บุรีรัมย์ - บ้านใหม่ไชยพจน์ จ.บุรีรัมย์ จัดงาน “ประเพณีปรางค์กู่สวนแตง”โบราณสถานล้ำค่า อายุ 1,000 ปียิ่งใหญ่ เพื่ออนุรักษ์โบราณสถาน วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นรวมทั้งบุญบั้งไฟขอฝน พร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างความสมานสามัคคีระหว่างส่วนราชการปชช.ทุกตำบลชุมชน/หมู่บ้าน
วันที่ 9 พ.ค. เทศบาลตำบลบ้านใหม่ไชยพจน์ ร่วมกับ 5 องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในเขต อ.บ้านใหม่ไชยพจน์ จ.บุรีรัมย์ และส่วนราชการต่างๆ ได้จัดงาน “ประเพณีปรางค์กู่สวนแตงและบุญบั้งไฟ ประจำปี 2552” ขึ้น ที่บริเวณปรางค์กู่สวนแตง ต.กู่สวนแตง อ.บ้านใหม่ไชยพจน์ จ.บุรีรัมย์ โดยมี นายมงคล สุระสัจจะ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นประธานเปิดงาน
ทั้งนี้ เพื่อประชาสัมพันธ์โบราณสถานปรางค์กู่สวนแตงอันล้ำค่า ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้รู้จัก และเป็นการดึงดูดให้เดินทางเข้ามาเที่ยวชมปรางค์กู่สวนแตก และแหล่งท่องเที่ยวโบราณสถานต่างๆ ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในจังหวัดบุรีรัมย์ให้มากขึ้น
รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการแสดงประเพณีพื้นบ้านของชาวอีสาน ตามตำนานพญาคันคาก (คางคก) ที่รบชนะพญาแถนเทพเจ้าแห่งฝน พญาคันคากจึงขอให้พญาแถนบันดาลให้ฝนตกลงมา สร้างความอุดมสมบูรณ์แก่มนุษย์โลก พญาแถนจึงสั่งไว้ว่า ถ้ามนุษย์ต้องการฝนเมื่อใดให้จุดบั้งไฟขึ้นเป็นสัญญาณบอก แล้วจะบันดาลให้ฝนตกลงมาตามที่ต้องการ
ดังนั้นชาวอีสานจึงได้มีการจัดงานบุญบั้งไฟ เพื่อบูชาพญาแถนตามความเชื่อและวิถีชีวิตของคนโบราณ เพื่อขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ก่อนถึงฤดูทำนาของเกษตรกร
นอกจากนั้นการจัดงานในครั้งนี้ยังเป็นการเสริมสร้างความสามัคคีระหว่างส่วนราชการ ราษฎรทุกตำบล ทุกหมู่บ้าน ให้รักใคร่สามัคคีกันมากยิ่งขึ้นด้วย อีกทั้งเพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นได้เกิดความรัก หวงแหนและรู้ถึงคุณค่าของโบราณสถานที่มีในท้องถิ่นของตนเอง และเกิดจิตสำนึกที่ดีในการอนุรักษ์โบราณสถานให้มีสภาพสมบูรณ์ อยู่คู่บ้านคูเมืองตลอดไป
ส่วนกิจกรรมภายในงาน มีการประกอบพิธีบรวงสรวงปรางค์กู่สวนแตง จัดขบวนแห่ ขบวนฟ้อนรำ ขบวนบั้งไฟอันสวยงามตระการตาจากทุกตำบล ซึ่งสร้างความสนุกสนานผ่อนคลายความเครียด ให้กับชาวบ้านและเกษตรกรที่มาร่วมงานเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ในช่วงค่ำวันเดียวกันนี้ ( 9 พ.ค.) ยังได้มีการแสดง แสง สี เสียง “ตำนานปรางค์กู่สวนแตง” รวมทั้งการแสดงของนักเรียน และชุมชนต่างๆ ในเขตอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ การแข่งขันจุดบั้งไฟขึ้นสูง และมหรสพสมโภชตลอดทั้งคืน เพื่อให้ประชาชน และนักท่องเที่ยวได้ชมกันเต็มอิ่มอีกด้วย
นายมงคล สุระสัจจะ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์โบราณสถาน วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น และส่งเสริมการท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นการสร้างความสมัคร สมาน สามัคคีระหว่างชาวบ้าน และชุมชนในเขตอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์อีกด้วย ที่สำคัญปรางค์กู่สวนแตงถือเป็นโบราณสถานอันล้ำค่าทางประวัติศาสตร์ และยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ ที่ได้ร่วมกันอนุรักษ์หวงแหน ดูแลรักษาร่วมกันมาตลอดอีกด้วย
ทางด้าน นายภาคภูมิ ลิ้มรัตน์ นายกเทศมนตรีตำบลบ้านใหม่ไชยพจน์ กล่าวว่า การจัดงานประเพณีปรางค์กู่สวนแตงดังกล่าว วัตถุประสงค์หลักคือ เป็นการสร้างความสามัคคีของประชาชนในหมู่บ้าน ชุมชนต่างๆ ทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวโบราณสถาน โดยเฉพาะปรางค์กู่สวนแตงถือเป็นโบราณสถานที่เก่าแก่ มีอายุร่วม 1,000 ปี จึงมีการจัดงานประเพณีขึ้นทุกปี เพื่อประชาสัมพันธ์ดึงดูดให้ประชาชน และนักท่องเที่ยว ได้เดินทางเข้ามาเที่ยวชมและศึกษาประวัติความเป็นมาของปรางค์กู่สวนแตงแห่งนี้ นอกจากนั้นยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่นได้ในอีกทางหนึ่งด้วย
ส่วนการบูรณะพัฒนาปรางค์กู่สวนแตงในอนาคตนั้น ขณะนี้ทางเทศบาลได้ประสานกับสำนักศิลปากรที่ 12 จ.นครราชสีมา เพื่อสำรวจออกแบบ ก่อนที่จะบูรณะปรับปรุงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวโบราณสถานที่สวยงาม น่าศึกษาและเที่ยวชมมากขึ้น หากมีการสำรวจออกแบบเสร็จสิ้นแล้ว ทางเทศบาลฯ จะต้องจัดหางบประมาณมาดำเนินการบูรณะพัฒนาต่อไป
อนึ่ง ปรางค์กู่สวนแตงเป็นปรางค์อิฐ 3 องค์ สร้างเป็นแนวยาวเรียงกัน เป็นโบราณสถานที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสุริยะวรมันที่ 2 เป็นศิลปะสมัยปาปวน และแบบนครวัด จนถึงปัจจุบัน มีอายุร่วม 1,000 ปี ที่ปรางค์ประธานองค์กลางมีทับหลังเป็นรูปศิวะนาฎราช และเทพองค์อื่นๆ เล่นดนตรีประกอบ เช่น พระนลตรีกลอง พระพรมตีฉิ่ง พระอุมาถือไม้เท้าขาคน เป็นต้น
ส่วนทับหลังด้านอื่นๆ เป็นรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ รูปกุมารวตรา กับรูปการกวนเกษียรสมุทร รูปวามนาตาร รูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ รูปเทวดาทับเหนือเกียรติมุข ทับหลังบางชิ้นถูกโจรกรรมไปขายนอกประเทศ และบางชิ้นได้กลับคืนมาซึ่งปัจจุบันจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย จ.นครราชสีมา
ปรางค์กู่สวนแตง เป็นอาคารสถานที่ประกอบกิจทางศาสนาในยุคที่ก่อสร้างขึ้นครั้งแรก พระเจ้าสุริยะวรมันที่ 2 ทรงนับถือศาสนาฮินดู ปรางค์กู่สวนแตงจึงเป็นอาคารที่ประกอบกิจและประดิษฐานสิ่งที่เคารพนับถือในศาสนาฮินดู และสร้างติดต่อกันมาจนถึงสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พระองค์ทรงนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน สายนิกายวัชรยาน จึงมีการเปลี่ยนแปลงมาใช้ประโยชน์เป็นอาคารที่ประกอบกิจ และประดิษฐานสิ่งที่เคารพ ในพระพุทธศาสนาเรื่อยมา จนตลอดรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
โดยปรางค์กู่สวนแตงแห่งนี้ทางกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ตั้งแต่ วันที่ 8 มีนาคม 2478 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 74 ปี ปัจจุบันเป็นโบราณสถานที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยโบราณ โบราณวัตถุ และศิลปะวัตถุเป็นอย่างดี อยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานศิลปากรที่ 12 จ.นครราชสีมา
ปรางค์กู่สวนแตง ถือเป็นโบราณสถานที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และในเดือน 6 ของทุกปี ชาวอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จะร่วมกันจัดงานประเพณีปรางค์กู่สวนแตง และงานบุญบั้งไฟเพื่อสืบทอดต่อกันมาเป็นประจำทุกปีจนถึงปัจจุบันนี้ และเช่นเดียวกับปีนี้