xs
xsm
sm
md
lg

เช็คช่วยชาติบรรลุเป้ากระตุ้นเศรษฐกิจอีสาน-พบ 77%ใช้จ่ายคาดเงินสะพัดเฉียด4พันล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.กัลปพฤกษ์ ผิวทองงาม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) และนายประเสริฐ วิจิตรนพรัตน์ หัวหน้าโครงการจัดทำอีสานโพลล์ ร่วมกันแถลงถึงผลการจัดทำโพลล์ในหัวข้อ ชาวอีสานวางแผนใช้เช็คช่วยชาติอย่างไร
ศูนย์ข่าวขอนแก่น-ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน สำรวจความคิดเห็นคนอีสานวัยทำงานต่อเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท ระบุ 77.4% เห็นด้วยกับนโยบายจ่ายเช็คช่วยชาติ เชื่อเป้าหมายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐได้ผล เหตุผู้ได้รับเช็คกว่า 77% ตั้งเป้านำไปใช้จ่ายจริง ที่เหลือ 23% นำไปเก็บออม คาดภาคเศรษฐกิจอีสานจะก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในภูมิภาคประมาณ 3,400 – 4,200 ล้านบาท คาดธุรกิจจำหน่ายเครื่องใช้อุปโภคบริโภคได้ผลประโยชน์มากที่สุด

วันนี้ (21พ.ค.) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดแถลงข่าว “คณะวิทยาการจัดการ พบสื่อมวลชนครั้งที่ 2” โดยมีการนำเสนอผลงานวิจัยของศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (E-saan Center for Business and Economic Research : ECBER) โดยนักวิจัยได้นำเสนอผลงานวิจัยที่สะท้อนปัญหาและแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ในภาคอีสานหลายหัวข้อ อาทิ “ชาวอีสานวางแผนใช้เช็คช่วยชาติอย่างไร” , “พฤติกรรมการดูหมอลำของชาวอีสาน” , และ “ผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่มีผลต่อค่าใช้จ่าย/รายได้ของคู่สมรสชาวต่างชาติ” ณ อาคาร MS.02 คณะวิยาการจัดการ มหาวิทยาขอนแก่น

สำหรับผลงานวิจัยเรื่อง “ชาวอีสานวางแผนใช้เช็คช่วยชาติอย่างไร” นายประเสริฐ วิจิตรนพรัตน์ หัวหน้าโครงการจัดทำอีสานโพลล์ กล่าวว่า ECBER ได้สำรวจทัศนคติและพฤติกรรมของชาวอีสานต่อเงินช่วยเหลือ 2,000 บาท จากกกลุ่มตัวอย่างประชาชนที่มีคุณสมบัติได้รับเงินช่วยเหลือรวม 446 คน ที่อาศัยอยู่ใน 19 จังหวัดภาคอีสาน ใช้การสุ่มแบบเจาะจง เก็บข้อมูลในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2552 พบว่า 77.4% เห็นด้วยกับนโยบายเช็คช่วยชาติของรัฐบาล

สัดส่วนมากกว่า 87.2% เห็นด้วยกับคุณสมบัติของผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับเช็คช่วยชาติ ที่กำหนดให้ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท/เดือน มีสิทธิ์ได้รับเป็นคุณสมบัติที่เหมาะสมแล้ว อีกทั้งมีคนเห็นด้วยถึง 80.1% ในแง่จำนวนเงินที่จัดสรรให้ 2,000 บาท/คน พร้อมทั้งมองว่าผู้ที่ได้รับเงินช่วยเหลือจะต้องอยู่ในระบบประกันสังคมเท่านั้นเป็นคุณสมบัติที่ไม่เหมาะสม

ส่วนวิธีการจ่ายเงิน 59.9% ของผู้ที่ได้รับเงินช่วยเหลือในภาคอีสานต้องการให้รัฐบาลจ่ายเงินช่วยเหลือในรูปแบบของเงินโอนเข้าบัญชี มากที่สุด รองลงมาคือเงินสด มีสัดส่วน 20.2% และเช็คเงินสด 18.3%

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า พฤติกรรมของผู้ที่ได้รับเงินช่วยเหลือ มีสัดส่วนถึง 77% ที่จะนำเช็คช่วยชาติไปใช้จ่าย โดยนำไปซื้อของใช้ภายในบ้านมากที่สุด รองลงมาคืออาหารและเครื่องดื่ม ของใช้ส่วนตัว ย่อมแสดงว่าวัตถุประสงค์ในการจ่ายเช็คช่วยชาติเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลทำได้ตามเป้าหมาย ส่วนที่เหลือ 23% จะนำเงินจากเช็คช่วยชาติ ไปเป็นเงินออม โดยการฝากธนาคารคิดเป็น 57.6% และออมโดยการเก็บไว้กับตัว 42.4%

ทั้งนี้ ชาวอีสาน ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า ควรให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มเกษตรกรด้วย รวมทั้งอยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาอย่างจริงจัง จากการสำรวจข้อมูลในครั้งนี้ ได้รับความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ควรแจกเงินให้กับผู้ที่ไม่มีประกันสังคมโดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร รวมทั้งอยากให้มีการจ่ายเป็นขั้นบันได หรือแบ่งตามฐานเงินเดือน และที่สำคัญผู้ตอบแบบสอบถามอยากให้รัฐบาลส่งเสริมสร้างงานสร้างอาชีพ ควรนำเงินประกันสังคมออกมาให้กู้ยืมได้อีกด้วย

ด้านดร.กัลปพฤกษ์ ผิวทองงาม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า หลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศว่าจะมีแจกเช็คช่วยชาติ กลายเป็นประเด็นที่ประชนชนกล่าวถึงอย่างต่อเนื่อง โดยประชาชนที่มีคุณสมบัติที่จะได้รับเงินจำนวนนี้ในภาคอีสาน มีประมาณ 71,280 คน โดยทางด้านรัฐบาลนั้นมั่นใจว่าเช็คช่วยชาติจะถูกนำไปใช้และกระตุ้นตลาดได้

จากการสำรวจผู้ตอบแบบสอบถามเป็นเพศชาย 33.7% เพศหญิง 66.3% โดยมีอายุผู้ตอบแบบสอบถามมากที่สุดในช่วง 30-39 ปี(40.6%) และ 20-29 ปี (39.4%) ตามลำดับ อาชีพของผู้ที่ตอบแบบสอบถามมีอาชีพรับราชการมากที่สุด 38.4% ตามมาด้วยพนักงานในส่วนราชการ(21.41%) และพนักงานเอกชน(17.6%) ขณะที่ระดับรายได้ของผู้ตอบแบบสอบถาม อยู่ในช่วง 5,000-10,000 บาทมากที่สุด (56.1%) ตามด้วยรายได้ระดับ 10,001-15,000 บาท (40.1%)

ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน ยังได้ประเมินว่ามาตรการให้เงินช่วยเหลือ 2,000 บาท แก่ชาวอีสานจะก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเงินภายในภูมิภาคประมาณ 3,400 – 4,200 ล้านบาท โดยสาขาธุรกิจจำหน่ายเครื่องใช้ภายในบ้าน เช่น สบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก เป็นต้น จะได้รับผลประโยชน์มากที่สุด ส่วนธุรกิจที่ได้รับประโยชน์มากที่สุด เป็นธุรกิจค้าปลีกนั่นเอง

จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในครั้งนี้ ประเมินได้ว่าจุดประสงค์ของรัฐบาลที่จะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ ประสบความสำเร็จ โดยมีการนำไปใช้จ่ายถึง 77% และที่เหลือ 23% นำไปเก็บออม แต่สัดส่วนถึง 57.6% เลือกที่จะออมโดยฝากธนาคารซึ่งถือเป็นกระบวนการสร้างเงินฝาก
นายประเสริฐ วิจิตรนพรัตน์ หัวหน้าโครงการจัดทำอีสานโพลล์
กำลังโหลดความคิดเห็น