xs
xsm
sm
md
lg

เล็งผสมพันธุ์แพนด้าครั้งหน้าปี 54 เน้นวิธีธรรมชาติ-เชื่อ “หลินฮุ่ย” มีประสบการณ์มาก ชี้นำ “ช่วงช่วง” ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ลูกแพนด้าน้อยที่สวนสัตว์เชียงใหม่ ยังมีพัฒนาการดีต่อเนื่อง และสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ท่ามกลางการประคบประหงมของทีมงานสัตวแพทย์ ขณะที่หัวหน้าโครงการวิจัยฯ เผยต้องเว้นช่วงอย่างน้อย 1 ปี ก่อนผสมพันธุ์ครั้งต่อไปอย่งเร็วในปี 2554 ซึ่งตั้งใจจะผสมด้วยวิธีการตามธรรมชาติให้เป็นผลสำเร็จ เชื่อ “หลินฮุ่ย” มีประสบการณ์มากขึ้นแล้ว น่าจะช่วย “ช่วงช่วง” ได้เยอะ

รายงานข่าวจากจังหวัดเชียงใหม่ แจ้งว่า วันนี้ (1 มิ.ย.) ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ ทีมงานสัตวแพทย์ยังคงทำการดูแลลูกแพนด้าที่เพิ่งเกิดจาก “หลินฮุ่ย” แพนด้าตัวเมียอย่างใกล้ชิด หลังจากที่วานนี้ (31 พ.ค.) ได้ทำการตรวจสุขภาพลูก พบว่า มีพัฒนาการดีมาก สุขภาพแข็งแรง ดิ้นและร้องเสียงดัง บริเวณใบหู รอบดวงตา ขาสี่ข้าง และปลายจมูกเริ่มมีสีดำ ขนาดตัวและน้ำหนักเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากนี้ทีมงานสัตวแพทย์จะทำการตรวจสุขภาพลูกแพนด้าวันเว้นวัน เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนลูกแพนด้าและหลินฮุ่ย

สำหรับ หลินฮุ่ย แม่แพนด้านั้น รายงานข่าวบอกว่า ได้กอดลูกแพนด้าน้อยไว้ในอ้อมอกตลอดเวลา แม้ในเวลาหลับ

นายประเสริฐศักดิ์ บุญตระกูลพูนทวี หัวหน้าโครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย กล่าวว่า ตอนนี้ลูกแพนด้ามีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ดี กินนมจากแม่เป็นระยะ และกินมากตามต้องการ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี อย่างไรก็ตาม จากนี้จะต้องพยายามทำให้ลูกแพนด้ากินนมจากแม่ให้ครบทุกเต้า เพราะแต่ละเต้านั้นจะผลิตน้ำนมได้จำกัด โดยเจ้าหน้าที่ที่ดูแลจะช่วยนำทางลูกแพนด้าในการดูดนมแต่ละเต้า

ในส่วน “หลินฮุ่ย” แม่แพนด้านั้น หลังจากที่ออกลูกแล้ว พบว่า กินอาหารน้อยลง เพราะมัวแต่ห่วงเลี้ยงลูก โดยกินแต่แอปเปิลและขนมปังไผ่ เป็นหลัก ไม่ค่อยกินไผ่ ซึ่งจริงๆ แล้วทีมสัตวแพทย์ อยากให้กินไผ่มากกว่านี้ เพราะมีความจำเป็นต่อตัวหลินฮุ่ยเอง ดังนั้น เวลานี้จึงกำลังพยายามหาไผ่ที่หลินฮุ่ยสามารถกินได้ง่าย เช่น ไผ่ลูกศร มาให้ รวมทั้งอาจแก้ไขปัญหาด้วยการเพิ่มไผ่เป็นส่วนผสมมากขึ้นในการทำขนมปังไผ่

หัวหน้าโครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย ยังกล่าวอีกว่า การที่ลูกแพนด้าที่เกิดในประเทศไทยตัวนี้ นอกจากจะเป็นลูกแพนด้าที่เกิดขึ้นเป็นตัวแรกของปีนี้แล้ว จากบันทึกสถิติที่มีการเก็บไว้ ยังพบว่าเป็นลูกแพนด้าตัวแรกที่เกิดในเดือนพฤษภาคมด้วย ซึ่งเรื่องนี้เองทางผู้เชี่ยวชาญจีน จึงให้ความสนใจเป็นอย่างมาก รวมทั้งประคบประหงมใกล้ชิดและพยายามศึกษาว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

ส่วนการผสมพันธุ์แพนด้า “หลินฮุ่ย” ในครั้งต่อไปนั้น นายประเสริฐศักดิ์ กล่าวว่า คงจะต้องเว้นช่วงไปอีกอย่างน้อย 1 ปี เพื่อให้หลินฮุ่ย ได้เลี้ยงดูและอยู่กับลูกน้อยอย่างเต็มที่ ซึ่งอย่างเร็วจะทำการผสมพันธุ์แพนด้าครั้งต่อไปได้ในปี 2554 โดยการผสมพันธุ์แพนด้าในครั้งต่อไปนั้น หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการผสมเทียมไปแล้ว ทางทีมงานสัตวแพทย์จึงมีความตั้งใจว่าในครั้งต่อไปจะพยายามผสมพันธุ์ด้วยวิธีตามธรรมชาติให้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมีความเป็นไปได้มากขึ้น เพราะการที่ หลินฮุ่ย มีประสบการณ์มากขึ้นจากการมีลูกในครั้งนี้ น่าจะช่วย “ช่วงช่วง” แพนด้าตัวผู้ ในการผสมพันุ์ครั้งต่อไปได้มากขึ้น

รายงานข่าวแจ้งว่า แม้ว่าขณะนี้ลูกแพนด้าที่เกิดใหม่ตัวนี้จะยังไม่มีการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการ แต่ก็มีการเรียกชื่อลูกแพนด้าตัวนี้เป็นการภายในอยู่ด้วยกัน 2-3 ชื่อ เช่น “ไทซิน” ซึ่งเป็นภาษาจีน ที่หมายถึง ดวงดาวที่สวยงามของไทย หรือ “อ้อแอ้” ที่เรียกตามพฤติกรรมร้องงอแงอยู่เป็นประจำ และ “ไอ้ตัวน้อย” เป็นต้น




กำลังโหลดความคิดเห็น