รายงาน
ศูนย์ข่าวภาคเหนือ
แผนการส่งพลพรรคคนเสื้อแดงในต่างจังหวัดเข้าไปปิดล้อมศาลากลางจังหวัดพร้อมกันทั่วประเทศที่หวังให้เป็นกองทัพพิสดารสร้างแรงกดดันกับรัฐบาลกลับล้มเหลวไม่เป็นท่าเพียงชั่วข้ามคืน คนเสื้อแดงยุติการชุมนุมก่อนแกนนำประกาศ 14 จังหวัด อ้างว่ากลับบ้านค่อยมาใหม่อีก 12 จังหวัด เหลือพักค้างจริงเพียง 14 จังหวัดซึ่งมียอดแต่ละจุดหรอมแหรม เช้าขึ้นมาหนีกลับอีกส่งผลให้แกนนำต้องแก้ปัญหาด้วยการประกาศชัยชนะ สั่งยกเลิกแผน
การระดมกำลังประชาชนคนเสื้อแดงไปปิดล้อมศาลากลางจังหวัดที่เริ่มประกาศตั้งแต่สายของวันที่ 30 มีนาคม เรียกร้องขอให้คนเสื้อแดงทุกจังหวัดไปรวมตัวที่ศาลากลางจังหวัดของตนและพร้อมจะปิดล้อมทันที ที่มีสัญญาณจากเวทีใหญ่ที่ทำเนียบรัฐบาล
ตัวเลขการรายงานของศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงมหาดไทย (ศปก.มท.) คืนวันที่ 30 มีนาคม มีคนเสื้อแดงไปชุมนุมที่หน้าศาลากลางรวม 42 จังหวัดประชาชนประมาณ 8,495 คน
อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบดูในรายละเอียดของแต่ละพื้นที่กลับพบว่า มีเพียงไม่กี่จังหวัดเท่านั้นที่มีคนมาชุมนุมเกิน 300 คน เช่น เชียงใหม่ประมาณ 800 คน ชัยภูมิ ประมาณ 300 คน นครราชสีมาประมาณ 300 คน ชลบุรีประมาณ 330 คน
ส่วนใหญ่ที่พบมีการชุมนุมจังหวัดละไม่เกิน 50 คนเท่านั้น เช่น นครปฐม อ่างทอง สุพรรณบุรี สระบุรี สมุทรสาคร สิงห์บุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี เลย สกลนนคร สุรินทร์ กำแพงเพชร พะเยา นครสวรรค์ ฯลฯ เป็นต้น
การชุมนุมของคนเสื้อแดงเริ่มอ่อนล้าหลังเวลา 19.00 น.ของวันที่ 30 มีนาคม โดยมีคนทยอยเดินทางกลับเรื่อย ๆ อย่างกรณีจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งมียอดรายงานผู้เข้าร่วมชุมนุมมากที่สุดคือ 800 คน แบ่งเป็นประชาชนทั่วไป สมาพันธ์ชาวเหนือเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ปรากฏว่ากลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ได้ถอนตัวออกมา
เช่นเดียวกับประชาชนทั่วไปที่เริ่มค่ำก็กลับบ้าน เหลือเพียงกลุ่มเสื้อแดงสมาพันธ์ชาวเหนือเพื่อประชาธิปไตยไม่กี่คนเท่านั้น
หลายจังหวัดแกนนำได้ประกาศยุติการชุมนุมไปโดยปริยาย ขณะที่อีกหลายจังหวัดต้องประกาศว่าสลายตัวชั่วคราวแล้วจะกลับมาใหม่ในวันรุ่งขึ้น
รายงานของ ศปก.มท.จำแนกจังหวัดที่แกนนำกลุ่มประกาศยุติการชุมนุมไปเลยจำนวน 14 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี นครปฐม สระบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี กำแพงเพชร แม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา กาฬสินธุ์ มหาสารคาม สกลนคร นครพนม และศรีสะเกษ
ส่วนจังหวัดที่แกนนำสั่งกลับบ้านบอกว่าจะมาใหม่มี 12 จังหวัด ประกอบด้วย อ่างทอง กาญจนบุรี จันทบุรี ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร พิษณุโลก ลำปาง อุตรดิตถ์ ยโสธร อุบลราชธานี และนครราชสีมา
เหลือที่ปักหลักค้างคืนตามคำประกาศของแกนนำเพียง 14 จังหวัด คือ ชลบุรี เชียงใหม่ น่าน นครสวรรค์ ลำพูน ชัยภูมิ เลย หนองคาย ขอนแก่น มุกดาหาร ร้อยเอ็ด สุรินทร์ อุดรธานี และ หนองบัวลำภู โดยมีจำนวนผู้ปักหลักพักค้างแห่งละไม่มากนัก
จนกระทั่งถึงเวลา 09.00 น. หลายจังหวัดที่แกนนำประกาศว่าจะนำพลพรรคเสื้อแดงกลับมาชุมนุมใหม่ก็ยังไม่มีการเคลื่อนไหวใด ๆ ขณะที่จังหวัดซึ่งมีการพักค้างได้มีคนเสื้อแดงทยอยกลับบ้านเหลืออยู่เฉลี่ยแห่งละ 10-30 คนเท่านั้น เป็นเหตุให้ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช. ประกาศผ่านเวทีปราศรัยเมื่อเวลา 10.00 น.ของวันที่ 31 มีนาคม ขอให้คนเสื้อแดงที่ชุมนุมตามศาลากลางจังหวัดต่างๆ สลายตัวโดยอ้างว่า เพื่อเก็บกำลังรอระดมพลเข้ากรุงเทพฯในเวลาที่เหมาะสม แต่หากเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการใช้กำลัง คนเสื้อแดงจะกลับมาชุมนุมอีกครั้ง ทั้งยังกล่าวด้วยว่า การชุมนุมของคนเสื้อแดงในต่างจังหวัดเป็นชัยชนะก้าวที่ 3 เพราะสามารถทำให้คณะรัฐมนตรียกเลิกการประชุมได้
การตรวจสอบของเอเอสทีวีผู้จัดการ พบว่า ยอดตัวเลขในตอนเช้าของผู้ชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลตามรายงานของ ศปก.มท. ในช่วง 5 วันที่ผ่านมา อยู่ระหว่าง 2,000-3,500 คน ซึ่งสอดคล้องกับการพบว่ามีคนเสื้อแดงต่างจังหวัดทยอยกลับ แต่ก็มีการส่งคนหมุนเวียนไปเสริมกำลังเพื่อรักษาสภาพการปักหลักพักค้างช่วงกลางคืนให้มีมวลชนไม่น้อยกว่า 2,000 คน ซึ่งคนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัด