xs
xsm
sm
md
lg

งาน “สรลวง สองแคว” คึกคัก “หงา-หว่อง” ขึ้นเวที-ระดมเงินฟื้นพิพิธภัณฑ์ฟื้นบ้านจ่าทวี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หงา-คาราวาน และ หวอง  ยังไม่สิ้นมนต์ขลัง เรียกเสียงเฮจากแฟนคลับที่บ้านจ่าทวี
พิษณุโลก – “จ่าทวี” ปลื้ม! กลุ่มเอ็นจีโอระดมเงินเข้า “พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี” คืนเดียวกว่า 2 แสนบาท “ศ.ศรีศักดิ์” ฟันธงรากเง่าคน “สรลวง สองแคว” ไทยดำ ฝั่งหลวงพระบาง แต่ไม่ใช่คนล้านนา แฟนคลับ “น้าหงา คาราน-พันธมิตรฯ”ยังแน่นตรึม

เมื่อคืนที่ผ่านมา (1 เม.ย.52) ที่พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าสิบเอกทวี บูรณเขตต์ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.พิษณุโลก กลุ่มหนุ่มสาวคนทำงานในนามเอ็นจีโอ พิษณุโลก-นครสวรรค์-พิจิตร ที่ส่วนใหญ่ล้วนเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ได้จัดงาน “ฟื้นฟูวิถีชุมชน ชื่นชมคนท้องถิ่น สรลวง-สองแคว” เพื่อนำรายได้จากการขายบัตรใบละ 200 บาทโดยไม่หักค่าใช้จ่าย มอบให้กับพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี

เนื้อหางานมีเวทีเสวนา “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นน่าน-แควน้อย” โดย ศ.พิเศษ ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม นักประวัติศาสตร์แถวหน้าของเมืองไทย พร้อมกันนี้ได้ประมูลงานภาพวาด วิถีชีวิตคนสองแคว เพื่อนำเงินที่ได้จากการประมูลมอบให้พิพิธภัณฑ์ และไฮไลต์ของงานยังมีแสดงดนตรีโดย “หงา คาราวาน” และสหาย “มงคล อุทก” ท่ามกลางความสนใจของคนพิษณุโลก มีผู้ซื้อบัตรเข้าร่วมงานกว่า 400 คน สามารถรวบรวมเงินจากการขายบัตรผ่านประตู เป็นเงิน 190,600 บาท และมีรายได้จากการประมูลภาพวาดกว่า 30,000 บาท ส่งมอบให้จ่าสิบเอก ดร.ทวี บูรณเขตต์ เพื่อใช้ในการบริหารงานและบำรุงพิพิธภัณฑ์

ศ.พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม นักประวัติศาสตร์ กล่าวว่า เมืองสองแคว หรือสรลวง สองแคว มีความรุ่งเรืองในอดีตในศัตรวรรษที่ 18-19 จากความสมบูรณ์ของลำน้ำ 2 เส้น คือ แม่น้ำแควน้อย และแม่น้ำน่าน และยังมีความสำคัญในอดีตกลางก็คือ บ่อเกลือ และแร่เหล็ก คนสองแควที่มีรากเหง้ามาจาก “ไทยดำ” คนเมืองหลวงพระบาง แต่ไม่ใช่ล้านนา พบเห็นซากวัฒนธรรมและโบราณวัตถุแถบอำเภอนครไทย ชาติตระการและวัดโบสถ์ ตามเส้นทางอพยพตามลำน้ำแควน้อย

เมืองสองแคว และชากังราว ถือว่ารุ่งเรืองสุดขีดต่อจากสมัยสุโขทัย ที่ยุคนั้นก็พบว่าเมืองเก่าสุโขทัยแห้งแล้ง ไม่มีน้ำใช้ กษัตริย์หลายพระองค์มาอยู่ที่เมืองสองแคว และสร้างเมืองฝั่งตะวันตก คือ วังจันทน์ สมัยสมเด็จพระนเรศวร ต่อมามีการเปลี่ยนชื่อว่า สรลวง สองแคว เป็น พิษณุโลก เพราะได้รับวัฒนธรรมจากเขมร ที่นำเอาคำว่า วิษณุ และโลก มารวมกัน ส่วนเมืองอกแตก ก็เพราะเริ่มมีการขยายไปฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน

ปัจจุบัน เมืองพิษณุโลกรกรุงรังมองไม่เห็นสภาพเมืองเก่า และไม่ได้อนุรักษ์อะไรไว้มากนัก นอกเสียจากพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี ที่ถือว่า เป็นภูมิปัญญาคนท้องถิ่น เก็บความรู้สะสมมาตั้งแต่อดีต มีเครื่องมือดักสัตว์ไม่รู้กี่ร้อยกี่พันชิ้น และล้วนมีความหมาย ควรอยู่คู่สังคมไทยไทย ไม่ว่า รัฐบาลหรือสังคมจะไม่ให้การสนับสนุนใดๆก็ตาม แต่ก็ขอให้คนพิษณุโลกช่วยกันดูแลพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี

นายสาคร สงมา ตัวแทนเอ็นจีโอที่ทำงานเพื่อฟื้นฟูวิถีชุมชนท้องถิ่นในครั้งนี้กล่าวว่า พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี เป็นแหล่งรวบรวมภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย และสถานที่ท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อของจังหวัดพิษณุโลกต่อจากกรุ๊ปทัวร์ลงวัดใหญ่ แต่ช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี 2526 ที่ผ่านมาพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี โดดเดี่ยว แบกรับภาระด้านค่าใช้จ่ายคนเดียวไม่ต่ำกว่า 60,000 บาทต่อเดือน รายได้เข้าชมเก็บได้แค่ 30,000 บาท

ทำให้คนรุ่นลูกอย่าง น.ส.พรศิริ บูรณเขตต์ มีหนี้สิน ส่วนลุงจ่าและครอบครัวก็เริ่มอ่อนล้า ทำให้กลุ่มพวกตนต้องโดดลงมาช่วย ก่อนจะต้องบอกว่าเสียดาย เมื่อถึงเวลาที่ต้องปิดพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี กลุ่มหนุ่มสาวที่มาช่วยกันครั้งนี้ก็เพื่อจุดประกายให้คนในท้องถิ่นสำนึกท้องถิ่นและให้กำลังลุงจ่า กับอยู่คู่กับพิพิธภัณฑ์ ว่า คนรุ่นหลังก็ให้ความสำคัญ

“ผมมีกำลังใจขึ้นมากทีเดียว หวังว่าท่านทั้งหลายที่มีจิตสาธารณะที่ร่วมกันจุดงานและมอบเงินนับแสนบาทครั้งนี้ นับว่า เป็นพระคุณอย่างยิ่ง พิพิธภัณฑ์ยืดอายุได้ ขณะนี้ผมได้ปั้นพระและหล่อพระพุทธชินราช และกำลังเผยแพร่ให้ผู้สนใจได้จอง เพื่อจะนำเงินมาทำนุบำรุงพิพิธภัณฑ์และจะบูรณะให้พิพิธภัณฑ์นี้ให้ยืนยง และดำรงอยู่คู่กับเมืองพิษณุโลกต่อไป” จ่าสิบเอกทวี บูรณเขตต์ กล่าวขอขอบคุณกลุ่มหนุ่มสาวและชาวพิษณุโลกบนเวที

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจัดงาน “ฟื้นฟู วิถีชุมชน ชื่นชมคนท้องถิ่น สรวง-สองแคว”ครั้งนี้ มีรายได้จากการขายบัตรและยอดบริจาคกว่าแสนบาท ร่วมกับการประมูลภาพกว่า 3 หมื่นบาท ซึ่งผลงานภาพเขียนเกิดจากอาจารย์และนักศึกษา ม.ศิลปกร ช่วยกันวาดภาพในบ่ายวันจัดงานจำนวน 7 ภาพ กระทั่งประมูลให้ราคาสูงถึงภาพละ 7,600 บาท

ส่วนไฮไลต์ของงาน คือ วงดนตรี “หงา คาราวาน”และ “หว่อง -มงคล อุทก” ยังไม่สิ้นมนต์ขลัง สามารถสะกดให้คนพิษณุโลกสนใจจำนวนมาก นอกจากนี้แฟนคลับ “น้าหงา” และพันธมิตรฯ ยังคงตามติดผลงานบทเพลงเพื่อชีวิตไปถึงร้านอาหาร “เดอะ คอทเทจ พิด’โลก” ร้านอาหารสไตล์คาวบอยอย่างคึกคัก
เสียงเพลงเพื่อชีวิตน้าหงากระหึ่มถึง”เดอะ คอทเทจ พิด’โลก”ร้านสไตล์คาวบอย
ภาพวาดเรือนแพ พิษณุโลกที่มีคนให้ราคาสูงสุดถึง 7,600 บาท
งานเสวนาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นโดย ศ.พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม นักประวัติศาสตร์
จ่าทวี บูรณเขตต์ กับภาพวาดที่นำไปประมูลหารายได้จุนเจือพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี

กำลังโหลดความคิดเห็น