ศูนย์ข่าวศรีราชา-กองทัพเรือไทย ส่งเรือหลวงปัตตานีพร้อมกำลังพลกว่า 100 นาย พร้อมผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดเขตชายทะเล 4 จังหวัด สื่อมวลชน โชว์ธงราชนาวี กระชับสัมพันธ์ทัพเรือไทย กับทัพเรือสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ฝ่าอุปสรรคคลื่นลม พายุฝน นาน 42 ชั่วโมง เกือบ 2 วัน 2 คืน ระยะทาง 630 ไมล์ทะเล ถึงท่าเทียบเรือไซ่ง่อน โฮจิมินห์ซิตี้ ผู้แทนกลาโหม ทัพบก ทัพเรือ กระทรวงต่างประเทศ กงสุลใหญ่ ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือ และทหารบก และคณะกรรมการประชาชน ให้การต้อนรับอบอุ่น
จากกรณีที่รัฐบาลได้อนุมัติให้กองทัพเรือ โดยทัพเรือภาคที่ 1 อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี จัดกำลังพล และเรือหลวงปัตตานี ซึ่งมี น.ท.สาทิพ จิตนาวา ผู้บังคับการเรือหลวงปัตตานี เดินทางไปเยี่ยมกองทัพเรือสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยมี พลเรือตรี วรศักดิ์ จันหนู รองผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 เป็นผู้บังคับหน่วยเรือเดินทาง น.อ.อานนท์ ดาระสวัสดิ์ รองเสนาธิการ และรองผู้บังคับหน่วยเรือ ไปเยี่ยมเมืองท่าโฮจิมินห์ซิตี้ ตั้งอยู่บริเวณ แลตติจูด 10 องศา 46 ลิปดา เหนือ ลองจิจูด 106 องศา 43 ลิปดา ตะวันออก
ทั้งนี้ ได้ออกเดินทางจากท่าเทียบเรือแหลมเทียน ฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี มาตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2552 เวลา 16.00 น.ซึ่ง พล.ร.ท.ชัยวัฒน์ พุกกะรัตน์ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 ทำพิธีส่งกำลังพล มอบของขวัญ และให้โอวาทกำลังพล
ล่าสุด วันนี้ (16 มิ.ย.) เรือหลวงปัตตานี ได้ใช้เวลาเดินทางจากสัตหีบ 2 คืนกับอีก 1 วัน มาถึงทุ่นไฟปากช่อง สถานีนำร่องวุงเตา (Pilot Station Port) เมื่อเวลา 07.00 น.ได้มีเรือนำร่องพาเรือหลวงปัตตานีเดินทางไปยัง ท่าเรือไซ่ง่อน (Sai Gon Port) หรือท่าเทียบเรือโฮจิมินห์ซิตี้ ซึ่งเป็นท่าเรือในปีก กิ่งหนึ่งของแม่น้ำโขง แยกออกเป็น 8 สาย ก่อนออกสู่ทะเลอยู่ห่างจากปากน้ำไซ่ง่อน72 กิโลเมตร เป็นท่าเรือสำคัญของเวียดนาม ท่าเรือ มี 2 ร่องน้ำ คือ ร่องน้ำ Sol - Rap สำหรับความลึก 6.5 เมตร และลำน้ำไซ่ง่อนให้เรือกินน้ำลึก 9.3 เมตร เรือที่มีความยาวสูงสุด 210 เมตร ผ่านเข้าได้ ปากน้ำมีกลุ่มปะการัง
ในช่วงน้ำตื้นจะมีระดับน้ำเพียง 6.2 เมตร บังคับใช้นำร่องจากสถานีแหลม St.Jacques รถไฟเข้าถึงหน้าท่าและหลังโกดังท่าเรือสินค้าอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำ ความลึก หน้าท่าเทียบ 7.4-10.9 เมตร และความลึกที่ทุ่นผูกเรือ 7.4-14 เมตร
เมื่อเรือหลวงปัตตานีเข้าเทียบยังท่าเทียบเรือโฮจิมินห์ซิตี้ ได้มีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ นักธุรกิจไทย มาคอยให้การต้อนรับ โดยเฉพาะ นาวาเอก วิพากษ์ น้อยจินดา ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือ ประจำประเทศเวียดนาม พร้อมกับให้ผู้หญิงสาวแต่งกายสัญลักษณ์ของชาวเวียดนามมอบช่อดอกไม้ให้กับ พล.ร.ต.วรศักดิ์ จันหนู ผู้บังคังหน่วยเรือเดินทาง และ น.ท.สาทิพ จิตนาวา ผู้บังคับการเรือ และกำลังพลที่ร่วมเดินทางไปกับหน่วยเรือเดินทางได้ลงไปจากเรือเพื่อทำความรู้จัก และแสดงความยินดีซึ่งกันและกัน
พล.ร.ต.วรศักดิ์ จันหนู ผู้บังคับหน่วยเรือเดินทาง เปิดเผยว่า การที่ได้เป็นตัวแทนกองทัพเรือ พากำลังพล มากับเรือหลวงปัตตานี และยังมีสื่อมวลชน ตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ร่วมสังเกตการณ์ในครั้งนี้ เพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างทัพเรือไทยกับทัพเรือเวียดนาม เสริมสร้างความร่วมมือในการจัดระเบียบทางทะเลในเขตติดต่อทางทะเลทั้งสองประเทศ ระยะทาง 630 ไมล์ทะเล ใช้เวลาในการเดินทางถึง 42 ชั่วโมง เกือบ 2 วัน
ระหว่างการเดินทางจะมีการฝึกตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน ให้กำลังพลทางเรือศึกษาเส้นทางเดินเรือ และภูมิประเทศจากประเทศไทยไปยัง เมืองท่าโฮจิมินห์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ฝึกกำลังพลให้มีความรู้ ความชำนาญ ในการปฏิบัติงานตามสาขาต่าง ๆ ให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะต้องปฏิบัติภารกิจร่วมกันในทะเลเขตติดต่อในการปกป้องอธิปไตย ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ซึ่งการเดินทางในครั้งนี้ถึงแม้ว่าจะมีพายุฝน คลื่นลมบ้างก็สามารถนำเรือมาถึงเวียดนามเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ปลอดภัยทั้งเรือและกำลังพล อีกหลายวันที่จะต้องปฏิบัติภารกิจเยี่ยมคำนับหน่วยงานหลักของนครโฮจิมินห์อีกหลายแห่ง โดยเฉพาะกองบัญชาการกองทัพเรือ