xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัย มข.โชว์เครื่องวัดกระดูกสันหลังยุบตัว-ทำให้รู้ต้นเหตุพิการจากกระดูกทับเส้นประสาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณะนักวิจัยกับ “เครื่องวัดการยุบตัวของลำสันหลังในแนวดิ่ง”
ศูนย์ข่าวขอนแก่น- ทีมนักวิจัย ม.ขอนแก่น โชว์ผลงานวิจัยด้านสุขภาพ นำเครื่องวัดการยุบตัวลำสันหลังแนวดิ่ง วัดการยุบตัวของลำสันหลัง เผยประโยชน์จะทำให้ผู้ป่วย ทราบถึงกิจกรรมใดที่เป็นอันตรายต่อการยุบตัวของกระดูกสันหลัง อันเป็นต้นเหตุให้เกิดโรคปวดหลัง จนถึงหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทจนเกิดความพิการได้ เผยต้นทุนผลิตต่ำกว่าต่างชาติถึง 5 เท่าตัว ทั้งค่าการวัดละเอียดกว่า ระบุความพร้อมต่อการผลิตคืบหน้าแล้วกว่า 90%

เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดแถลงข่าวนักวิจัยพบสื่อมวลชน โดยมีผลงานวิจัยที่น่าสนใจ เรื่อง “เครื่องวัดการยุบตัวของลำสันหลังในแนวดิ่ง” โดยมี รศ.ดร.รุ้งทิพย์ พันธุเมธากุล อาจารย์ประจำคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหัวหน้าคณะนักวิจัย นำเสนอผลงานวิจัยดังกล่าว ณ ห้องประชุม 1 สำนักงานอธิการบดี 2 มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รศ.ดร.รุ้งทิพย์ พันธุเมธากุล หัวหน้าทีมนักวิจัยเรื่อง “เครื่องวัดการยุบตัวของลำสันหลังในแนวดิ่ง” เปิดเผยว่า อาการปวดหลัง เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยมากในกลุ่มวัยทำงาน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงาน กลุ่มคนทำงานออฟฟิศ ผู้ที่ต้องนั่งในท่าเดิมเป็นเวลานานๆ การยกสิ่งของหนักๆ รวมถึงการออกกำลังกายในบางท่าที่ไม่เหมาะสมกับวัย และสภาพของร่างกาย อาจทำให้เกิดอาการปวดหลังได้

การหาแนวทางป้องกันเพื่อเป็นข้อมูล ในการแจ้งเตือนถึงพฤติกรรมที่อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคปวดหลัง และเป็นอันตรายต่อหลัง จึงเป็นที่มาของการศึกษาวิจัย การสร้างเครื่องวัดการยุบตัวของลำสันหลังในแนวดิ่ง โดยมีตน รศ.ดร.รุ้งทิพย์ พันธุเมธากุล สายวิชากายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ เป็นหัวหน้าทีมวิจัย พร้อมด้วย ดร.วรินทร์ สุวรรณสูตร อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และ อาจารย์วิชัย เปรมชัยสวัสดิ์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รศ.ดร.รุ้งทิพย์ กล่าวต่อว่า เครื่องวัดการยุบตัวของลำสันหลังในแนวดิ่งนี้ สร้างขึ้นเพื่อต้องการ วัดการยุบตัวของลำสันหลังในแนวดิ่ง (ความสูงที่หายไป) หลังจากการทำกิจกรรมต่างๆ ของประชาชนทั่วไป หรือกิจกรรมที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคปวดหลัง เพื่อใช้เป็นข้อมูลทางสถิติที่เชื่อถือได้ ในการให้ความรู้แก่ประชาชน ว่า พฤติกรรมใดในชีวิตประจำวัน จะมีผลเสียต่อสุขภาพจนเป็นอันตรายต่อหลัง

เช่น หากต้องการทราบว่า การนั่งทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ของกลุ่มตัวอย่างวัยทำงาน จำนวน 100 คน จะทำให้การยุบตัวของลำสันหลังเป็นปริมาณเท่าไร อันดับแรก จะทำการวัดปริมาณการยุบตัวของลำสันหลังในแนวดิ่งของอาสาสมัคร จากนั้นให้อาสาสมัครนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ ในเวลา 1 ชั่วโมง แล้วทำการวัดปริมาณการยุบตัวของลำสันหลังของอาสาสมัครอีกครั้งด้วยเครื่องวัดการยุบตัวของลำสันหลังในแนวดิ่งที่สร้างขึ้น

ทั้งนี้ หากผลการวัดที่ได้ มีความแตกต่างกันมาก ก็จะสามารถบอกได้ว่า พฤติกรรมการนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์นาน 1 ชั่วโมง มีผลทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังและโครงสร้างรอบๆ เกิดการยุบตัว ซึ่งอาจเป็นผลเสียก่อให้เกิดอาการปวดหลังที่รุนแรงตามมาได้ในภายหลัง

สำหรับเครื่องวัดการยุบตัวของลำสันหลังในแนวดิ่ง แบ่งการทำงานออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่วัดการยุบตัวของลำสันหลัง ออกแบบโดย ดร.วรินทร์ สุวรรณสูตร ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นส่วนที่วัดการยุบตัวของลำสันหลัง โดยมีอุปกรณ์ที่สามารถวัดการยุบตัวของลำสันหลังได้ละเอียดถึง 1 ไมโครเมตร และจะทำการวัดค่าทุกๆ 1 ส่วน 200 วินาที จากนั้นจะทำการส่งข้อมูลไปยังคอมพิวเตอร์ ที่มีซอร์ฟแวร์ประมวลผลของข้อมูล โดยแสดงผลออกมาทั้งในรูปของกราฟ และตัวเลข

ส่วนที่ 2 คือ ระบบควบคุมท่าทาง (postural control system) ออกแบบ โดย อาจารย์วิชัย เปรมชัยสวัสดิ์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ ส่วนนี้จะทำหน้าที่ควบคุมท่าทางของผู้ถูกวัดให้อยู่ในท่ามาตรฐานในขณะวัด โดยมีตัวเซ็นเซอร์ 4 ตัวควบคุมด้วยไฟฟ้า วางอยู่ตามจุดต่างๆ ตั้งแต่บริเวณคอ จนถึงหลังส่วนล่าง โดยระบบเซ็นเซอร์นี้จะส่งสัญญาณเตือนอาสาสมัครทุกครั้ง เมื่ออาสาสมัครมีการขยับตัว หรือเคลื่อนไหวตัวในขณะวัด ระบบควบคุมท่าทางนี้จะช่วยทำให้ค่าที่วัดได้เป็นค่าที่ถูกต้อง และแม่นยำยิ่งขึ้น

รศ.ดร. รุ้งทิพย์ กล่าวต่อว่า ขั้นตอนการสร้างเครื่องมือชิ้นนี้ ถือว่าคืบหน้ากว่า 90% เหลือเพียงความพร้อมของวัสดุบางส่วนเท่านั้น ส่วนระบบการวัดและประมวลผล มีความน่าเชื่อถือ 100% และหากเปรียบเทียบต้นทุนในการสร้างเครื่องวัดการยุบตัวของลำสันหลังในแนวดิ่งเครื่องนี้ (Thai version) กับเครื่องที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาสูงถึง 500,000 บาท แต่เครื่องที่สร้างขึ้นโดยทีมนักวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่นเครื่องนี้มีต้นทุนเพียง 100,000 กว่าบาทเท่านั้น

ทั้งยังมีค่าความถูกต้อง (accuracy) ดีกว่าเครื่องของต่างประเทศมากทีเดียว โดยเครื่องของต่างประเทศมีค่า accuracy อยู่ที่ ±0.01 มิลลิเมตร แต่เครื่องที่ผลิตโดยคนไทยเครื่องนี้มีค่า accuracy อยู่ที่ ±0.006 มิลลิเมตร

จากการทำงานของเครื่องวัดการยุบตัวของลำสันหลังในแนวดิ่งนี้ จะสามารถบอกได้ว่าการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันของคนเรานั้น กิจกรรมใดบ้างที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อหมอนรองกระดูกสันหลังและลำสันหลังได้ โดยมีทฤษฎีว่า กิจกรรมใดก็ตามที่ทำแล้วก่อให้เกิดการยุบตัวของลำสันหลังมากอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กิจกรรมนั้นน่าจะเป็นอันตรายต่อลำสันหลังเป็นอย่างยิ่ง ประชาชนควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนั้น มิเช่นนั้นโรคที่ตามมาอาจไม่ใช่แค่อาการปวดหลังธรรมดาเท่านั้น แต่อาจลุกลามกลายเป็นอาการชา และอ่อนแรงของกล้ามเนื้อขา ที่มีผลมาจากหมอนรองกระดูสันหลังยื่น หรือปลิ้นทับเส้นประสาทได้นั่นเอง
รศ.ดร.รุ้งทิพย์  พันธุเมธากุล อาจารย์ประจำคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหัวหน้าคณะนักวิจัย ขณะกำลังนำเสนอผลงานวิจัยดังกล่าว

เครื่องวัดการยุบตัวของลำสันหลังในแนวดิ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น