xs
xsm
sm
md
lg

สกต.สุรินทร์ทำสัญญาซื้อขายข้าวหอมฯกับโรงสีส่วนพระองค์ 2,600 ตัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สกต.สุรินทร์ ทำสัญญาซื้อ-ขายส่งมอบข้าวเปลือกหอมมะลิ  กับ โรงสีโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา จำนวน 2,600 ตัน วันนี้ ( 12 ก.พ.)
สุรินทร์ - สกต.สุรินทร์ ทำสัญญาซื้อ-ขายส่งมอบข้าวเปลือกหอมมะลิ กับโรงสีโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา 2,600 ตัน ขณะที่ ธ.ก.ส.สุรินทร์ สนับสนุนการตั้งโรงเรียนเกษตรอินทรีย์ 23 แห่ง ในทุกอำเภอของสุรินทร์

วันนี้ (12 ก.พ.) ที่สำนักงานสหกรณ์การเกษตรเพื่อลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จังหวัดสุรินทร์ (สกต.สุรินทร์) บ้านจันรม ต.ตาอ็อง อ.เมือง จ.สุรินทร์ ได้มีพิธีลงนามทำสัญญาซื้อขายข้าวเปลือกหอมมะลิ ที่ปลูกในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ระหว่าง โรงสีโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา กับ สำนักงานสหกรณ์การเกษตรเพื่อลูกค้า ธ.ก.ส.จังหวัดสุรินทร์ (สกต.สุรินทร์) ขึ้น

โดยมี นายปราโมทย์ สัจจรักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์, นายเอ็นนู ชื่นสุวรรณ รองผู้จัดการ รักษาการแทนผู้จัดการ ธ.ก.ส., นางกอบกุล กาญจนาลัย, นายวิชัย วงศ์วานิช ผู้แทนโรงสีโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา และ นายบัวสิน คมกล้า ตัวแทนเกษตรกร ได้ร่วมลงนามทำสัญญาซื้อขายข้าวเปลือกหอมมะลิที่ปลูกในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ กับ โรงสีโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา จำนวน 2,600 ตัน ในราคาตันละ 15,000 บาท

พร้อมทั้งในโอกาสนี้ สกต.สุรินทร์ ยังได้ทูลเกล้าฯ ถวายข้าวเปลือกหอมมะลิ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 10 ตัน ซึ่งข้าวหอมมะลิที่ปลูกในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ เป็นข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพดี เมื่อนำมาสีจะได้ข้าวสารที่มีปริมาณกรัมข้าว มากกว่าข้าวเปลือกหอมมะลิ ที่ปลูกในพื้นที่อื่นๆ ซึ่งมีการทดสอบมาแล้วอย่างเป็นทางการ และการทำสัญญาซื้อขายข้าวเปลือกหอมมะลิในครั้งนี้ ทำให้เกษตรกรได้รับโอกาสมีทางเลือกในช่องทางจำหน่ายข้าวเปลือกหอมมะลิให้ได้ราคาสูงมากขึ้น

นางสาวมลิวัลย์ เย็นเสมอ ผู้จัดการ สกต.สุรินทร์ กล่าวว่า สกต.สุรินทร์ ได้ร่วมกับจังหวัดสุรินทร์ ในการสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ เพื่อให้ได้ข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพ ซึ่งในปี 2551 ที่ผ่านมา มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ จำนวน 84 ราย พื้นที่ทำนา 357 ไร่ ได้ผลผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไทย (มกท.) จำนวน 135 ตัน

นอกจากนั้น สกต.สุรินทร์ ยังได้รับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิจากเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. รวม 26,000 ตัน และขายต่อให้กับโรงสีในเขต จ.สุรินทร์ และจังหวัดใกล้เคียง พร้อมยังได้แปรรูปข้าวหอมมะลิส่งจำหน่ายไปยังตลาดต่างๆ ทั่วประเทศ

ด้าน นายนิยม รัตนใจเย็น ผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า ธ.ก.ส.สุรินทร์ ได้สนับสนุนให้จัดตั้งโรงเรียนเกษตรอินทรีย์ ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์มาอย่างต่อเนื่อง ในทุกอำเภอ เพื่อให้เกษตรกรปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ปลอดสารพิษ มีต้นทุนการผลิตต่ำและขายได้ราคาสูง ขณะนี้มีโรงเรียนเกษตรอินทรีย์ 23 แห่ง ใน 17 อำเภอของ จ.สุรินทร์







กำลังโหลดความคิดเห็น