บุรีรัมย์ - กลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยบุรีรัมย์ และชาวบ้าน 6 อำเภอ กว่า 290 คน บุกยื่นหนังสือ อบต.คัดค้านไม่ให้อนุมัติต่อสัญญาให้กลุ่มทุน หรือบริษัทเอกชน เช่าพื้นที่ป่าสงวนดงใหญ่ พร้อมเรียกร้องให้รัฐพิจารณาให้กลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติ และชาวบ้านที่ไร้ที่ทำกินเข้าไปเช่าทำกินเลี้ยงชีพและครอบครัวแทน
วันนี้ (3 ก.พ.) กลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย หรือ อดีตสหาย ที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ พร้อมด้วยชาวบ้านที่ไม่มีที่ทำกินจาก 6 อำเภอ ประกอบด้วย อ.โนนดินแดง อ.หนองกี่ อ.หนองหงส์ อ.ประโคนชัย อ.สตึก และ อ.โนนสุวรรณ จ.บุรีรัมย์ กว่า 290 คน นำโดย นายสุพล หมื่นศรีพรม แกนนำกลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ได้ร่วมกันเข้ายื่นหนังสือที่ผ่านการทำประชาคมยืนยันจากหมู่บ้านที่ไม่มีที่ดินทำกิน ต่อ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ลำนางรอง อ.โนนดินแดง
ทั้งนี้ เพื่อคัดค้านไม่ให้ อบต.และรัฐบาลอนุมัติให้กลุ่มนายทุน หรือบริษัทเอกชน ต่อสัญญาเช่าพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่เพื่อปลูกป่ายูคาลิปตัส ที่จะหมดสัญญาเช่าในวันที่ 25 มกราคม 2552 และวันที่ 5, 6 พฤษภาคม 2552 จำนวน 3 แปลง รวมกว่า 3,950 ไร่ จากพื้นที่ป่าที่ให้กลุ่มทุนเช่าเมื่อปี 2527 ต่อมาเมื่อปี 2531 ทางรัฐบาลได้ให้บริษัทเอกชน 7 บริษัทสัมปทาน รวมทั้งหมดจำนวน 9 แปลง พื้นที่กว่า 23,700 ไร่ ตามนโยบายของรัฐบาลที่จะใช้เป็นป่ากันชนป้องกันการบุกรุกของชาวบ้าน
พร้อมทั้งได้เรียกร้องให้พิจารณาอนุมัติให้ชาวบ้านที่ไม่มีที่ทำกิน ได้เข้าไปเช่าพื้นที่ป่าดังกล่าวทำประโยชน์ในการทำการเกษตรเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน และลดปัญหาการไร้ที่ดินทำกินตามนโยบายของรัฐบาล โดยมีเงื่อนไขสัญญาไม่แตกต่างจากกลุ่มทุน หรือบริษัทที่เข้าไปเช่าทำประโยชน์ ซึ่งเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น
นายสุพล หมื่นศรีพรม อดีตสหาย และแกนนำกลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า เมื่อครั้งรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มีนโยบาย 66/23 ต้องการยุติสงครามประชาชน ให้กลุ่มอดีต ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) ออกจากป่าและมาร่วมพัฒนาชาติชาติ พร้อมให้พันธะสัญญาว่า จะช่วยเหลือจัดสรรที่ดินทำกินและสนับสนุนทุนในการประกอบอาชีพให้ ซึ่งบางส่วนได้รับความช่วยเหลือไปแล้ว แต่กลุ่มที่มายื่นหนังสือเรียกร้องครั้งนี้ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ
จึงต้องการทวงสัญญาและขอให้รัฐบาล หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ ยกเลิกต่อสัญญาสัมปทานให้กับกลุ่มนายทุน และพิจารณาให้ความช่วยเหลือกับกลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย และชาวบ้านได้เข้าไปเช่าพื้นที่ป่าดังกล่าวเพื่อทำกินเลี้ยงชีพและครอบครัว โดยมีสิทธิเท่ากับกลุ่มทุน หรือบริษัทเอกชนที่มาเช่าทำประโยชน์
นายสุพล กล่าวอีกว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน ที่ผ่านมาชาวบ้านเคยร่วมกันต่อสู้เรียกร้องมาแล้วหลายครั้ง แต่กลับไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกยื้อมาตลอดระยะเวลาหลายปี แต่หากการยื่นหนังสือเรียกร้องครั้งนี้ไม่เป็นผล ทางภาครัฐยังมีการเอื้อประโยชน์ต่อสัญญาสัมปทานพื้นที่ป่าดังกล่าวให้กับกลุ่มนายทุน หรือบริษัทเอกชน กลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย และชาวบ้านที่ไร้ที่ทำกินดังกล่าวก็จะรวมตัวกันเคลื่อนไหวเรียกร้องอย่างถึงที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ต่อมา นายสมนึก ปัดชา เลขาธิการนายกองค์การบริหารส่วนตำบลลำนางรอง ได้เป็นตัวแทนมารับหนังสือร้องจากชาวบ้าน พร้อมรับปากว่า จะได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอ นายก อบต.นางรอง นำเข้าขอความเห็นชอบจากที่ประชุมสภา อบต.ก่อนส่งเรื่องให้รัฐบาล และหน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้ดำเนินการตามขั้นตอน และพิจารณาตามที่ชาวบ้านได้มายื่นหนังสือเรียกร้องต่อไป
ส่วนทาง อบต.นางรอง ก็จะมีการกลั่นกรองคุณสมบัติของผู้ที่มาลงชื่อ เพื่อขอเช่าพื้นที่ป่าทำกินว่า เป็นผู้ที่ไม่มีที่ทำกินจริงหรือไม่ เพราะเกรงว่าจะตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มนายทุนที่ต้องการเข้าไปครอบครองพื้นที่ป่า ก่อนที่จะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป