xs
xsm
sm
md
lg

ม.ราชภัฎเชียงรายเดินหน้าสร้างเครือข่ายแพทย์พื้นบ้าน 4 ชาติลุ่มน้ำโขง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.ยิ่งยง เทาประเสริฐ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มร.ช.)
เชียงราย – วิทยาลัยการแพทย์พื้นบ้านมหาวิทยาลัยราชภัฎฯ ฟื้นตำรา"หมอเมือง"ของดีพื้นบ้านลุ่มน้ำโขงที่ถูกลืม พร้อมสร้างเครือข่ายการแพทย์พื้นบ้าน 4 ชาติ ไทย พม่า ลาว จีน เพิ่มทางเลือกผู้ป่วย ลดค่าใช้จ่ายจากการรักษาตามแนวทางการแพทย์แผนปัจจุบัน

ดร.ยิ่งยง เทาประเสริฐ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มร.ช.) ในฐานะหัวหน้าโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายการแพทย์พื้นบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนบน สำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันแม้ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการแพทย์จะรุดหน้า แต่ก็ส่งผลกระทบด้านค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพที่สูงขณะที่บรรษัทที่ด้านการแพทย์ และยาได้กำไร ดงนั้นเพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคต่าง ๆ ทางโครงการฯ ได้พยายามฟื้นฟูภูมิปัญญาของคนท้องถิ่นในการดูแลรักษาโรค โดยตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา ได้สังคายนาองค์ความรู้หมอเมือง พัฒนา ศึกษา วิจัย เรื่อยมากระทั่งล่าสุดจึงเกิดโครงการเสริมสร้างเครือข่ายการแพทย์พื้นบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนบน ดำเนินการระหว่างปี 2551-2552

ผลการศึกษาก่อให้เกิดตำราอ้างอิงกลางในกลุ่มหมอพื้นบ้านจำนวน 4 เล่ม ได้แก่ ตำราทฤษฎีการแพทย์พื้นบ้านล้านนา ตำราเภสัชกรรมการแพทย์พื้นบ้านล้านนา ตำรากายภาพบำบัดของการแพทย์พื้นบ้านล้านนา และตำราพิธีกรรมบำบัด จิตบำบัดของการแพทย์พื้นบ้านล้านนา รวมทั้งเกิดเครือข่ายเพื่อพัฒนาในอนาคต ทั้งยังทำให้ระดับนโยบายเกิดการยอมรับหมอพื้นบ้านหรือหมอเมืองมากขึ้น โดยมีการเชิญหมอเมืองเข้าร่วมงานบริการสุขภาพในสถานบริการสุขภาพของรัฐ ในฐานะผู้ช่วยแพทย์ หรือผู้ช่วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือการออกใบอนุญาตประกอบโรคศิลป์แก่หมอพื้นบ้านให้มีสิทธิตามกฎหมายในการรักษา ทำให้หมอพื้นบ้านพ้นสภาพของหมอเถื่อน

ที่สำคัญเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับประชาชนที่เจ็บป่วยเรื้อรัง ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีการของแพทย์แผนปัจจุบันได้เด็ดขาด เพราะคนกลุ่มนี้จะมีทางเลือกในการทดลองรักษาด้วยวิธีการพื้นบ้าน ซึ่งสามารถทดแทนสิ่งที่ขาดหาย ตอบสนองทั้งทางสุขภาพกาย และสุขภาพใจ

ดร.ยิ่งยง บอกอีกว่า ปัจจุบันโครงการยังมีการจัดการศึกษาเป็นหลักสูตรท้องถิ่น เช่น ชนเผ่าอาข่าที่สามารถพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นในโรงเรียนและจัดการเรียนการสอน ทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น สำหรับระดับอุดมศึกษาในหลักสูตรปริญญาตรี โท เอก เปิดสอนที่วิทยาลัยการแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก

นอกจากนี้ มร.ช.ยังทำการวิจัยแพทย์พื้นบ้านเพื่อสร้างเครือข่ายหมอพื้นบ้านลุ่มน้ำโขงตอนบนได้ เช่น เครือข่ายหมอพื้นบ้านสิบสองปันนา เครือข่ายหมอพื้นบ้านเชียงตุง เครือข่ายหมอพื้นบ้านหลวงน้ำทา-บ่อแก้ว ผ่านกระบวนการในรูปแบบการจัดเวทีกลางเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยและการพัฒนาการแพทย์และสมุนไพรพื้นบ้านระหว่างหมอพื้นบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนบน จนเกิดแนวคิดในการจัดตั้ง “สถาบันวิจัยและพัฒนาการแพทย์พื้นบ้านและสมุนไพรลุ่มน้ำโขง” ในสังกัดวิทยาลัยการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก มร.ช.ซึ่งการดำเนินดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากสถาบันวิจัยและพัฒนาการแพทย์ชนเผ่า สิบสองปันนา และสมาคมการแพทย์ชนเผ่าแห่งชาติจีน ด้วยคาดว่าผลการดำเนินการจะประสบความสำเร็จในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งจะทำให้ภูมิปัญญาพื้นบ้านของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนบนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกรูปแบบ ทั้งในแง่ของการเรียนการสอน ตำรา การป้องกันและรักษาโรค ฯลฯ ต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น