xs
xsm
sm
md
lg

ร้อง มท.3 ถูกการเคหะฯไล่พ้น “บ้านเอื้ออาทร” ถูกบีบซื้อคืนเพื่อขายต่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวขอนแก่น- ร้อง รมช.มหาดไทยถูกการเคหะฯไล่ออกจากบ้านเอื้ออาทร เหตุเพราะจ่ายค่างวดไม่ครบ ด้านผู้ว่าฯขอนแก่นเรียกตัวแทนการเคหะฯ และแบงก์ออมสินขอนแก่น ชี้แจง หลังชาวชุมชนบ้านเอื้ออาทรขอนแก่น ร้องถูกยึดบ้าน แนะการเคหะฯต้องใช้หลักเมตตาธรรม เอื้ออาทรคนยากจน อย่ายึดและอย่ายกเลิกสัญญาให้ชาวบ้านต้องไร้ที่อยู่อาศัย

“บ้านเอื้ออาทร” ของการเคหะแห่งชาติ ภายใต้นโยบายของรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเช่าซื้อมีบ้านเป็นของตนเองนั้นมีปัญหาหมักหมมมาโดยตลอด กลายเป็นโครงการที่นักการเมือง ข้าราชการประจำ อาศัยหาผลประโยชน์จากทุกกระบวนการของโครงการเข้ากระเป๋าของตน นับตั้งแต่การฮั้วประมูลรับเหมาก่อสร้างให้พรรคพวกตนเอง วัสดุก่อสร้างที่ใช้สร้างบ้านแต่ละโครงการคุณภาพต่ำ

นอกจากที่ กลุ่มผู้มีรายได้น้อยเช่าซื้อมาแล้วต้องผ่อนชำระจริงในอัตราที่สูงกว่าเงื่อนไขข้อตกลง เมื่อบวกลบคุณหารผ่อนทั้งจนสิ้นสุดสัญญากลับพบว่า ราคาบ้านที่พักอาศัยนั้น มีมูลค่าไม่ต่างจากโครงการบ้านจัดสรรเอกสารทั่วไป ซ้ำร้ายไปกว่านั้น เมื่อผู้เช่าซื้อผ่อนชำระไม่ครบตามจำนวนเงินค่างวดก็ถูกตามทวงหนี้ไม่ต่างจากแบงก์พาณิชย์ทั่วไป ผู้เช่าซื้อจำนวนไม่น้อยถูกยึดบ้านและนำไปขายต่อทันที ดังจะเห็นว่าโครงการบ้านเอื้ออาทรทุกแห่งจะมีบ้านให้เช่ารายเดือนอยู่มาก ผู้เช่ามีทั้งคนทำงาน-นักเรียน นักศึกษา

ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2552 นางพันธุ์พิศ เล็กเลิศรัตน์ พร้อมเพื่อนบ้านชุมชนบ้านเอื้ออาทรขอนแก่น ต.เมืองเก่า ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากการเลือกปฏิบัติของการเคหะฯขอนแก่น ต่อนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ขณะปฏิบัติภารกิจเปิดงานนวัตกรรมท้องถิ่นไทยที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งนายถาวรได้รับหนังสือร้องเรียนไว้พร้อมกับมอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นรับไปดำเนินการแก้ปัญหาให้
นายถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย รับหนังสือร้องทุกข์จากชาวชุมชนบ้านเอื้ออาทร (เมืองเก่า)จ.ขอนแก่น
ต่อมาในเวลา 16.30 น.วันเดียวกัน นายมานิต วัฒนเสน ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ได้ประสานตัวแทนการเคหะขอนแก่นและธนาคารออมสิน เข้าชี้แจงต่อเรื่องดังกล่าว พร้อมรับฟังความเดือดร้อนของชาวบ้านผู้ร้องเรียน

นางพันธุ์พิศ เล่าว่ามีผู้เดือดร้อนกรณีเดียวกับตนอีกหลายราย แต่ไม่กล้าร้องเรียน ทำให้ต้องสูญเสียบ้านไป แต่ตนและเพื่อนบ้านที่มาร้องเรียนทั้ง 3 รายครั้งนี้ ต่างรักและผูกพันกับบ้านที่อยู่อาศัยมากว่า 2 ปี 3 เดือน ซึ่งทุกคนต่างต้องหาเช้ากินค่ำ เพื่อหาเงินจ่าย ค่างวด โดยยอมรับว่า จะค้างจ่าย 1-2 เดือนหลายครั้ง โดยนำเงินไปหมุนเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว ซึ่งตามสัญญาหากค้างชำระ 3 งวด จะถูกยกเลิกสัญญา ดังนั้นจะต้องเร่งหาเงินมาจ่ายธนาคารก่อนถึงวันครบกำหนดชำระงวดที่ 3 ทุกครั้ง

นางพันธุ์พิศ เปิดเผยอีกว่ากรณีของตนคล้ายกับ นายพันวรรษา ถิรธนากร โดยช่วงเดือนกันยายน 2551 ตนได้นำเงินไปจ่ายเพื่อชำระที่ค้างงวด 1 และ 2 แต่ธนาคารอ้างว่าไม่สามารถรับชำระได้แล้ว ให้รอการการชี้แจงรายละเอียด จนกระทั่งเลยเวลาชำระงวดที่ 3 เมื่อกลับมาติดต่อทางธนาคารออมสินกลับอ้างว่าการเคหะฯซื้อบ้านคืนไปแล้ว แม้ตนยังไม่ย้ายออกจากบ้านก็ต้องจ่ายค่าปรับให้ทางการเคหะฯเป็นเงินวันละ 100 บาท

ขณะที่กรณีนางลัดดา บุญเพ็ชร เป็นอีกรายที่ถูกยึดบ้าน จากกรณีไปชำระเงินที่ค้างจ่าย 3 งวดพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งมียอดชำระราว 10,000 บาทเศษ แต่ขณะนั้นมีเงินเพียง 8,000 บาท จึงขอชำระจำนวน 8,000 บาทก่อนเนื่องจากครบกำหนดชำระงวดที่ 3 ซึ่งตรงกับวันศุกร์ โดยนางลัดดาบอกเจ้าหน้าที่ว่าจะหาเงินมาชำระเพิ่มจนครบในวันจันทร์ แต่ทางธนาคารปฏิเสธไม่รับชำระ อ้างต้องทำตามกฎระเบียบธนาคาร เมื่อชำระไม่ครบจึงส่งเรื่องให้ทางการเคหะ จนกระทั่งมีการซื้อคืนบ้านของ นางลัดดา ไปเช่นกัน


ผู้เสียหายได้ทำหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดขอนแก่นแล้วตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2551 แต่เรื่องเงียบไป ผู้เดือดร้อนต้องชำระค่าปรับให้กับการเคหะขอนแก่นวันละ 100 บาท เป็นเดือนละ 3,000 บาท ทั้งที่อยู่อาศัยในบ้านของตนเอง พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดการเคหะจึงเร่งซื้อคืนบ้าน โดยไม่นัดพูดคุยก่อน ขณะเดียวกันยังมีบ้านหลายหลังที่ทำการยึดคืนแล้ว และกลายเป็นบ้านเช่าไปโดยไม่รู้ว่าเจ้าของเป็นกลุ่มนายทุนหรือไม่

ด้าน ผู้แทนธนาคารออมสิน และนายชาญณรงค์ บุญพร้อม หัวหน้าสำนักงานเคหะชุมชนขอนแก่น ชี้แจงว่าทุกอย่างเป็นไปตามกฎระเบียบและข้อสัญญา ทั้งนี้นายมานิต วัฒนเสน ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่ากรณีนี้เป็นบ้านเอื้ออาทร ไม่ใช่เอกชน กับเอกชน ที่จะกระทำต่อกันตามกฎระเบียบทุกบรรทัดเท่านั้น เพราะบ้านเป็นที่อยู่อาศัย และเป็นความผูกพันเป็นที่พักกายพักใจของมนุษย์
หนึ่งในบรรดาผู้เช่าซื้อบ้านเอื้ออาทรที่ได้รับความเดือดร้อน ถูกไล่ออกจากบ้านเพราะผ่อนชำระค่างวดไม่ครบ
จึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะยึดหลักการอย่างเดียว โดยขาดคุณธรรม มนุษยธรรม ทั้งที่โครงการที่ก่อเกิดขึ้น มุ่งหวังให้เกิดความเอื้ออาทรต่อกัน และบ้านเอื้ออาทรก็ต้องเป็นที่พึ่งของคนจน

ดังนั้น จึงอยากขอให้การเคหะฯขอนแก่นเร่งหาทางออกด้วยการประนีประนอม ใช้หลักเมตตาธรรม ควรพูดคุยกัน ให้สามารถผ่อนต่อกันได้ และอย่ายึดบ้าน อย่ายกเลิกสัญญา ให้ชาวบ้านต้องไร้ที่อยู่อาศัย เด็ดขาด

โดยทางด้านหัวหน้าสำนักงานเคหะฯขอนแก่น กล่าวว่า กรณีนี้ไม่สามารถตัดสินใจได้เองต้องเสนอเรื่องไปยังสำนักงานการเคหะแห่งชาติ ส่วนกรณีค่าปรับวันละ 100 บาท สามารถผ่อนผันกันได้

ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า จังหวัดจะติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหานี้อย่างใกล้ชิดต่อไป

การเคหะฯโหด รีดเลือดจากปู
“ไม่เอื้ออาทร” ทั้งที่เป็นบ้านเอื้ออาทร


นางลัดดา บุญเพ็ชร เจ้าของบ้านเลขที่ 135/43 ในโครงการบ้านเอื้ออาทร ต.เมืองเก่า เปิดเผยว่า ตอนนี้เดือดร้อนเป็นอย่างมาก หากถูกไล่ออกจากบ้านยังไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน มีอาชีพรับจ้าง รายได้ไม่มากพอที่จะไปเช่าบ้านใครอยู่ ลูกกำลังเรียนหนังสืออยู่ชั้นประถมต้น 2 คน อยากให้การเคหะฯเห็นใจ ตนไม่มีเงินจริงๆ แต่ละเดือนก็พยายามเก็บเงินจ่ายค่างวด บางงวดก็ครบบางงวดก็ขาดบ้างก็น่าจะให้โอกาสหาเงินมาผ่อนชำระทีหลัง ดอกเบี้ยปรับจะคิดเท่าไหร่ก็ยอมหมด เพราะต้องการพักอาศัยบ้านหลังนี้ต่อ

นางลัดดา เล่าว่า บ้านหลังดังกล่าวตนทำสัญญาซื้อกับการเคหะแห่งชาติเมื่อเดือน ธันวาคม 2547 จ่ายเงินมัดจำ 3,600 บาท เข้าอยู่เมื่อกรกฎาคม 2549 ได้กู้เงินจากแบงก์ออมสินสาขาศรีจันทร์ ขอนแก่นเพื่อชำระเป็นค่าบ้านเป็นเงินรวม386,400 บาท โดยการเคหะแห่งชาติเป็นผู้รับเงินทั้งหมด รวมเวลาที่ตนผ่อนชำระกับแบงก์ออมสินมาแล้วเป็นเวลา 2 ปี 3 เดือน ในช่วงแรกๆครอบครัวของตนสามารถผ่อนกับธนาคารได้อย่างไม่มีปัญหา แต่ระยะหลังภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัวมีมากขึ้น ทั้งค่าอยู่ค่ากิน ค่าเล่าเรียนลูกชาย-ลูกสาว

ภาระค่าใช้จ่ายที่ชักหน้าไม่ถึงหลังจากรายได้รับจ้างทั่วไปทั้งผัวทั้งเมีย ลัดดาจึงมีปัญหาไม่สามารถผ่อนชำระค่างวดได้ตามกำหนด เธอยอมแบกรับภาระดอกเบี้ยค้างจ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมดเพียงเพราะต้องการให้ทุกชีวิตในครอบครัวอยู่ได้ กระนั้นก็ตามเมื่อค่างวดค้างชำระใกล้จะครบ 3 เดือน เธอก็จะรวบรวมเงินที่เก็บออมไว้ทั้งหมด ไม่พอก็หาหยิบยืมเพิ่มไปจ่ายให้กับแบงก์ อย่างน้อยตัดยอดชำระสักงวดสองงวดก็ยังดี เพราะหากติดค้างครบ 3 เดือน นางลัดดา รู้อยู่เต็มอกว่าผิดสัญญาซื้อ จะถูกยึดบ้าน

ล่าสุด เมื่อเร็วๆ นี้ ก่อนที่เธอจะถูกยึดบ้าน วันที่ 22 มกราคม 2552 เวลา 11.03.31 น.นางลัดดา เล่าว่า ได้ถือเงินจำนวน 8,000 บาท ไปมอบให้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อ แบงก์ออมสิน ชื่อนายพิพจ ศรีชาลี เพื่อตัดยอดหนี้ค้างจ่าย ซึ่งยอดรวมอยู่ที่หมื่นเศษๆ แต่เจ้าหน้าที่รายนี้ไม่รับชำระ และแจ้งกับนางลัดดา ว่า ให้กลับไปยังสำนักงานการเคหะฯเพื่อขอหนังสืออนุญาตส่งเงินค่างวดบ้าน ตนจึงไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่การเคหะฯชื่อ น.ส.นภาลัย เชียวศิริกุล

วันที่ 23 มกราคม 2552 เวลา 11.59.1 น.นางลัดดาได้ถือหนังสืออนุญาตในการชำระเงินจากการเคหะฯพร้อมเงิน 8,000 บาท ไปแบงก์ออมสิน พบกับ นายพิพจ เจ้าหน้าที่สินเชื่อรายเดิม แต่นายพิพจไม่รับชำระเงิน อ้างว่า รับชำระไม่ได้ เพราะเงินไม่ครบตามยอดหนี้ที่ค้างจ่าย พร้อมบอกให้กลับไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่การเคหะฯขอนแก่นใหม่ ตนจึงย้อนกลับไปพบกับ น.ส.นภาลัย ที่สำนักงานการเคหะฯอีกครั้ง เมื่อไปถึงได้รับคำตอบว่า “หมดเวลาชำระเงินแล้วเพราะวันจันทร์ที่ 26 ม.ค.2552 ทางธนาคารออมสินกับการเคหะฯเขาจะโยนเช็คกันแล้ว โดยการเคหะฯจะซื้อบ้านหลังนี้ คืนจากแบงก์ออมสิน”

นางลัดดา เล่าว่า เมื่อได้ยินคำที่เจ้าหน้าที่การเคหะฯบอก เธอถึงกับเข่าอ่อน ร้องไห้ออกมาโดยไม่รู้ตัว แต่เธอก็ยังเชื่อว่าชีวิตคงไม่ตกอับถึงกับถูกยึดบ้านง่ายๆ ธนาคารคงจะเห็นใจเพราะบ้านที่เธออยู่เป็นบ้านเอื้ออาทร เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการช่วยให้คนยากไร้มีบ้านเป็นของตนเอง และเธอก็ไม่เคยคิดที่จะไม่จ่าย มีเท่าไหร่ก็จะจ่ายให้ครบ มีไม่ครบก็ขอทยอยจ่าย ไม่หนีไปไหน

ต่อมา วันจันทร์ที่ 26 มกราคม 2552 เวลา 13.00 น.เธอพร้อมกับสามี นายราเชนทร์ บุญเพ็ชร ได้นำเงินพร้อมเอกสารไปขอชำระเงินที่แบงก์ออกสินอีก แต่กลับได้รับการปฏิเสธ โดยเจ้าหน้าที่คนเดิม นายพิพจ บอกว่า การเคหะฯได้ซื้อคืนบ้านเลขที่ 135/43 ของนางลัดดา บุญเพ็ชร ซึ่งการเคหะฯได้จ่ายเช็คค่าบ้านให้แก่แบงก์มาแล้วในวันที่ 26 มกราคม 2552 พร้อมกับแนะให้เจ้าของบ้านกลับไปติดต่อกับสำนักงานการเคหะฯขอนแก่นเอง เมื่อติดต่อกับการเคหะฯอีกครั้งก็ได้รับการยืนยันว่าบ้านของตน ทางการเคหะฯได้ซื้อคืนจากแบงก์เสร็จเรียบร้อย แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่สำนักงานการเคหะฯขอนแก่น ยังบอกอีกว่า หากอยากได้บ้านคืนให้หาคนอื่นมาซื้อแทนแล้วจะเก็บบ้านไว้ให้ ด้วยการทำสัญญาเริ่มต้นผ่อนชำระภายใต้เงื่อนไขใหม่ทั้งหมด

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับครอบครัวฉันต้องเดือดร้อน เสียใจที่ต้องถูกยึดบ้านทั้งที่อยู่มากว่า 2 ปี หาเงินมาได้เท่าไหร่ก็เก็บออมไว้ผ่อนจ่ายให้แบงก์ บางงวดก็ไม่ครบก็ยังหาหยิบยืมจากเพื่อนบ้านและญาติๆไปจ่าย เราไม่ได้โกงเพียงแต่เกิดมาจนเท่านั้น อยากจะขอความเห็นใจจากการเคหะฯขอนแก่นและแบงก์ออมสินช่วยผ่อนปรนให้บ้าง”นางลัดดา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น