xs
xsm
sm
md
lg

ทภ.3 สั่งทุกหน่วยแก้วิกฤตไฟป่า-หมอกควัน ย้ำในค่ายห้ามมีควันไฟ-ยกเลิก MOU ป่าไม้ชั่วคราว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย – กองทัพภาคที่ 3 สั่งทุกหน่วยในสังกัดเดินหน้าสกัดปัญหาไฟป่า-หมอกควัน ไม่ต้องรอการร้องขอ-ไม่ต้องรอฟ้าฝนอีกต่อไป หวั่นกระทบการท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์ปีนี้ สั่งย้ำในค่ายทหารห้ามมีควันไฟเกิดขึ้นเด็ดขาด ยกเว้นเพื่อการหุงหาอาหาร พร้อมขอยกเลิก MOU กับป่าไม้ชั่วคราว เพื่อหันมาแก้ปัญหาวิกฤตเฉพาะหน้าเต็มที่

รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า วันนี้ (12 มี.ค.) พล.ท.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน แม่ทัพภาคที่ 3 ได้เดินทางไปร่วมประชุมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาหมอกควัน ณ ห้องประชุมสโมสรค่ายเม็งรายมหาราช จ.เชียงราย โดยมีหัวหน้าส่วนราชการเข้าร่วมครบครัน

ซึ่ง พล.ท.ทนงศักดิ์ เกริ่นนำตั้งแต่ต้นว่า การเชิญประชุมครั้งนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังรายงานผลการดำเนินการของหน่วยงานต่างๆ แต่ต้องการระดมสมองว่า จะแก้ไขปัญหาหมอกควันที่ปลายเหตุหรือในปัจจุบันนี้อย่างไร เพราะสภาพยังคงมีอยู่จนทำให้ทาง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ได้มีคำสั่งให้กองทัพภาคที่ 3 ลงไปหาวิธีการแก้ไขโดยด่วน เพราะมีข่าวทางสื่อมวลชนออกมาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันหากว่าไม่แก้ไขโดยด่วนก็อาจจะกระทบต่อการท่องเที่ยวในเทศกาลสงกรานต์เดือนเมษายน 2552 นี้ด้วย

พล.ท.ทนงศักดิ์ กล่าวว่า กองทัพได้ตั้งชุดปฏิบัติการดับไฟป่าขึ้นมา 112 ชุด กำลังพลประมาณ 1,000 คน ตั้งกองบัญชาการอยู่ที่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ขณะที่หลายหน่วยงานทราบว่าได้ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันอย่างต่อเนื่อง แต่พวกเราต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาการดำเนินไม่ได้ผลเพราะถ้าได้ผลคงไม่ต้องมานั่งประชุมหารือกันอีก เพราะค่ามาตรฐานของปริมาณฝุ่นละอองและหมอกควันยังสูงอยู่ ขณะที่สื่อมวลชนก็นำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นทุกฝ่ายจึงต้องการช่วยแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุพร้อมๆ กันไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประชาชนและสื่อมวลชน เพราะเราจะมารอแต่เรื่องฟ้าฝนคงไม่ได้อีกต่อไป

พล.ท.ทนงศักดิ์ กล่าวอีกว่า ได้มีการประชุมกันแล้วที่ จ.เชียงใหม่ -จ.แม่ฮ่องสอน และเก็บรวบรวมข้อมูลหลายด้านก็สรุปได้ว่าปัญหาเกิดจากไฟป่า ความแห้งแล้งและการเผาไร่ ยิ่งในปีนี้พบภัยแล้งรุนแรงโดยทั่ว 17 จังหวัดภาคเหนือมีการประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้งแล้วกว่า 195 อำเภอ ซึ่งในอนาคตก็คาดว่าคงจะประกาศครบหมดเต็มพื้นที่ ซึ่งความแห้งแล้งนี้เองทำให้ใบไม้ทับทมโดยไม่มีความชื้นจนติดไฟได้ง่ายอีก ขณะเดียวกันเศรษฐกิจก็แย่ทำให้คนทำงานในเมืองกลับชนบทและหันไปเผาไร่ประกอบอาชีพ ดังนั้นจึงสั่งการให้ทหารทุกหน่วยในสังกัดได้ปฏิบัติคือให้ทุกค่าย ทุกกองร้อยและครอบครัว ทำตัวเป็นตัวอย่างไม่ทำการเผากองหญ้า เศษวัชพืชเสียอีก โดยในค่ายทหารจะมีควันไฟไม่ได้เด็ดขาดยกเว้นเพื่อหุงหาอาหาร ไม่เช่นนั้นจะไปปฏิบัติการ หรือขอความร่วมมือลำบาก

แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวด้วยว่า ได้ยกเลิกข้อตกลงร่วมหรือเอ็มโอยูระหว่างกองทัพกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องการร้องขอกำลังทหารไปช่วยแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับป่าไม้ชั่วคราว และให้ทหารหันมาป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าเป็นภารกิจสำคัญพิเศษ ไม่ต้องรอให้หน่วยงานอื่นขอก็ต้องเข้าไปแก้ไขทันที เบื้องต้นคือต้องชักชวนประชาชนให้มีส่วนร่วม เมื่อพบเห็นไฟป่าก็ใช้เครื่องมืออุปกรณ์ที่มีอยู่ เช่น เฮลิคอปเตอร์ เครื่องดับไฟ ฯลฯ เข้าไประงับเหตุ โดยต้องฝึกซ้อมและทำให้ถูกวิธีไม่เช่นนั้นจะเป็นอันตราย ให้เพิ่มภารกิจของโครงการหยุดวิกฤติด้วยเศรษฐกิจพอเพียงในการแก้ไขปัญหาหมอกควันไปด้วย

“กรณีของ ผบ.ฉก.ม.3 ถือเป็นประธานคณะกรรมการประสานชายแดนไทย-พม่า ระดับท้องถิ่นฝ่ายไทยหรือทีบีซี ก็ให้ประสานกับทีบีซีฝ่ายพม่าเพื่อขอความร่วมมือในการระงับไฟป่าและการเผาวัชพืชในเขตประเทศพม่าด้วย” พล.ท.ทนงศักดิ์ กล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า ในที่ประชุมมีการนำฉายแผนที่สถานการณ์ 48 ชั่วโมง หรือฮอตสปอต ไปแสดงด้วย ซึ่งพบว่ายังคงมีการเกิดไฟป่าทั่วภาคเหนือและจะมีมากในเขตชายแดนไทย-สปป.ลาว หรือทางแขวงลาวเหนือมากที่สุด ที่ประชุมยังหารือว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ซึ่งนายวรวิทย์ เชื้อสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 เสนอให้มีการทำเอ็มโอยูกับชาวบ้านเหมือนกรณีของสำนักงานฯ ที่ทำเอ็มโอยูกับชาวบ้าน ต.ป่าตึง อ.แม่จัน ต.แม่สลองนอก และ ต.แม่สลองใน อ.แม่ฟ้าหลวง ทุกหมู่บ้านว่าจะไม่เผาป่าเผาไร่ในเดือน มี.ค.-เม.ย.นี้ เพราะแม้จะเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่หรือเข้มงวดจับกุมก็คงไม่ได้ผล เพราะเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านหากจับกุมก็จะเดือดร้อนและพากันเผาหนักกว่าเก่ารวมทั้งการจับกุมทำได้ยากมาก

ด้าน นางอรัญญา บุญตานนท์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ท่าสาย ในฐานะตัวแทนชมรมนายก อบต.เชียงราย กล่าวว่า พื้นที่พบปัญหาชาวบ้านเผาป่าเพื่อหาเห็ดซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่มาเนิ่นนานจะไปตรวจจับหรือเปลี่ยนแปลงลำบากมาก โดยเฉพาะหากเป็นภาคการเมืองเข้าไปดำเนินการลำบาก เจ้าหน้าที่ป่าไม้บางคนในพื้นที่ที่เข้าไปดำเนินการถึงกับถูกขู่ฆ่า ดังนั้นหากเจ้าหน้าที่จะแก้ไขปัญหาก็ขอให้ช่วยกันทุกฝ่ายโดยทางท้องถิ่นจะรับภาระเรื่องงบประมาณเป็นหลัก



กำลังโหลดความคิดเห็น