ศูนย์ข่าวขอนแก่น - มหาวิทยาลัยขอนแก่น ห่วงสถานไข้หวัดเม็กซิโก แพร่ระบาดในประเทศไทย จัดตั้งศูนย์วิจัยและบริการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อระบาดใหม่ ให้บริการตรวจวินิจฉัยฟรีทั้งคนและสุกร หากพบสุกรหรือซากสุกรต้องสงสัยติดเชื้อ สามารถส่งปอดและน้ำลายสุกร ส่งตรวจรู้ผลภายใน 48 ชั่วโมง เริ่มให้บริการได้ 1 พ.ค.นี้ แพทย์โรคทางเดินหายใจระบุประชาชนอย่าตื่นกลัวเกินเหตุ ยันบริโภคเนื้อสุกรปรุงสุก ไม่ติดโรคไข้หวัดเม็กซิโก
วันนี้ (28 เม.ย.) สำนักบริหารการวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) จัดแถลงข่าวเรื่อง “สถานการณ์ไข้หวัดเม็กซิโกกับโอกาสการแพร่ระบาดในประเทศไทย” โดยมี รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วยนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงข่าวในประเด็นดังกล่าว ณ ห้องประชุม 1301 สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวไข้หวัดหมู หรือที่เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า ไข้หวัดเม็กซิโกสายพันธุ์ใหม่ระบาดสู่คนแถบประเทศเม็กซิโก และบางรัฐของสหรัฐอเมริกาอย่างรวดเร็วนั้น ประเทศไทยไม่ควรประมาท เพราะมีโอกาสแพร่กระจายสู่ไทยได้
ทั้งนี้ เนื่องจากไข้หวัดเม็กซิโกเป็นโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ ทำให้โรคนี้มีการแพร่กระจายได้ง่ายและรวดเร็วและการควบคุมป้องกันโรคกระทำได้ยากมาก มีโอกาสแพร่กระจายมายังประเทศไทยได้
มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยศูนย์วิจัยและบริการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อระบาดใหม่ ตระหนักถึงศักยภาพในการติดต่อและแพร่กระจายของโรคไข้หวัดเม็กซิโก จากหมูสู่คนและผลกระทบความเจ็บป่วยและทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นหากมีการแพร่ระบาด จึงได้เปิดบริการตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อไข้หวัดเม็กซิโกสายพันธุ์ใหม่ฟรี ทางห้องปฏิบัติการขึ้น ทั้งในคนและหมู
กรณีสุกรที่สงสัยว่าจะติดเชื้อไข้หวัดเม็กซิโกหรือไม่ กรณีที่เป็นซากสุกร สามารถนำปอดสุกร มาส่งตรวจ ส่วนสุกรยังมีชีวิต เจ้าของสุกรควรนำสำลีพันปลายไม้ แหย่เข้าจมูกสุกร ส่งตัวอย่างนำส่งตรวจที่ศูนย์วิจัยและบริการตรวจวินิจฉัย โดยจะสามารถรู้ผลการตรวจได้ภายในระยะเวลา 48 ชั่วโมงหลังได้รับตัวอย่างที่ตรวจ โดยศูนย์วิจัยและบริการตรวจวินิจฉัยจะเริ่มให้บริการได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2552 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ สามารถสอบถามและส่งตรวจตัวอย่างจากคนไข้ได้ที่ รศ.ดร.วีระพงษ์ ลุลิตานนท์ คณะแพทยศาสตร์ โทร 043-363808 สำหรับตัวอย่างตรวจจากสุกร สามารถติดต่อได้ที่ รศ.สพ.ญ.กัลยา เจือจันทร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โทร 081-5440299
หมอโรคระบบทางเดินหายใจ
ยันรับประทานหมูปรุงสุกไม่ติดโรค
ด้าน รองศาสตราจารย์นายแพทย์บุญส่ง พัจนสุนทร อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤต โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ไข้หวัดที่ระบาดในประเทศเม็กซิโก เป็นไข้หวัดใหญ่ที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิด A พบได้ทั้งในคน สุกรเลี้ยง และหมูป่า ปัจจุบันที่พบในประเทศไทย จะเป็นสายพันธุ์ H1N1 , H1N2 , และ H3N2 ซึ่งลักษณะสายพันธุ์ไม่คล้ายคลึงกับไข้หวัดใหญ่ในมนุษย์ มีรายงานน้อยมากที่จะข้ามมายังมนุษย์
การระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ที่พบในประเทศเม็กซิโก และอเมริกานั้น เป็นสายพันธุ์ที่ไม่เคยพบมาก่อนในมนุษย์ เป็นสายพันธุ์ที่มีชิ้นส่วนของพันธุ์กรรมเกิดจากการผสมผสานของไข้หวัดหมู ที่เคยมีรายงานในอเมริกา หรือ ยุโรป และเอเชีย รวมทั้งชิ้นส่วนพันธุกรรมของไข้หวัดที่เคยรายงานไว้ในอเมริกาเหนือ และการศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่า เป็นการแพร่กระจายจากคนสู่คนมากกว่าแพร่กระจายจากหมูสู่คน จึงถือได้ว่าเป็น ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ของมนุษย์
ชื่อที่เหมาะสมและไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในหมู่ประชาชนจึงควรจะเรียก “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เม็กซิโก” มากกว่าไข้หวัดหมู และเมื่อดูองค์ประกอบเปรียบเทียบกับวัคซีน H1N1 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีความคล้ายคลึงกันไม่ถึง 80% บ่งชี้ให้เห็นว่า การป้องกันด้วยวัคซีนที่ใช้ในปัจจุบันอาจจะได้ผลไม่มาก
รศ.นพ.บุญส่ง กล่าวต่อว่า เชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้ มีการติดต่อเช่นเดียวกับโรคไข้หวัดใหญ่ในคนโดยทั่วไป คือเชื้อนั้นจะอยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย แพร่ไปยังผู้อื่นโดยการไอ หรือจามรดกันในระยะใกล้ชิด หรือติดจากมือและสิ่งของที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ และเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางจมูกและตา เช่น การแคะจมูก ขยี้ตา ที่สำคัญเชื้อนี้ไม่ติดต่อจากการรับประทานเนื้อหมูปรุงสุก
ทั้งนี้ ข่าวการระบาดของโรคนี้ อาจทำให้คนไทยเกิดความวิตก กลัวติดเชื้อ และไม่กล้ากินเนื้อหมู แต่โรคที่กำลังระบาดอยู่นี้ไม่ใช่โรคที่ติดจากการรับประทานหมู แต่เป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่มีสารพันธุ์กรรมของหมูและคนผสมกัน เป็นการกลายพันธุ์ของเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ของคน ติดต่อจากคนสู่คน ไม่ใช่จากหมูสู่คน การรับประทานหมูปรุงสุก จึงไม่ติดโรค