xs
xsm
sm
md
lg

พายุฤดูร้อนพัดถล่ม จ.อุบลฯ บ้าน-สวนยางพัง เซ่นแล้ว 1 ศพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี-อิทธิฤทธิ์พายุฤดูร้อนพัดถล่ม อ.บุณฑริก จ.อุบลราชธานี สร้างความเสียหายให้บ้านเรือนราษฎร สวนยางพาราล้มระเนระนาดกว่า 200 ไร่ ความรุนแรงของพายุยังทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย หลังเกิดเหตุประธานสภา อบจ.รุดเยี่ยมปลอบขวัญชาวบ้าน พร้อมให้ความช่วยเหลือเต็มที่

เมื่อกลางดึกคืนวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้เกิดพายุฤดูร้อนพัดถล่มในเขตตำบลคอแลน อ.บุณฑริก จ.อุบลราชธานี ทำให้บ้านเรือนราษฎรในหมู่บ้านขอนแป้น หมู่ที่ 9 และบ้านศิลาชัย หมู่ที่ 13 ถูกพายุพัดหลังคาและฝาบ้านพังเสียหายจำนวน 55 หลังคาเรือน รวมทั้งยังมีต้นไม้ขนาดใหญ่หักโค่นขวางกลางถนนระหว่างบ้านหลักป้ายไปบ้านขอนแป้น ทำให้ประชาชนที่ใช้ถนนต้องหันไปใช้ทางเบี่ยงแทน

อิทธิพลของพายุฤดูร้อนที่เกิดขึ้นยังพัดถล่มสวนยางพาราทำให้ต้นยางพาราของเกษตรกรในตำบลดังกล่าวเสียหายกว้างกว่า 200 ไร่ และความแรงของพายุยังทำให้กำแพงอิฐบล็อกบ้านพักนางทองแดง ทองแสน อายุ 87 ปี ราษฎรบ้านโนนบาก ต.โพนงาม พังลงมาทับนางทองแดงจนเสียชีวิตด้วย

หลังเกิดเหตุนางรำพูล ตันติวนิชชานนท์ สจ.อำเภอบุณฑริก และประธานสภาจังหวัด ได้นำเจ้าหน้าที่หน่วยบรรเทาสาธารณภัยและเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอเข้าสำรวจความเสียหาย เพื่อเก็บข้อมูลรายงานให้ทางจังหวัดเร่งเข้ามาให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย เบื้องต้นเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราจะได้รับเงินชดเชยความเสียหายจากรัฐบาล ในราคาไร่ละ 960 บาท ส่วนอาคารบ้านเรือนก็จะได้รับการพิจารณาช่วยเหลือตามความเสียหายที่เกิดขึ้น

นางสาคร พรหมตา อายุ 45 ปี เจ้าของร้านชำในหมู่บ้านขอนแป้น เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ได้ยินเสียงลดพายุพัดอย่างแรงมาจากอ่างเก็บน้ำใกล้หมู่บ้าน ซึ่งพัดตรงเข้ามาปะทะกับตัวบ้าน พร้อมหอบเอาหลังคาสังกะสีปลิวไปตามแรงลม ทำให้สินค้าภายในร้านได้รับความเสียหาย เพราะเปียกน้ำฝนทั้งร้าน ส่วนหลังคาบ้านก็ปลิวไปตกอยู่กลางทุ่งนาของอีกฝากถนน

ด้าน นายนเรนทร์ พรานไพร เจ้าของสวนยางพาราที่ได้รับความเสียหายจากอิทธิพลพายุครั้งนี้เล่าว่า ได้ยินเสียงลมพัดพุ่งตรงเข้าหาสวนยาง ซึ่งขณะเกิดเหตุไม่กล้าออกจากบ้านมาดูเพราะเสียงดังมาก หลังพายุสงบก็พบต้นยางพาราที่ให้น้ำยางมาแล้วกว่า 3 ปี ล้มระเนระนาดกินเนื้อที่กว่า 15 ไร่ ความสูญเสียครั้งนี้นับว่ารุนแรง

ทั้งนี้ เพราะต้นยางแต่ละต้นสามารถให้น้ำยางคิดเป็นเงินเฉลี่ยต้นละ 2 บาท/วัน สำหรับสวนยางของตนเสียหายกว่า 500 ต้น ทำให้สูญเสียรายได้และโอกาสในการกรีดยางตามอายุขัยของต้นยางคิดเป็นมูลค่ากว่า 5 ล้านบาท ส่วนค่าชดเชยที่ได้รับจากรัฐบาลก็คงช่วยอะไรไม่ได้มากนัก


กำลังโหลดความคิดเห็น