xs
xsm
sm
md
lg

กาฬสินธุ์พัฒนาพืชพลังงานทดแทน เน้นส่งเสริมเกษตรกรปลูกมันสำปะหลัง-อ้อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายเดชา ตันติยวรงค์ ผู้ว่าฯกาฬสินธุ์ เป็นประธานการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินโครงการส่งเสริมการผลิตพืชพลังงานทดแทน จังหวัดกาฬสินธุ์ ปี 2552
กาฬสินธุ์-จังหวัดกาฬสินธุ์ เน้นปรับปรุงระบบการเพาะปลูก มันสำปะหลัง อ้อย และข้าว ด้วยการนำแนวทางเกษตรอินทรีย์ส่งเสริมให้เกิดผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น เพื่อส่งเสริมการผลิตพืชพลังงานทดแทนที่มีประสิทธิภาพ

เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้( 13 ม.ค.) ที่หอประชุมธรรมาภิบาลเทศบาล เมืองกาฬสินธุ์ นายเดชา ตันติยวรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประธานการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินโครงการส่งเสริมการผลิตพืชพลังงานทดแทน จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาพืชพลังทดแทน ซึ่งจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้นำเอา มันสำปะหลัง อ้อย และข้าว ที่เป็นพืชที่เพาะปลูกมากที่สุดในภาคอีสาน มาเข้าแผนปรังปรุงระบบการเพาะปลูก ด้วยแนวทางเกษตรอินทรีย์ให้เกิดผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น

นายเดชา ตันติยวรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ด้วยพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นพื้นที่เกษตรกรรมและมีพืชเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ ข้าว อ้อย และมันสำปะหลัง โดยพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังที่มากถึง 355,925 ไร่ พื้นที่ปลูกอ้อยโรงงาน 443,751 ไร่ ทั้งนี้ยังพบว่า เกษตรกรจะประสบปัญหาขาดทุน เพราะเกณฑ์ผลผลิตที่ออกมาต่อไร่ยังต่ำไม่คุ้มต่อการลงทุน

ผลจากการทดลองเพิ่มผลผลิต ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เน้นเป็นฐานการผลิตอาหารและพืชพลังงานทดแทนของประเทศ พบว่า หากเกษตรกรทำการปรับปรุงแนวทางการระบบทางผลิตด้วยการนำแนวทางเกษตรอินทรีย์เข้ามาปรับใช้จะทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งในขณะนี้ จังหวัดกาฬสินธุ์ได้ร่วมกับหน่วยงานด้านการเกษตรจะส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานทดแทน เพื่อให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น

โดยเฉพาะมันสำปะหลัง จากเดิมผลผลิตเคยได้เพียง 3 ตันต่อไร่ จะมีการส่งเสริมเป็น 10 ตันต่อไร่ ส่วนอ้อยจากเดิมได้ผลผลิตประมาณ 9 ตันต่อไร่ จะส่งเสริมเป็น 15 ตันต่อไร่

ดังนั้น ในปีนี้ จังหวัดจึงได้จัดแผนบูรณาการ ให้สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินโครงการส่งเสริมการผลิตพืชพลังงานทดแทน ปี 2552 ด้วยการปรับปรุงคุณภาพดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์ โดยจะมีการนำร่องกับเครือข่ายเกษตรกรไร่มันสำปะหลังจำนวน 300 ราย คาดว่า หลังจากนี้จะมีการขยายระบบการปรับปรุงเพิ่มผลผลิต ที่ยังจะสามารถเพิ่มปริมาณพลังงานทดแทนจากพืช และการร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น