xs
xsm
sm
md
lg

“กษมา” ขู่เชือด ร.ร.ทุจริตเรียกเก็บเงินเพิ่ม-ชี้เด็กติดเกมทุกฝ่ายต้องร่วมแก้ไข

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คุณหญิงกษมา  วรวรรณ  ณ อยุธยา เลขาธิการกพฐ.เป็นประธานเปิด อาคารจำหน่ายผลผลิตนักเรียน โรงเรียนสุรนารีวิทยา อ.เมือง จ.นครราชสีมา วันนี้ ( 22 พ.ค.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - “กษมา” เลขาธิการ กพฐ.ย้ำผลสอบ 50 ร.ร.ดัง กทม.เรียกเก็บเงินเพิ่ม ไม่พบผิดหลักเกณฑ์สั่งทุกโรงเรียนแจงให้ชัดเจน ส่วน ร.ร.ต่างจังหวัด 70 แห่ง อยู่ระหว่างการตรวจสอบหากพบเรียกเก็บเงินเพิ่มไม่มีเหตุผล-ทุจริตต้องลงโทษ พร้อมกำชับดูแลภัยทุกด้านรอบรั้วโรงเรียนตามโครงการโรงเรียน 3 ดีของรัฐบาล ชี้ ปัญหาเด็กติดเกมทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไข โดยเฉพาะครอบครัวและโรงเรียน

วันนี้ (22 พ.ค.) ที่โรงเรียนสุรนารีวิทยา อ.เมือง จ.นครราชสีมา คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นฐาน (กพฐ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิด อาคารจำหน่ายผลผลิตนักเรียนโรงเรียนสุรนารีวิทยา ว่า หลังจากได้เรียกผู้บริหารโรงเรียนชื่อดัง 50 แห่งใน กทม.ซึ่งมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากผู้ปกครองเข้ามาชี้แจงแล้ว พบว่าการเรียกเก็บเงินของโรงเรียนทั้ง 50 แห่งดังกล่าวเป็นไปตามเกณฑ์ และยอดรวมของการเรียกเก็บเงินลดลงจากปีที่แล้ว คือ มีประมาณ 4 รายการ เช่น ค่าตอบแทนครู, ค่าพัฒนาศักยภาพผู้เรียน ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ คือ ไม่เกิน 1,000 บาท ส่วนรายการอื่นๆ ก็เป็นไปตามเกณฑ์ ที่มีปัญหาอาจจะเกิดจากความไม่เข้าใจของผู้ปกครองและทางโรงเรียนไม่ได้ทำความเข้าใจให้ผู้ปกครองทราบชัดเจน ซึ่งเรื่องนี้ได้สั่งให้โรงเรียนแต่แห่งไปทำความเข้าใจกับผู้ปกครองแล้ว

สำหรับพื้นที่การศึกษาอื่นๆ ในต่างจังหวัดที่ได้รับการร้องเรียนผ่านสายด่วน 1579 ส่วนใหญ่จะเป็นการร้องเรียนในภาพรวม เช่น มีคำถามว่าเก็บค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง แต่ที่มีชื่อโรงเรียนระบุชัดเจน ซึ่งเป็นร้องเรียนเรื่องการเก็บค่าบำรุงการศึกษามีประมาณ กว่า 70 โรงเรียนทั่วประเทศ ซึ่งทั้งกว่า 70 โรงเรียนนี้ได้สั่งการให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) แต่ละแห่งเข้าไปตรวจสอบแล้ว และที่สำคัญ ให้ช่วยชี้แจงให้ผู้ปกครองได้มีความเข้าใจ

“หากตรวจสอบพบแล้วว่า โรงเรียนเรียกเก็บเงินจากผู้ปกครองเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดก็จะต้องคืนให้ผู้ปกครอง แต่หากตรวจสอบพบว่าทำไปเพราะต้องการพัฒนาโรงเรียนก็ถือว่าทำได้แต่หากทำไปเพื่อการทุจริต ต้องพิจารณาโทษต่อไป” คุณหญิงกษมา กล่าว

อย่างไรก็ตาม หากผู้ปกครองมีข้อข้องใจสามารถแจ้งเข้ามาที่สายด่วน 1579 และให้ระบุชื่อโรงเรียนด้วยเพื่อจะได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกไปติดตามเรื่องให้ได้

คุณหญิงกษมา กล่าวอีกว่า กรณีที่เด็กไม่มีโต๊ะเรียนที่เขตพื้นที่การศึกษามหาสารคาม เขต 3 นั้น ได้สั่งการให้ทาง สพท.เข้าไปดูแลและจัดโต๊ะไปให้เด็กๆ ได้เรียนหนังสือเรียนร้อยแล้ว อาจล่าช้าไปบ้างเนื่องจากต้องเป็นไปตามขั้นตอน อย่างไรก็ตาม ขอฝากให้ประชาชน ผู้ปกครอง ช่วยเป็นหูเป็นตาให้ด้วย เนื่องจากมีโรงเรียนอยู่มากถึง 30,000 กว่าโรงทั่วประเทศ ทาง สพฐ.อาจดูแลไม่ทั่วถึงหากเป็นปัญหาเช่นเดียวกับเด็กที่ จ.มหาสาคาม สามารถแจ้งเข้ามาได้ที่ 1579

ส่วนการดูแลโรงเรียนในพื้นที่เสี่ยงภัยทั้งน้ำท่วม ดินโคลนถล่ม นั้น ทาง สพฐ. ได้ทำหนังสือไปถึง สพท.ทุกแห่งทั่วประเทศไปแล้วตั้งแต่ช่วงก่อนเปิดภาคเรียนให้ดูแลในเรื่องกายภาพทั่วไปของโรงเรียน ไม่เฉพาะเรื่องอุทกภัย พิบัติภัย แต่ให้ดูแลเรื่องความปลอดภัยทุกด้าน ขณะนี้ทางกระทรวง โดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีนโยบายรณรงค์ในเรื่องโครงการโรงเรียน 3 ดี ที่ส่งเสริมในเรื่อง ประชาธิปไตย, แก้ไขปัญหายาเสพติด และ ส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม ซึ่งโครงการเหล่านี้จะมีการกำชับเรื่องการสำรวจรอบรั้วโรงเรียนให้มีพื้นที่ที่ปลอดภัย ไม่มีมุมอับหรือสิ่งที่จะทำให้เกิดอันตรายกับเด็กนักเรียนได้

คุณหญิงกษมา ยังกล่าวถึงการมุ่งพัฒนาคุณภาพเด็กให้อ่านออกเขียนได้ โดยเน้นไปที่นักเรียนชั้น ป.3 ว่า จากการสำรวจทั่วประเทศในปีที่ผ่านมา พบว่า เด็กกว่า 70,000 คน ยังมีปัญหาเรื่องการอ่านและเขียนไม่คล่อง ซึ่งจากการดำเนินการที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ พบว่าลดลงเหลือ 10% เท่านั้น เด็กที่ยังมีปัญหาอยู่มักเป็นเด็กที่มีปัญหาด้านสติปัญญา หรือเป็นเด็กที่มาจากครอบครัวยากจนและขาดเรียนบ่อย หรือเป็นเด็กที่มาจากพื้นที่ที่ไม่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลัก ฉะนั้นต้องใช้เวลานานพอสมควร ถ้าผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายสนใจเข้าไปดูแลเด็กที่มีปัญหา ก็มั่นใจว่า เด็กจะอ่านคล่องเขียนคล่องได้ตามนโยบายของรัฐบาลแน่นอน

ส่วนกรณีที่เด็กติดเกมและน้อยใจผู้ปกครองจนตัดสินใจฆ่าตัวตายนั้น คุณหญิงกษมา กล่าวว่า ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าเกิดจากเด็กติดเกมจริงหรือไม่ แต่เมื่อมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นต้องช่วยกันทุกฝ่าย เริ่มจากครอบครัวคงต้องช่วยดูแลสอดส่องกำหนดเวลาให้เด็กไม่ให้เล่นมากไป จนเด็กบางคนติดเล่นเกมวันละ 3-5 ชั่วโมง หากิจกรรมที่สร้างสรรค์ให้เด็กทำด้วย

ในส่วนของโรงเรียนต้องพยายามปรับปรุงการเรียนการสอนให้เด็กสนุกกับการเรียน บางโรงเรียนสอนให้เด็กสร้างเกมขึ้นมาเอง แทนที่จะเป็นคนติดเกมก็มาสร้างเกมให้คนอื่นเล่น ขณะเดียวกันร้านเกมที่อยู่รอบโรงเรียนต้องมีการกำหนดเวลาที่ชัดเจน และต้องขอความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้องและเครือข่ายผู้ปกครองให้ช่วยกันดูแลในส่วนของร้านเกมด้วย ซึ่งการแก้ไขปัญหานี้จะต้องร่วมกันทุกฝ่าย คุณหญิงกษมา กล่าวในที่สุด




กำลังโหลดความคิดเห็น