สระแก้ว - คณะกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลังจังหวัดสระแก้ว หลังได้รับการร้องเรียนว่าภาคเอกชนได้ผลประโยชน์มากกว่าเกษตรกร
คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา โดยนายบรรชา พงษ์อานุกูล ได้เดินทางไปรับฟังการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และโครงการรับจำนำมันสำปะหลัง ประจำปี 2551/52 ของจังหวัดสระแก้ว ที่ห้องประชุมบูรพา ศาลากลางจังหวัดสระแก้ว โดยมีนายศานิตย์ นาคสุขศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงผลการดำเนินงาน และนำคณะกรรมาธิการฯ ไปตรวจสอบคลังเก็บสินค้า โรงงานแป้งมันเอี่ยมบูรพา อำเภอวัฒนานคร
ทั้งนี้ เพื่อตอบข้อสงสัยของคณะกรรมาธิการฯ ในรายงานเกี่ยวกับพื้นที่และปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังที่เพิ่มสูงมากผิดปกติ จนน่าเชื่อได้ว่าเป็นตัวเลขที่เอื้อประโยชน์ให้ภาคเอกชนเจ้าของลานมันและโรงแป้งที่เข้าร่วมโครงการ เช่น การสวมสิทธิ์ของชาวบ้านและลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากราคารับจำนำสูงกว่าราคาตลาดมาก และพบว่าจังหวัดตามแนวชายแดนมีลักษณะการดำเนินงานที่คล้ายคลึงกัน ทำให้รัฐบาลต้องเสียเงินให้กับโครงการจำนวนมาก
พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี รองประธานคณะกรรมาธิการฯ เผยว่า จากรายงานของจังหวัดและข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ที่นำมาเปรียบเทียบกันพบว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นและเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องพื้นที่ปลูกและผลผลิตที่เพิ่มมากผิดปกติจนน่าตกใจ เพราะจากรายงานจังหวัดมีพื้นที่ปลูกพืชสำคัญ 10 ชนิด ประมาณกว่า 2 ล้านไร่ แต่ปีนี้มีพื้นที่ปลูกมันเพิ่มจาก 4 แสนไร่เป็น 8 แสนไร่ จึงสงสัยว่ามีการนำพื้นที่ที่ไหนไปปลูก
นอกจากนี้ ผลผลิตยังเพิ่มสูงมากจนผิดข้อเท็จจริง ซึ่งอาจจะเกิดจากการแจ้งตัวเลขที่ผิดพลาดหรือมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น เช่น เรื่องการสวมสิทธิ์ชาวบ้าน และจากการสอบถามเกษตรกรพบว่า สามารถจำนำมันสำปะหลังได้เพียง 1 ใน 3 ของปริมาณผลผลิตทั้งหมด
ขณะที่ภาคเอกชนจะใช้ปริมาณเต็มในการจำนำมันสำปะหลัง ซึ่งทำให้รัฐบาลต้องจ่ายเงินรับจำนำและจำต้องชดเชยเรื่องการขายสินค้าต่ำกว่าทุน จึงขอให้ทางจังหวัดตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วย
นายศานิตย์ชี้แจงว่า พื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจหลัก มี 4 ชนิด คือ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง และอ้อย รวมทั้งปลูกยูคาลิปตัส แต่เนื่องจากราคามันที่สูงขึ้นในปี 2550 เป็นเหตุจูงใจให้ชาวบ้านหันไปปลูกมันสำปะหลัง รวมทั้งมีการใช้เทคนิคการเพิ่มผลผลิตจากเดิม 3 ตันต่อไร่ เป็น 5-10 ตันต่อไร่ และการปลูกแซมในพื้นที่ปลูกพืชยืนต้นอื่นๆ เช่น พื้นที่ปลูกปาล์ม ยาง ยูคาลิปตัส ทำให้ปริมาณเพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ภายหลังรับทราบผลการดำเนินงานแล้ว พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี ระบุว่า มีข้อมูลเรื่องความผิดปกติในการดำเนินงาน ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมต่อไป