เชียงราย – เตรียมอัญเชิญรอยพระบาทองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ขึ้นประดิษฐานบน “ดอยโหยด” ค่ายเม็งรายมหาราชเช้าพรุ่งนี้ (5 พ.ค.) กำหนดตั้งขบวนแห่ตั้งแต่กลางเมืองเชียงราย พร้อมจัดกิจกรรมฉลองสมโภชยิ่งใหญ่ ก่อนเปิดให้สาธารณะชนเข้าสักการะได้ตั้งแต่ 5 พ.ค.เป็นต้นไป
รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า วันพรุ่งนี้ (5 พ.ค.) ตั้งแต่เวลา 13.00 น.เป็นต้นไป กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 17 (ร.17 พัน 3) ในพระองค์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีกำหนดอัญเชิญรอยพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จากศาลารอยพระบาทเดิม ซึ่งอยู่ด้านหน้า ร.17 พัน 13 ในพระองค์ฯ ขึ้นไปประดิษฐานบนศาลารอยพระบาทแห่งใหม่ ซึ่งตั้งอยู่บนดอยโหยด ภายในค่ายเม็งรายมหาราช โดยการอัญเชิญรอยพระบาทจะมีการตั้งขบวนแห่ จากในเขตเทศบาลนครเชียงราย อ.เมือง เพื่อให้ประชาชนชาวเชียงรายได้ชื่นชมพระบารมี
ทั้งนี้ ขบวนแห่จะออกจากหน้าอนุสาวรีย์ผู้เสียสละภายในค่ายเม็งรายมหาราชออกจากประตูค่ายไปยังชุมชนเด่นห้าจนถึงประตูเชียงใหม่ และเลี้ยวขวาไปทางโรงเรียนสามัคคีวิทยาคม ก่อนไปตามถนนบรรพปราการ ผ่านหอนาฬิกาตรงไปประตูสลี-วัดศรีเกิด จนถึงอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช และวกกลับไปยังสวนตุงและโคมเฉลิมพระเกียรติฯ ตรงไปตามถนนธนาลัยกลับสู่สี่แยกประตูสี่เชียงใหม่ และกลับสู่ค่ายเม็งรายมหาราช เพื่ออัญเชิญขึ้นไปบนดอยโหยดต่อไป ทั้งนี้ภายในกิจกรรมจะมีหัวหน้าส่วนราชการทุกหน่วยใน จ.เชียงราย เข้าร่วมพิธีโดยพร้อมเพรียงกัน
ต่อจากนั้นจะมีการฉลองสมโภช ณ บริเวณลานผู้กล้า หน้าอนุสาวรีย์ผู้เสียสละ โดยกำหนดให้มีการแสดงดนตรี คอนเสิร์ตรักชาติ การแสดงประกอบรายการอื่นๆ บนเวที บริเวณรอบๆ ยังได้จัดเต้นท์นิทรรศการบอกเล่าประวัติความเป็นมา นิทรรศการผลงานตามโครงการพระราชดำริ การแสดงกิจกรรมเทิดพระเกียรติ อีกมากมาย
หลังจากวันที่ 5 พ.ค.นี้ ฝ่ายทหารได้เชิญชวนให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวทั่วไปสามารถเดินทางเข้าไปสักการะรอยพระบาทในหลวง รัชกาลที่ 9 ตลอดชมวิวทิวทัศน์เมืองเชียงรายโดยรอบ ณ ศาลารอยพระบาท ดอยโหยด ค่ายเม็งรายมหาราช ได้ทุกวันในเวลาราชการ
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับความเป็นมาของรอยพระบาทดังกล่าว มีขึ้นตั้งแต่ปี 2525 ในช่วงที่ประเทศไทยใช้นโยบาย 66/23 ในยุครัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อแก้ไขปัญหาต่อการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
ในส่วนของ จ.เชียงราย มีการต่อสู้ระหว่างทหารไทยกับผู้ที่หลงผิด ในพื้นที่ดอยพญาพิภักดิ์ตั้งอยู่ในเขต อ.ขุนตาล และ อ.เทิง ในปัจจุบัน เมื่อมีการใช้นโยบายดังกล่าวทำให้มีผู้หลงผิดทะยอยมอบตัวและให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการพัฒนาชาติไทยร่วมกัน และวันที่ 27 ก.พ.2525 เป็นวันประวัติศาสตร์บนดอยพญาภิภักดิ์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนการปฏิบัติหน้าที่ของทหารและพสกนิกรในพื้นที่
ครั้งนั้น พ.ท.วิโรจน์ ทองมิตร ผู้บังคับกองพัน ร.17 พัน 3 ได้ขอให้ทรงประทับรอยพระบาทไว้เป็นที่เคารพสักการะ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชานุญาต และทรงประทับรอยพระบาทบนปูนปลาสเตอร์ที่ผสมเตรียมเอาไว้ ต่อมาจึงมีการอัญเชิญรอยพระบาทดังกล่าวไปประดิษฐานภายในค่ายเม็งรายมหาราช กระทั่งต่อมากองทัพบกได้สร้างศาลารอยพระบาทบนดอยโหยดจึงมีการอัญเชิญรอยพระบาทขึ้นไปประดิษฐาน เพื่อให้พสกนิกรทั่วไปได้ร่วมสักการะและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ