xs
xsm
sm
md
lg

ติวเข้มแปรรูปข้าว มันฯ อ้อย สร้างอาชีพเกษตรกรรับมือ ศก.ทรุด-ภัยแล้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายประพันธ์ มนทการติวงศ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจ.กาฬสินธุ์ วิทยากรจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตกาฬสินธุ์ เดินทางเข้าเยี่ยมชมการฝึกอาชีพการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ของกลุ่มสมาชิกนิคมสร้างตนเองกุฉินารายณ์ อ.ห้วยผึ้ง จ.กาฬสินธุ์
กาฬสินธุ์ -ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมกับสำนักงานเกษตรกรอำเภอห้วยผึ้งจัดโครงการฝึกอบรม หลักสูตรการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย หวังสร้างอาชีพและรายได้ให้กับเกษตรกร ในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และช่วงหน้าแล้ง พร้อมรองรับแรงงานคืนถิ่น

รายงานแจ้งว่า ที่นิคมสร้างตนเองกุฉินารายณ์ อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ นายประพันธ์ มนทการติวงศ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดกาฬสินธุ์ วิทยากรจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตกาฬสินธุ์ เดินทางเข้าเยี่ยมชมการฝึกอาชีพ โดยการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ของกลุ่มสมาชิกนิคมสร้างตนเองกุฉินารายณ์ ซึ่งเป็นโครงการที่สร้างอาชีพ และรายได้ให้กับเกษตรกรในช่วงสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและว่างเว้นจากการทำนา

นายประพันธ์ มนทการติวงศ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า จากวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำอยู่ขณะนี้ และช่วงหน้าแล้งว่างเว้นฤดูกาลทำนา การพัฒนาแรงงานกำลังคนให้มีอาชีพ การส่งเสริมให้แรงงานที่อยู่ในเมืองหลวง ทั้งคนที่ทำงานแล้ว และกำลังศึกษากลับคืนสู่ท้องถิ่น และไม่เคลื่อนย้ายเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงานก็ได้ร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนดำเนินการส่งเสริมให้เกษตรกร และประชาชนทั่วไปได้มีอาชีพ ในการเลี้ยงตัวเองและครอบครัว โดยยึดหลักการอยู่อย่างพอเพียง ใช้ชีวิตอย่างพอเพียงมาแล้วหลายโครงการ

นายประพันธ์ กล่าวต่อว่า การฝึกอบรมหลักสูตร การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรของกลุ่มสมาชิกนิคมสร้างตนเองกุฉินารายณ์ครั้งนี้ ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดกาฬสินธุ์ สำนักงานเกษตรอำเภอห้อยผึ้ง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตกาฬสินธุ์ได้ร่วมกันจัดขึ้น เพื่อสร้างองค์ความรู้ และเป็นการพัฒนารูปแบบการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร

รวมทั้งส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจการแปรรูป เพื่อที่จะนำไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพและรายได้ให้กับเกษตรกร ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำและช่วงหน้าแล้ง ซึ่งว่างเว้นการทำนา ทำสวน และเป็นการรองรับแรงงานกลับคืนสู่ท้องถิ่น

นายประพันธ์ กล่าวอีกว่า โดยการฝึกอบรมจะมีวิทยากรเข้ามาอบรมการทำข้าวฮาง การทำน้ำตาลจากอ้อย การแปรรูปมันสำปะหลัง เพื่อเป็นอาหารสัตว์ โดยเปิดการอบรม 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 16-20 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งภายหลังการอบรมเสร็จแล้วจะมีผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์นั้นด้วย แต่การแปรรูปยังขาดเครื่องไม้ เครื่องมืออยู่มาก

อย่างไรก็ตาม จากการเยี่ยมชมพบว่าโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ดีมาก ซึ่งหากมีการส่งเสริมอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง พร้อมทั้งประเมินผลจะสามารถสร้างอาชีพ และรายได้ให้กับเกษตรกรที่นี่ได้เป็นอย่างดี ดังนั้น จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ผู้บริหาร เพื่อที่ดำเนินการจะสนับสนุนและนำไปเป็นแบบอย่างในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น