ตาก - ผบ.ฉก.ร. 4 แนะขึ้นทะเบียนเกษตรกรไทยข้ามฝั่งเพื่อนบ้านปลูกพืช แก้ปัญหาลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตร สวมสิทธิ์เป็นพืชเศรษฐกิจไทย พร้อมวางกรอบคุมเข้าทั้งสัดส่วนนำเข้า-แหล่งที่มาสินค้าให้ชัดเจน
พ.อ.ผดุง ยิ่งไพบูลย์สุข ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 4 แม่สอด (ฉก.ร.4) ชายแดนไทย-พม่า อ.แม่สอด จ.ตาก กล่าวว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการบูรณาการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตร 8 จังหวัดภาคเหนือ (ตาก เชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก น่าน แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ พะเยา) ที่มี พล.ท.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน แม่ทัพภาค 3 เป็นประธาน ตนเองได้เสนอให้มีการจดทะเบียนเกษตรกร หรือการขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่ต้องการข้ามไปทำการเกษตร (ไร่-นา-พืชสวน ) ในฝั่งพม่า
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดหลักฐานในการครอบครองสิทธิในรูปแบบต่างๆ เช่น สิทธิของจำนวนผลผลิต-สิทธิที่ชัดเจนของผลผลิต-สิทธิของการขึ้นทะเบียน สามารถนำกลับเข้ามายังฝั่งไทยโดยถูกต้อง และถือเป็นสินค้าเกษตรของไทย ซึ่งหากสามารถทำได้ก็จะไม่เกิดปัญหาสินค้าเกษตรที่นำมาจากฝั่งพม่าโดยผิดกฎหมาย เพราะสภาพความจริงในพื้นที่นั้น ต้องยอมรับว่าปัจจุบันมีเกษตรกรไทยไปทำการเกษตรฝั่งพม่าจำนวนมาก โดยปลูกพืชหลายชนิด
“การขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่ไปทำไร่-นา ฝั่งพม่า สามารถตรวจสอบจำนวนได้โดยการดูจากเมล็ดพันธุ์-ปุ๋ย เคมีภัณฑ์ และอุปกรณ์ ที่ซื้อไปประกอบอาชีพดังกล่าวด้วย”
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้วางกรอบการดำเนินงานสกัดกั้น การลักลอบนำเข้าผลผลิตทางการเกษตรจากเพื่อนบ้านเข้าไทยเบื้องต้นว่า ในการแก้ไขปัญหาและกระบวนการต่างๆจะต้องแยกแต่ละพื้นที่ มีมาตรการในการใช้แตกต่างกัน เช่น ชายแดนไทย-พม่าก็จะแตกต่างกับชายแดนไทย-ลาว ยกตัวอย่างเช่นสินค้าเกษตรจากลาว ส่วนใหญ่เป็นของชาวลาวที่ผลิตเอง แต่สินค้าเกษตรฝั่งพม่านั้นส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ชาวไทยไปผลิต ฯลฯ เป็นต้น
ส่วนการป้องกันและควบคุมสินค้าเกษตรเข้ามาชายแดน จะต้องกำหนดสัดส่วน-ปริมาณและแหล่งที่มาให้ชัดเจน
สำหรับชายแดนไทย-พม่า อ.แม่สอด จ.ตาก ที่ผ่านมาได้เกิดปัญหาการสวมสิทธิสินค้าเกษตรระหว่างชายแดน เช่น การนำเข้าจะต้องเสียภาษีรูปแบบต่างๆ เช่น ภาษีด่านศุลกากร-ภาษีการค้าระหว่างแดน อากร ทำให้กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งคณะกรรมการคณะอนุกรรมการบูรณาการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตร และคณะอนุกรรมการทั้ง 4 ภาค โดยมีทหารเป็นหลักในการทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดน ด่านศุลกากร พาณิชย์ การค้าภายใน ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ฯลฯ เพื่อให้เกิดความถูกต้องในการค้าสินค้าเกษตรระหว่างประเทศ