัฐบาล เนื่องจากเห็นว่าที่ผ่านมารัฐบาลมีท่าทีว่าจะมีนโยบายในการบริหารประเทศทำให้ภาคใต้ดีขึ้น ซึ่งสังเกตได้จากการที่รัฐบาลประกาศนโยบาย พอบอกว่าจะทำประโยชน์อะไรให้แก่พี่น้องชาวใต้ ทำให้ชาวใต้เกิดความรู้สึกว่าอย่างน้อยก็มีรัฐบาลที่ยังคอยดูแลอยู่จึงเกิดความไว้วางใจ และสามารถซื้อใจคนใต้ได้ในระดับนึง นั่นย่อมสร้างความไม่พอใจให้แก่กลุ่มผู้ไม่หวังดี และจ้องขัดขวางการทำงานของรัฐบาล

นอกจากนี้ ยังมีการสร้างความวุ่นวายด้วยการก่อเหตุในลักษณะที่โหดเหี้ยม อาทิ การฆ่าและเผา เพื่อต้องการเสี้ยมความเกลียดชังระหว่างคน 2 กลุ่ม ทั้งชาวไทยพุทธกับมลายูมุสลิม ดังนั้น หากรัฐบาลไม่รีบลงมือปรับนโยบายให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ก็อาจนำไปสู่เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ได้ ซึ่งจะสร้างความสะเทือนขวัญอย่างมาก เช่น ฆ่าแล้วเผา หรือคาร์บอมม์

"กรณีเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นสาเหตุให้ประชาชนในพื้นที่ย้ายออกนอกพื้นที่หรือไม่ นายสุนัย กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าเมื่อไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินประชาชนก็ต้องย้ายออก ซึ่งสิ่งที่น่าตกใจ คือ ไม่ใช่แค่ชาวไทยพุทธเท่านั้นที่ย้ายออก พี่น้องมุสลิมก็ต้องย้ายออกด้วย โดยดูจากสถิติการเสียชีวิตแล้วคนมุสลิมเสียชีวิตมากกว่าคนไทยพุทธ ซึ่งอาจจะเป็นการขยับจากพื้นที่สีแดงมาเป็นสีเหลือง หรืออาจจะออกนอกจังหวัดไปเลยก็ได้"นายสุนัย กล่าว

ขณะที่กรณีการนำการเมืองมาใช้แก้ปัญหาแทนการกำลังทหาร นายเสริมสุข กล่าวว่า ตนอยากเล่าถึงเหตุการณ์ โต๊ะอิหม่ามตายจากการซ้อมของเจ้าหน้าที่ จนทุกวันนี้ยังไม่มีการนำคดีดังกล่าวขึ้นสู่ศาล ซึ่งสะท้อนให้ประชาชนเห็นว่า คำพูดที่ว่าการเมืองนำกำลังทหารในการปฏิบัติ หมายความว่าอย่างไร โดยทางออกที่ดีที่สุด คือ ต้องให้ความเป็นธรรมกับชาวไทยมุสลิม เพราะคนมุสลิมถูกกระทำเช่นนี้ เนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่รัฐตั้งข้อสงสัยว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็ควบคุมตัวแล้วเอาไปซ้อม ถ้าถามว่าการซ้อมสวนกับแนวทางการเมืองหรือไม่ ต้องขอบอกว่าแน่นอน เพราะวิธีการเมืองนำทหารนั้น ไม่ต้องใช้อะไรนอกจากกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ นอกจากนี้ ตนอยากแนะให้รัฐดำเนินการทุกอย่างให้เป็นรูปธรรม รวมทั้งควรตั้งคณะกรรมการกลาง มาเข้าร่วมตรวจสอบด้วย ซึ่งนี่เป็นหลักพื้นฐานง่ายๆ ที่สามารถเรียกความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้

เมื่อถามถึงข้อเสนอแนะควรจะมีการนำมาตรการใดมาใช้แก้ปัญหาในพื้นที่ นายเสริมสุข กล่าวว่า หากมีการ พ.ร.บ.ความมั่นคง ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐจะเป็นผู้ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยมาซ้อมไม่ได้ และถ้าหากเจ้าหน้าที่รัฐกระทำความผิดหรือกระทำเกินกว่าเหตุ ก็สามารถฟ้องร้องได้ ซึ่งถ้าหากทำได้เช่นนี้ เชื่อว่าชาวบ้านอยากให้ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง มากกว่าจะใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน หรือกฎอัยการศึก

สำหรับหน่วยงาน ศอ.บต. มีโอกาสจะเกิดขึ้นหรือไม่ นายสุนัย กล่าวว่า ถ้าหน่วยงานดังกล่าวเกิดขึ้นจริงก็จะเป็นประโยชน์ ต่อประชาชน ในการค้านอำนาจฝ่ายความมั่นคง ซึ่งขณะนี้กฎหมายที่เกิดขึ้นในภาคใต้ มีลักษณะที่ไม่สามารถถ่วงดุลอำนาจได้ในทางปฏิบัติ ซึ่งถ้าหากมี หน่วยงาน ศอ.บต. จะสร้างความเชื่อมันให้กับคนมุสลิมอย่างมาก อย่างไรก็ดีถ้าหาก ศอ.บต. มีบทบาทเหมือนยุค พล.อ.เปรม สามารถรับเรื่องร้องทุกข์ได้ตรวจสอบได้ แต่ ศอ.บต. ปัจจุบันพิกลพิการจากการออกแบบทางการเมือง โดยการเอาไปไว้ภายใต้ กอรมน เพราะสิ่งที่อยู่ต่ำกว่าไม่สามารถเอาไปตรวจสอบสิ่งที่อยู่เหนือกว่าได้

ส่วนกรณีที่มี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาแสดงความผิดหวังกับการแก้ปัญหาภาคใต้ ส่งสัญญาณอะไรถึงนายกรัฐมนตรี นายเสริมสุข กล่าวว่า คนภาคใต้ตั้งความหวังกับพรรคประชาธิปัตย์มาก เพราะพรรคดังกล่าวรู้ดีถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ถ้าหากกฎหมายที่เคยผลักดันตั้งแต่สมัยที่ยังไม่ได้เป็นรัฐบาล ไม่สามารถเสนอผ่านครมได้ ก็จะสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวทางการเมืองของรัฐบาล
นายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์
นายสุนัย ผาสุข
กำลังโหลดความคิดเห็น